xs
xsm
sm
md
lg

อันดามันพร้อมแค่ไหน! หากต้องรับมือสึนามิรอบใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เหตุการณ์สึนามิถล่มอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,400 คน ไม่ได้แตกต่างจากเหตุการณ์สึนามิซัดถล่มชายฝั่งอันดามัน เมื่อปี 2547 มีผู้เสียชีวิตกว่า 5 พันคน ถือเป็นโศกนาฏกรรมที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในฝั่งอันดามัน เนื่องจากที่ประเทศไทยในขณะนั้นไม่มีระบบเตือนภัย และไม่มีความรู้ความเข้าใจถึงภัยสึนามิ

เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันมาให้ความสำคัญเรื่องระบบการเตือนภัยมากขึ้น โดยเฉพาะในฝั่งทะเลอันดามัน มีการติดตั้งระบบเตือนภัย ซึ่งประกอบไปด้วยฐานเก็บบันทึกข้อมูลใต้ทะเลลึก ทุ่นลอยส่งสัญญาณผิวทะเล 2 แห่ง ตัวแรกอยู่ห่างจากเกาะภูเก็ต ประมาณ 1,000 กม. ตัวที่ 2 อยู่ห่างจากเกาะภูเก็ต ประมาณ 300 กม และมีการใช้คอมพิวเตอร์จำลองรูปแบบเพื่อทำนายแนวโน้มการเกิดคลื่นสึนามิจากข้อมูลที่ได้มา แจ้งให้ศูนย์เตือนภัยตามชายฝั่งทะเลต่างๆ ทราบ เพื่อส่งสัญญาณเตือนภัยให้ประชาชนในท้องถิ่นเตรียมตัวอพยพหนีภัยได้ทันเวลา

โดยศูนย์เตือนภัยที่ตั้งอยู่ตามแนวชายฝั่งอันดามันทั้ง 5 จังหวัด จะส่งสัญญาณเตือนประชาชน 5 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ เยอรมัน จีน และญี่ปุ่น เพื่อให้อพยพประชาชน และนักท่องเที่ยวไปตามเส้นทางหนีภัยที่กำหนดไว้ ซึ่งมีการทำป้ายบอกทางจากชายหาดไปยังจุดที่ปลอดภัย

ระบบการเตือนภัย และอพยพหนีภัยได้ดำเนินการครอบคลุมทุกพื้นที่ที่อยู่ริมชายฝั่งทะเลอันดามัน 6 จังหวัด หลังเกิดสึนามิ และได้มีการทดสอบการส่งสัญญาณเตือนภัยมายังหอเตือนภัยทุกวันพุธ ในเวลา 08.00 น. มีการติดตั้งป้ายหนีภัยไปตามเส้นทางที่กำหนด มีการซ้อมการอพยพหนีภัยอย่างต่อเนื่อง

เมื่อเวลาล่วงเลยมากว่า 14 ปี ระบบต่างๆ ก็เกิดการชำรุด โดยเฉพาะหอเตือนภัยที่มีการทดสอบทุกวันพุธ พบว่า บางหอการส่งสัญญาณเสียงเบาบ้าง เสียงขาดหายเป็นช่วงๆ บ้าง รวมไปถึงป้ายเตือนภัย เส้นทางหนีภัย เกิดการชำรุดไปตามกาลเวลา

เหตุการณ์สึนามิถล่มอินโดนีเชียในครั้งนี้ ทำให้ประเทศไทยเราต้องหันกลับมามองความพร้อมของระบบเตือนภัยและอพยพหนีภัยหากแผ่นดินไหว และสึนามิว่ามีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน สามารถที่จะรับมือกับมหันตภัยร้ายสึนามิได้หรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียชีวิตของประชาชน และนักท่องเที่ยวเหมือนเมื่อปี 2547 ที่ผ่านมา

หอเตือนภัยเสียงเบา-ป้ายบอกทางหนีสึนามิชำรุด

จากการลงพื้นที่สำรวจตามชายหาดต่างๆ โดยเฉพาะหาดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของภูเก็ต และชุมชนที่อยู่ติดริมทะเล พบว่า หอเตือนภัยยังมีครบทั้งหมด กระจายอยู่ตามจุดต่างๆ และจากการสอบถามชาวบ้าน ผู้ประกอบการในพื้นที่ พบว่า การทดสอบระบบเตือนภัยทุกเช้าวันพุธในเวลา 08.00 น.นั้น หอเตือนภัยยังสามารถใช้งานได้ตามปกติ มีบ้างบางจุดที่สัญญาณเสียงอาจจะเบา และขาดหายเป็นช่วงๆ เช่น ที่หอเตือนภัยบ้านกมลา จ.ภูเก็ต ที่เกาะพีพี จ.กระบี่ เป็นต้น

