xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์วิจัยประมงตรังเพาะเลี้ยงปลาการ์ตูนลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ รองรับตลาดปลาสวยงาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ตรัง - ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งตรัง เพาะเลี้ยงปลาการ์ตูนลูกผสมหลายสายพันธุ์ใหม่ๆ รองรับตลาดปลาสวยงาม ป้องกันการลักลอบจับจากแหล่งธรรมชาติ และเพิ่มจำนวนปลาในท้องทะเล

นายอาคม สิงหบุญ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งตรัง และเจ้าหน้าที่ได้ทำการเพาะเลี้ยงปลาการ์ตูนลูกผสม เพื่อหาสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่มีสีสันสวยงามต่างไปจากสายพันธุ์เดิมๆ จำนวน 15 สายพันธุ์ เช่น ปลาการ์ตูนดำ ปลาการ์ตูนเพอร์คูลา ปลาการ์ตูนเพอร์คูลาปิกัสโซ่ ปลาการ์ตูนเพอร์คูลาแพลทินัม ปลาการ์ตูนเพอร์คูลาลูกผสมซูเปอร์แบล็ก ปลาการ์ตูนส้มขาว เป็นต้น รวมทั้ง 2 สายพันธุ์ล่าสุด คือ ปลาการ์ตูนดำสโนเฟรค และปลาการ์ตูนส้มขาวลายสโนเฟลค ซึ่งมีสีสันที่สวยงาม และมีความแตกต่างที่โดดเด่น
 

 
ปัจจุบัน ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งตรัง ได้เพาะเลี้ยงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาการ์ตูนลูกผสม จำนวน 1,400 ตัว โดยอยู่ในบ่อ จำนวน 1 บ่อ รวม 200 ตัว และอยู่ในถังขนาดใหญ่ จำนวน 4 ถังๆ ละ 300 ตัว รวม 1,200 ตัว จนสามารถผลิตลูกปลาออกมาได้แล้ว 6,000 ตัว ซึ่งเมื่อเพาะเลี้ยงจนมีอายุ 3 ปีขึ้นไป หรือมีขนาดยาว 3-4 เซนติเมตร ก็จะสามารถนำไปขายได้ในราคาตั้งแต่ตัวละ 260 บาทขึ้นไป แล้วแต่ขนาดของปลา และสายพันธุ์

สำหรับสาเหตุที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งตรัง ต้องทำการเพาะเลี้ยงปลาการ์ตูนสายพันธุ์ต่างๆ ก็เพื่อป้องกันการลักลอบจับจากแหล่งธรรมชาติ และเพิ่มจำนวนปลาการ์ตูนในท้องทะเล หรือมอบให้แก่หน่วยงานที่มีความประสงค์ขอพันธุ์ปลาเข้ามา ซึ่งในแต่ละปีจะเพาะพันธุ์ปลาการ์ตูนได้ 5,000-6,000 ตัว และมีแนวโน้มที่ชาวบ้านทั่วไปหันมาให้ความสนใจมากขึ้น และเข้ามาขอดูงานกันอย่างต่อเนื่อง เพราะสามารถนำไปเพาะเลี้ยงเพื่อสร้างอาชีพได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นที่ต้องการของตลาดปลาสวยงามอีกด้วย
 





กำลังโหลดความคิดเห็น