xs
xsm
sm
md
lg

นายแพทย์สาธารณสุขยะลา เตือนผู้ปกครองเฝ้าระวัง “โรคหัด” หลังพบเด็กป่วยต่อเนื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ยะลา - นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา เตือนพ่อแม่ และผู้ปกครองเฝ้าระวังป้องกัน “โรคหัด” หลังพบเด็กยะลาป่วยเป็นโรคหัดอย่างต่อเนื่อง เผยข้อมูลเดือนเดียวพุ่งถึง 156 ราย

นพ.สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคหัด ในพื้นที่ จ.ยะลา มีการเกิดโรคหัดอย่างต่อเนื่อง และมีการระบาดจากพื้นที่ที่มีความครอบคลุมของวัคซีนต่ำ พบสัดส่วนการเกิดโรคหัดระบาดในกลุ่มเด็ก จากรายงานจำนวนผู้ป่วยโรคหัดใน จ.ยะลา

จากฐานข้อมูลกำจัดโรคหัด เว็บไซต์สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ข้อมูลในช่วงวันที่ 1-29 กันยายน 2561 พบมีผู้ป่วย จำนวน 156 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 1-4 ปี (ร้อยละ 45.51) อายุต่ำกว่า 1 ปี (ร้อยละ 29.49) ครอบคลุมทุกอำเภอ โดยอำเภอที่มีผู้ป่วยสูงสุดคือ อ.ยะหา (62 ราย) รองลงมา อ.กาบัง (25 ราย) อ.เมืองยะลา (23 ราย) อ.บันนังสตา (18 ราย) อ.กรงปินัง (10 ราย) อ.รามัน, อ.ธารโต (8 ราย) และ อ.เบตง (2 ราย) ตามลำดับ
 

 
โรคหัด เป็นโรคไข้ออกผื่นพบได้ทุกวัย และพบได้บ่อยในเด็กเล็กอายุ 1-6 ปี เกิดจากเชื้อไวรัส Measles ซึ่งพบได้ในจมูก และลำคอของผู้ป่วย ติดต่อกันได้ง่ายมากโดยการไอ จาม หรือพูดกันในระยะใกล้ชิด เชื้อไวรัสจะกระจายอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย และเข้าสู่ร่างกายโดยทางการหายใจ บางครั้งเชื้ออยู่ในอากาศ เมื่อหายใจเอาละอองที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสเข้าไป ก็จะทำให้เป็นโรคได้ ถ้าไม่มีภูมิต้านทาน ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีน

นอกจากนี้ โรคหัดยังอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ส่วนอาการของโรคหัด เริ่มด้วยมีไข้ น้ำมูกไหล ไอ ตาแดง ตาแฉะ และกลัวแสง อาการต่างๆ จะมากขึ้นพร้อมกับไข้สูงขึ้น และจะสูงขึ้นเต็มที่เมื่อมีผื่นขึ้นในวันที่ 4 ลักษณะผื่นนูนแดงติดกันเป็นปื้นๆ โดยจะขึ้นที่หน้า บริเวณชิดขอบผม แผ่กระจายไปตามลำตัว แขน ขา เมื่อผื่นแพร่กระจายไปทั่วตัว ซึ่งกินเวลาประมาณ 2-3 วัน ไข้ก็จะเริ่มลดลง ผื่นระยะแรกมีสีแดง จะมีสีเข้มขึ้นเป็นสีแดงคล้ำ หรือน้ำตาลแดง บางครั้งจะพบผิวหนังลอกเป็นขุย การตรวจในระยะ 1-2 วัน ก่อนผื่นขึ้นจะพบจุดขาวๆ เล็กๆ มีขอบสีแดงๆ อยู่ในกระพุ้งแก้ม จะช่วยให้วินิจฉัยโรคได้ก่อนที่จะมีผื่นขึ้น อาการแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยมาก โดยเฉพาะในเด็กเล็ก คือ หูส่วนกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ อุจจาระร่วง สมองอักเสบ พบได้ประมาณ 1 ใน 1,000 ราย ซึ่งจะทำให้มีความพิการเหลืออยู่ ถ้าไม่เสียชีวิต (อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา)
 

 
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา กล่าวเน้นย้ำว่า การป้องกันโรคหัดทำได้โดยการแยกผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นโรคหัดจนถึง 4 วันหลังผื่นขึ้น หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย และฉีดวัคซีนป้องกัน ซึ่งปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข ให้วัคซีนป้องกันโรคหัด 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุ 9-12 เดือน ครั้งที่ 2 เมื่อเด็กอายุ 2 ปีครึ่ง โดยให้ในรูปของวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน (MMR) จึงขอให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง นำบุตรหลานไปรับวัคซีนให้ครบตามเกณฑ์ และช่วงนี้ขอให้มีการเฝ้าระวังป้องกันโรคหัดตามคำแนะนำเบื้องต้น

ทั้งนี้ ในช่วงที่มีการเกิดโรคหัด ในพื้นที่ จ.ยะลา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา และเครือข่ายบริการทุกแห่ง มีการดำเนินการป้องกัน และควบคุมโรคหัดอย่างใกล้ชิด และต่อเนื่อง เน้นย้ำให้ผู้ปกครองนำบุตรหลานอายุ 0-5 ปี รับวัคซีนตามเกณฑ์ และเด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ผู้ใหญ่ที่ไม่มีประวัติวัคซีนให้ได้รับวัคซีนด้วย หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคหัด สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
 



กำลังโหลดความคิดเห็น