นอกจากนี้ ในส่วนของป้ายหนีภัยสึนามินั้น พบว่า หลายพื้นที่อยู่ในสภาพที่ชำรุด และพบว่าแต่ละป้ายนั้นอยู่ห่างกันเกินไป รวมทั้งข้อความในป้ายหนีภัยสึนามิมองเห็นไม่ชัดเจน ไม่มีการระบุจุดหมายปลายทางที่ชัดเจน บอกเพียงระยะ 1-2 กิโลเมตรเท่านั้น แต่ไม่บอกว่าจุดที่จะไปนั้นคืออะไร

ปัญหาทั้งหมดนี้สอดคล้องต่อเสียงสะท้อนของประชาชน และผู้ประกอบการในพื้นที่เสี่ยงภัยสึนามิ นายอิทธิพร สังข์แก้ว รองนายกเทศมนตรีตำบลกะรน จ.ภูเก็ต ระบุว่า ในพื้นที่หาดกะรน ซึ่งเป็นชายหาดที่มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยว และเป็นหาดหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นสึนามิเมื่อปี 2547 มีหอเตือนภัยสึนามิทั้งหมด 3 หอ ตอนนี้ใช้งานได้ปกติ แต่ที่บริเวณหาดกะตะน้อยกำลังได้ผลกระทบในส่วนของโครงสร้างเนื่องจากถูกน้ำทะเลกัดเซาะเข้าไปถึงฐาน ทางเทศบาลได้ตั้งงบประมาณปรับปรุงพื้นที่แล้ว

“หอเตือนภัยที่มีอยู่ 3 จุดนั้น คิดว่าไม่เพียงพอ โดยเฉพาะบริเวณหาดกะรน ที่มีความยาวถึง 3 กิโลเมตร แต่มีเพียง 1 จุดเท่านั้น เรื่องนี้ทางเทศบาลได้ประสานไปยัง ปภ.ขอติดตั้งหอเตือนภัยเพิ่มอีก 1 จุด ล่าสุด ทราบว่าได้รับงบประมาณสนับสนุนแล้ว แต่จนถึงขณะยังไม่ได้มีการดำเนินการอะไรเลย จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุดเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน และนักท่องเที่ยว” นายอิทธิพร กล่าวและว่า

“ถ้าพูดถึงความพร้อม เรามั่นใจว่าพร้อมหากเกิดสึนามิขึ้นอีกครั้ง แม้ว่าป้ายบอกทางหนีภัยจะชำรุดไปบ้าง แต่ก็ยังมีให้เห็น ประกอบกับที่ผ่านมา ได้มีการซ้อมอพยพหนีภัยสึนามิอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี ล่าสุด ได้ซ้อมไปเมื่อกลางปีนี้ จึงมั่นใจในระบบและการตื่นตัวของชาวบ้าน” นายอิทธิพร กล่าวในที่สุด

ขณะที่ผู้ประกอบการร่มเตียงที่หาดกมลารายหนึ่ง บอกว่า ถ้าอยู่บริเวณใกล้หอเตือนภัยจะได้ยินเสียงสัญญาณเตือนชัดเจน แต่หากอยู่ห่างออกไปก็จะได้ยินเสียงที่เบามากๆ ทำให้ในส่วนชาวบ้านเองยังไม่มีความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยหากเกิดสึนามิขึ้นจริงๆ อีกครั้ง จึงอยากให้มีการปรับปรุงในเรื่องของการส่งสัญญาณเตือนภัยให้ได้ยิน 2-3 กิโลเมตร เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงภัย และในส่วนของป้ายหนีภัยสึนามินั้นอยากจะให้เพิ่มความถี่ในการติดป้ายมากกว่านี้

