คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
-----------------------------------------------------------------------------------
ในช่วงวันที่ 4-9 กันยายนที่ผ่านมา ที่ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพมหานคร ได้มีการประชุมกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อหารือรายละเอียดการบริหารจัดการ “ข้อตกลงปารีส” (COP21) ซึ่งลงนามกันในปี 2558 ให้ลงตัว ก่อนการประชุมสุดยอดรัฐภาคีขององค์การสหประชาชาติครั้งที่ 24 (COP24) ที่ประเทศโปแลนด์ในเดือนธันวาคมปีนี้
ข้อตกลงปารีส เป็นข้อตกลงร่วมกันของมวลมนุษยชาติที่จะลดอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม ในบทความนี้ผมจะกล่าวถึงภาพรวมของความพยายามในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งมองไกลไปในอนาคตด้วย
จากบทความของคุณLorraine Chow (https://www.ecowatch.com/artists-rise-for-climate-2602227094.html) ทำให้ทราบว่าได้มีการประชุมในลักษณะนี้เกิดขึ้นในหลายแห่งทั่วโลก และได้มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชนกว่า 89 ประเทศทั่วโลก ภายใต้ชื่อ “ลุกขึ้นสู้เพื่อภูมิอากาศ (Rise for Climate)” และหนึ่งในกิจกรรมของกลุ่มนี้ก็คือการทำงานศิลปะของกลุ่มศิลปิน เพื่อให้คนนำไปใช้ทำโปสเตอร์เพื่อการรณรงค์ ผมได้เลือกมาเพียงสองภาพซึ่งเป็นผลงานของศิลปินชาวอินโดนีเซียและบราซิลครับ ยังมีอีกเยอะลองคลิ้กเข้าไปดูครับ
สำหรับภาพข้างล่างถัดไปนี้ ผมได้นำ 3 ข้อมูลสำคัญมาเปรียบกันในภาพเดียว ซึ่งสะท้อนว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยภาพรวมปัญหาโลกร้อนได้รุนแรงเพิ่มขึ้นกว่าเดิมครับ
รูปซ้ายมือแสดงปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในช่วงปี 1959 ถึง 2017 พบว่า ในช่วงปี 2014 ถึง 2016 การปล่อยก๊าซค่อนข้างจะคงที่ 3 ปีติดต่อกัน แต่ในปี 2017 ปริมาณการปล่อยรวมทั้งโลกกลับเพิ่มขึ้น 2% ซึ่งเป็นการเพิ่มจากประเทศจีน (ประเทศจีนอย่างเดียวเพิ่มขึ้น 3.5% โดยจีดีพีเพิ่มขึ้น 6.7%) สหรัฐอเมริกาลดลง0.4% ในขณะที่ส่วนที่เหลือของโลกเพิ่มขึ้น 2.3% ในปี 2017 มีปริมาณการปล่อยรวม 36.8 ล้านล้านตัน
สำหรับภาพขวามือด้านบน แสดงความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(สำหรับเดือนมิถุนายนของปี) ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ทั้งๆ ที่นักวิทยาศาสตร์ได้เตือนว่าไม่ควรเกิน 350 พีพีเอ็ม (ส่วนในล้านส่วน)
การเพิ่มขึ้นของความเข้มข้นของก๊าซก็เหมือนกับการทำให้ “ผ้าห่มโลก” หนาขึ้น โลกจึงร้อนขึ้นนั่นเอง
สำหรับภาพทางขวามือด้านล่างเป็นอุณหภูมิเฉลี่ยของผิวโลก (ทั้งปี) ซึ่งโดยรวมก็เพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2016 สูงกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรม 0.99 องศาเซลเซียส แต่ในปี 2017 ได้ลดลงมาเท่ากับ 0.9 องศาเซลเซียส แต่อย่าเพิ่งสรุปว่าเป็นข่าวดีนะครับ เพราะยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกที่จะทำให้อุณหภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เช่น ปรากฏการณ์ เอลนีโญ เป็นต้น
ความจริงผมยังมีข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนครั้งที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติในโลกอีก ซึ่งเพิ่มขึ้นตามเวลาลักษณะคล้ายกับกราฟทั้ง 3 ในภาพ แต่กลัวว่ามันจะรกตามากเกินไป
เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าได้มีภัยพิบัติจำนวนมากเกิดขึ้น ลองนึกย้อนไปดูครับ คลื่นความร้อนที่ญี่ปุ่น ตามด้วยน้ำท่วม พายุครั้งรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี พม่า ลาว อินเดียก็โดน รวมทั้งไฟป่าที่เกิดจากความแห้งแล้งอย่างผิดปกติในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เป็นต้น
นั่นเป็นเรื่องทางกายภาพ นักสิ่งแวดล้อมในออสเตรเลียได้ชูคำขวัญที่กินใจมากๆ คือ “โลกร้อน คนไม่ชอบ แต่ยุงชอบ” ซึ่งเราจะเห็นว่าในระยะหลังได้มีการแพร่ระบาดของโรคที่เกิดจากยุงมากขึ้นและรุนแรงมากจนยากที่จะ “เอาอยู่” รวมทั้งไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ
ความจริง “ข้อตกลงปารีส” เป็นมาตรการที่สมัครใจ ไม่มีการบังคับ โดยให้แต่ละประเทศประกาศต่อสาธารณะว่าจะลดลงเหลือเท่าใดภายในปี 2030 แต่จะมีการติดตามผลในทุกปีและประเมินเพื่อปรับแผนทุก 5 ปี (ถ้าผมจำไม่ผิด)
อย่างไรก็ตาม ทีมวิชาการได้พยากรณ์ด้วยตัวแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ไว้แล้วว่า ทั้งโลกจะต้องหยุดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (ซึ่งเกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล) โดยสิ้นเชิงภายในปี 2060 ถ้าทำอย่างนี้ได้ ในปี 2100 อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจึงจะไม่เกิน 2 องศาเซลเซียสซึ่งในปี 2018 อุณหภูมิแค่ 0.9 องศายังหายนะขนาดนี้เลย
ภาพข้างล่างเป็นขององค์กรระหว่างรัฐบาลที่ชื่อย่อว่า IRENA ซึ่งประเทศไทยเราร่วมเป็นสมาชิกอยู่ด้วย
ปัญหาคือเราจะเชื่อตามที่นักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงส่วนใหญ่ของโลกได้เตือนไว้หรือไม่
ความจริงเรื่องนี้ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนเกินกว่าที่เราจะเข้าใจได้ แต่เนื่องจากมีการบิดเบือนความจริงเกิดขึ้นจึงทำให้คนจำนวนหนึ่งรู้สึกสับสน เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่ใช้ชื่อว่า “Union of Concerned Scientists” ได้เปิดเผยว่าเมื่อปีที่แล้ว บริษัท ExxonMobil (บริษัทน้ำมัน) ได้จ่ายเงินให้กับกลุ่ม “วิทยาศาสตร์ที่ปฏิเสธเรื่องโลกร้อน (Climate Science Deniers)” จำนวน 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(ท่านที่สนใจเพิ่มเติม ลองค้นได้จาก google ครับ โดยใช้ประโยคว่า “Why Is ExxonMobil Still Funding Climate Science Denier Groups?”)
ถ้าเราเชื่อตามคำเตือนของนักวิทยาศาสตร์ คือต้องหยุดการใช้พลังงานฟอสซิลทั้งหมดภายในปี 2060 คำถามคือ แล้วเราจะใช้พลังงานจากแหล่งใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราได้ถูกโฆษณาชวนเชื่อว่า พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมมีน้อย ไม่เสถียร และมีราคาแพง ประเทศจนๆ จะทำอย่างไร
ข้อมูลจากประเทศเยอรมนี พบว่า ในปี 2017 สามารถผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมและโซลาร์เซลล์ได้รวมกัน 135,300 ล้านหน่วย (http://www.volker-quaschning.de/datserv/ren-Strom-D/index_e.php) หรือประมาณ 72% ของที่ประเทศไทยใช้ ไม่น้อยเลยใช่ไหมครับ
ในเรื่องราคาแพง ข้อมูลล่าสุด (เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว) อังกฤษเพิ่งเปิดใช้กังหันลมในทะเลขนาด 659 เมกะวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอสำหรับ 6 แสนครัวเรือน ในราคาค่าไฟฟ้า 1.84 บาทต่อหน่วย ($0.0575) ซึ่งเป็นราคาชนะการประมูลเมื่อปลาย 2017 ลดลงมาจาก 6.21 บาทต่อหน่วย($0.195) เมื่อปี 2014 (https://www.ecowatch.com/offshore-wind-farm-largest-2602538337.html)
ยังคงเหลือเรื่องสุดท้ายครับ คือเรื่องความเสถียร แดดไม่มี ลมไม่มาแล้วจะเอาไฟฟ้าที่ไหนใช้
ความก้าวหน้าล่าสุดของประเด็นนี้ศึกษาได้จากรัฐแคลิฟอร์เนีย คือนำแบตเตอรี่มาใช้เพื่อเก็บไฟฟ้าที่เหลือ และดึงออกมาใช้ในเวลาที่ไฟฟ้าไม่พอ (http://www.caiso.com/TodaysOutlook/Pages/supply.aspx) ปัญหาที่เคยกังวลกันก็จบบริบูรณ์ครับ
นี่คือเรื่องราวทั้งด้านลบและด้านบวกของปัญหาโลกร้อนซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติ แต่ผมเชื่อมั่นว่า เราสามารถแก้ไขได้หากเรารู้ทันมายาของพ่อค้าฟอสซิลครับ
ก่อนจะจบบทความนี้ต้องขอพูดถึงประเทศไทยเล็กน้อยครับ นายกรัฐมนตรีของไทยก็ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงปารีสด้วย แต่หลังจากนั้นการปล่อยก๊าซนอกจากจะไม่ลดลงแล้ว ยังกลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการกีดกันการใช้พลังงานแสงอาทิตย์จากภาคครัวเรือนซึ่งนอกจากจะช่วยลดการปล่อยก๊าซแล้ว ยังเป็นการกระจายรายได้อีกด้วย
นอกจากนี้ แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (หรือแผนพีดีพี) ที่จะออกใหม่ในเร็วๆ นี้ ก็ยังคงเน้นการใช้พลังงานฟอสซิล ทั้งถ่านหินและก๊าซธรรมชาติที่เป็นเทคโนโลยีที่ล้าสมัยไปแล้วแต่ปากก็ยังร้องว่า “ไทยแลนด์ 4.0” โดยไม่อายฟ้าดิน