นายนิรุจน์ สาริยา ฝ่ายข้อมูลและประชาสัมพันธ์ ศูนย์เฝ้าระวังภัยกมลา (ศรภ.กมลา) บอกว่า เสียงสัญญาณเตือนที่กมลาเสียงค่อนข้างที่จะเบา ได้ยินไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่เสี่ยงภัย ป้ายบอกทางหนีภัยก็เกิดการชำรุดไปบ้างแล้ว นอกจากหอเตือนภัยแล้ว ยังมีอุปกรณ์อื่นๆ ที่สามารถถ่ายทอดสัญญานเตือนภัยไปยังอุปกรณ์ต่างๆ ตาม อบต. โรงเรียน สถานีตำรวจ ได้แก่ เครื่องรับสัญญาณผ่านดาวเทียม EVAC เครื่องถ่ายทอดสัญญาณไปยังหอกระจายข่าว CSC และเครื่องถ่ายทอดสัญญาณเตือนภัยในท้องถิ่น TAR900 รวมถึงการกำหนดเส้นทางหนีภัยขึ้นมาใหม่อีก 5 เส้นทางเพื่อความปลอดภัยสูงสุด

ส่วนที่หาดป่าตองนั้น นายสมประสงค์ แสงชาติ หัวหน้าไลฟ์การ์ดหาดป่าตอง ระบุว่า สัญญาณเตือนภัยที่หาดป่าตองมีทั้งหมด 3 จุด เท่าที่มีการทดสอบพบว่าเสียงสัญณาณเตือนภัยดังปกติ แต่หากขึ้นไปบริเวณในที่ห่างจากชายหาดซึ่งเป็นแหล่งชุมชน ที่มีทั้งโรงแรม ร้านค้า เสียงจะเบา บางครั้งไม่ได้ยินเสียงเตือน จึงอยากให้เพิ่มระบบเสียงให้ดังกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ส่วนป้ายหนีภัยสึนามินั้น เท่าที่มีการสำรวจพบว่ามีบ้างที่ชำรุดเนื่องจากใช้มาเป็นเวลากว่า 10 ปี ประกอบกับไม่ได้มีการบำรุงรักษาหรือซ่อมแซม ซึ่งป้ายบอกเส้นทางหนีภัยถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะป่าตองไม่ได้มีเฉพาะคนพื้นที่เท่านั้น แต่จะมีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางเข้ามา หากเกิดสึนามิรอบใหม่เกรงว่านักท่องเที่ยวจะไม่ทราบถึงเส้นทางหนีภัย แต่ถ้าเป็นคนในพื้นที่จะรู้ว่าจะหนีไปในเส้นทางใด และไปยังจุดใดที่จะปลอดภัย

จึงอยากให้เพิ่มในส่วนของสัญลักษณ์เส้นทางหนีภัยบนถนนเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้หนีไปตามเส้นทางที่ขีด หรือบอกไปตามถนนเส้นต่างๆ จนถึงจุดปลอดภัย รวมทั้งอยากให้มีการเพิ่มแอปพลิเคชันเกี่ยวกับความปลอดภัยด้วย เมื่อนักท่องเที่ยวมาถึงภูเก็ตก็สามารถเข้าแอปศึกษาเรื่องความปลอดภัยได้

ขณะที่ นายอรุณ โสฬส นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลราไวย์ จ.ภูเก็ต ระบุว่า เทศบาลตำบลราไวย์ มีการตรวจสอบดูแลระบบแจ้งเตือนภัยของหอเตือนภัย ป้ายบอกทางหนีสึนามิ อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งมีการซ้อมอพยพหนีภัยสึนามิในทุกๆ ปี แม้ว่าเวลาผ่านมาหลายปีแล้วก็ตาม แต่ก็ยังให้ความสำคัญ เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้ชาวบ้าน ผู้ประกอบการชายหาด ได้รับทราบและตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา เพราะไม่รู้ว่าสึนามิจะเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่

“มั่นใจว่าหากมีการเตือนภัยสึนามิ จะสามารถแจ้งเตือนและอพยพประชาชนและนักท่องเที่ยวไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งได้มีการเตรียมไว้อยู่แล้วอย่างแน่นอน”

ผู้ว่าฯ ภูเก็ตมั่นใจระบบเตือนภัย-อพยพผู้คนพร้อม

ด้าน นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงความพร้อมในการรับมือหากเกิดเหตุสีนามิถล่ม ว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เฉพาะจังหวัดภูเก็ตที่ให้ความสำคัญ แต่ในส่วนของประเทศไทยก็ให้ความสำคัญอย่างเต็มที่ พร้อมที่จะช่วยเหลือประชาชน และนักท่องเที่ยวอย่างเต็มที่

โดยแบ่งระบบการทำงานออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงของการเฝ้าระวัง ซึ่งมีการติดตั้งระบบตรวจจับแผ่นดินไหว 2 จุด จุดแรกอยู่ที่มหาสมุทรอินเดีย ถ้ามีเหตุการณ์แผ่นดินไหวเกิดขึ้นจะสามารถแจ้งเตือนได้ภายใน 1.45 ชั่วโมง ส่วนจุดที่ 2 อยู่ห่างจากจังหวัดภูเก็ตประมาณ 29 กิโลเมตร ถ้าเกิดสินามิ สามารถแจ้งเตือนได้ภายใน 50 นาทีเท่านั้น

ส่วนการแจ้งเตือนหากเกิดสึนามิจริงๆ ก็จะมีการแจ้งเตือนมายังภูเก็ต ในส่วนของภูเก็ตเองก็มีความพร้อมในการแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบ ตามระบบ ซึ่งในส่วนของหอเตือนภัยที่มีอยู่ก็มีการทดสอบอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งป้ายหนีภัย ซึ่งต้องยอมรับว่ามีบ้างที่ชำรุด แต่ขณะนี้เชื่อว่ามีมากกว่า 80% ที่ยังสามารถใช้งานได้ดี

แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ตนได้สั่งการให้ท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบและปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สามารถใช้งานได้ตามปกติแล้ว รวมถึงเส้นทางหนีภัยบางจุดที่อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เกิดความเหมาะสมเนื่องจากสภาพการก่อสร้าง การจราจรที่มีการเปลี่ยนแปลงไป โดยเรื่องนี้จะมีการประชุมในสัปดาห์หน้า ตนขอยืนยันว่า ทุกหน่วยงานในจังหวัดภูเก็ตพร้อมที่จะดูแลความปลอดภัยให้แก่ประชาชน และพร้อมที่จะรับมือหากเกิดสินามิขึ้น

กระบี่มี 2 หอเตือนภัยที่รับสัญญาณไม่ได้ เร่งแก้ไข

ในส่วนของกระบี่ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ นายไพศาล ขุนศรี หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกระบี่ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสัญญาณเตือนภัยสึนามิทุกวันพุธแรกของเดือนตุลาคมนี้ ทั้ง 32 หอ ที่กระจายในพื้นที่ชายทะเลพื้นที่เสี่ยงครอบคลุม 5 อำเภอ อำเภอเมืองจำนวน 14 หอ อำเภอเหนือคลอง 6 หอ อำเภอเกาะลันตา 8 หอ อำเภอคลองท่อม 2 หอ อำเภออ่าวลึก 2 หอ
 
ทุกหอสามารถใช้งานได้ ยกเว้นบนเกาะพีพี มีจำนวน 4 หอ มีเพียงจำนวน 2 หอ ที่ติดตั้งอยู่ที่เกาะพีพี หมู่ที่ 7 ตำบลอ่าวนาง บริเวณอ่าวต้นไทร และบริเวณโรงเรียนบ้านเกาะพีพี ไม่สามารถรับสัญญาณได้ จึงได้รายงานไปยังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข ตามโครงการพัฒนาระบบเตือนภัย ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเร่งด่วนแล้ว

ชาวบ้านน้ำเค็ม พังงา ตื่นตัวรับมือสึนามิ

ขณะที่บ้านน้ำเค็ม อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิอย่างหนักเมื่อ 13 ปีที่ผ่านมา แต่ชาวบ้านก็ยังหวาดผวาทุกครั้งที่เกิดแผ่นดินไหว และมีความตื่นตัวเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ หากมีเหตุไม่คาดคิดเกิดขึ้นตามแผนที่เคยซักซ้อมหนีไปอาศัยอยู่ในที่ปลอดภัยกันไว้ก่อนหน้านี้

โดยขณะนี้พบว่า ภายในหมู่บ้านน้ำเค็ม มีหอเตือนภัย 2 จุด และยังสามารถใช้งานได้ตามปกติ ส่วนอาคารหลบภัย จำนวน 1 อาคาร พบว่าระบบไฟฟ้าชำรุดบางจุด และป้ายบอกเส้นทางบางจุดเริ่มมีสภาพชำรุดทรุดโทรม โดยทางชุมชนบ้านน้ำเค็มได้มีเจ้าหน้าที่ อปพร.ในการจัดการภัย

นางลดาวัลย์ บุญฤทธิ์ ชาวบ้านน้ำเค็ม กล่าวว่า ตอนนี้ยังรู้สึกหวาดกลัวกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งตอนนี้ชาวบ้านในหมู่บ้านน้ำเค็มยังคงใช้ชีวิตตามปกติ เพราะยังเชื่อมั่นในระบบสัญญาณเตือนภัยที่ติดตั้งภายในหมู่บ้าน แต่ทางชาวบ้านกลัวว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริงจะไม่ได้ยินสัญญาณเตือนภัย เนื่องจากช่วงนี้ในพื้นที่มีฝนตก และลมพัดแรงจึงจะทำให้ไม่ได้ยินเสียงสัญญาณเตือนภัย

“โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ชาวบ้านที่เคยประสบภัยคลื่นสึนามิในหมู่บ้านน้ำเค็ม ได้มีการตื่นตัวในการเตรียมความพร้อมเก็บข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นใส่กระเป๋าไว้ หากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวก็สามารถอพยพวิ่งหนีไปอยู่ในที่ปลอดภัยได้ทันท่วงที”

นอกจากนี้ การแจ้งเตือนทางหอเตือนภัยตามหมู่บ้าน และทางทีวี ทางชาวบ้านต้องการให้มีการส่งข่าวสารเรื่องแผ่นดินไหวผ่านทางโทรศัพท์มือถือ เพื่อจะได้เตรียมความพร้อมในการอพยพเวลาเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง ซึ่งขณะนี้ชาวบ้านบางส่วนที่อาศัยในหมู่บ้านยังเกิดความกลัวเหตุการณ์แผ่นดินไหว นอนไม่ค่อยหลับ และบางรายได้ไปอาศัยอยู่ที่บ้านญาติซึ่งเป็นที่ปลอดภัย

หอเตือนภัย 19 จุด พร้อมใช้งาน

ด้าน นายสายัญ กิจมะโน หัวหน้าป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพังงา กล่าวว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมเหตุการณ์แผ่นดินไหวทางจังหวัดพังงา ได้มีการตรวจสอบและเตรียมความพร้อมอยู่ตลอดเวลา โดยที่ผ่านมา มีการเตรียมความพร้อมรับมือโดยการติดตั้งหอเตือนภัยในพื้นที่ต่างๆ จำนวน 19 หอเตือนภัย ซึ่งพบว่ามีสภาพพร้อมใช้งาน และจะมีการทดสอบสัญญาณประจำสัปดาห์ โดยในช่วงทุกวันพุธ ทางศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติได้ส่งสัญญาณเสียงเป็นเพลงชาติ ซึ่งพบว่ามีเสียงดังดีตามปกติ

ส่วนป้ายบอกเส้นทางอพยพไปอยู่ที่ปลอดภัยยังอยู่ในสภาพใช้งานได้ดี สำหรับหอเตือนภัยได้มีการทดสอบทุกวันพุธ ก็สามารถใช้งานได้ตามปกติ ซึ่งถ้าประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงไม่ได้ยินเสียงสัญญาณเตือน หรือดังเบา ก็สามารถแจ้งมาได้ที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยทางเจ้าหน้าที่จะได้แจ้งให้ทางผู้รับผิดชอบลงมาซ่อมแซมปรับปรุงได้ทันที

นอกจากนี้ ทางป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้มีการสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยสึนามิหากเกิดเหตุการณ์เกิดขึ้นก็พร้อมแจ้งเตือนประชาชนได้ทันท่วงทีอย่างแน่นอน ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารจากหน่วยงานราชการ และอย่าหลงเชื่อข่าวลือที่ปรากฏตามสื่อออนไลน์อยู่ในขณะนี้

เหตุการณ์สึนามิถล่มอินโดนีเซียในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งวาระที่ทำให้หน่วยงานของรัฐ ภาคประชาชนตื่นตัวในการเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยสึนามิที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียซ้ำรอยสึนามิ เมื่อ 14 ปีที่แล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น