xs
xsm
sm
md
lg

ชกหมัดตรง : ฤๅ “ชลประทานยะลา” สายแข็งเป๊ก?! ถูกชี้มูลทุจริต 28 โครงการ แต่ยังลอยหน้าแก้ไขให้ดูว่าถูกต้องได้แบบไม่เห็นหัว “ป.ป.ท.” / ฉงน “รัฐบาลทอปบู๊ต” สะบัดธงปราบคอรัปชั่นแข็งขัน แถม “กฤษฎา” จัดเป็น “รมต.น้ำดี” แต่กลับเงียบฉี่ไม่ไหวติง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
.
ยังส่งกลิ่นเหม็นเน่าและเป็นเรื่องฉาวโฉ่ไม่เลิก ยิ่งขุดคุ้ยก็ยิ่งพบความไม่โปร่งใสใน “สำนักงานชลประทานจังหวัดยะลา” ที่หน่วยงานตรวจการทุจริตคอรัปชั่นอย่าง “สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)” ตรวจพบว่า
 
โครงการของสำนักงานชลประทานจังหวัดยะลางบประมาณปี 2560 จำนวน 32 โครงการ วงเงิน 500 ล้าน มีความไม่ชอบมาพากลถึง 28 โครงการ หรือจะเรียกง่ายๆ ว่า ทำกันอย่างเป็นระบบ โดยมีการ “ฮั้ว” กับผู้รับเหมาที่เป็นเหมือน “ปากกับคอหอย” พวกหนึ่งเคี้ยว พวกหนึ่งกลืน และที่อัปยศที่สุดคือ โกงกินแม้แต่งานใน “โครงการพระราชดำริ” หรือโครงการหลวงนั่นเอง
 
ที่สำคัญอาจจะต้องถือว่าเป็นการคอรัปชั่นที่น่าติดตามตรงที่ ป.ป.ท.ต้อง “สนธิกำลัง ทั้งจาก “ส่วนกลาง” และใน “สำนักงาน ป.ป.ท.ภาค 9” ที่เป็นเจ้าของพื้นที่เข้าสะสางการทุจริตในครั้งนี้แบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
 
มีเรื่องที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษในเรื่องด้วยก็คือ ในระหว่างที่ ป.ป.ท.ชี้มูลความผิดสำเร็จไปเรียบร้อย เพราะแต่ละโครงการมีการจ่ายเงินค่าจ้างไปทั้งหมดและคณะกรรมการตรวจรับงานไปแล้วด้วย  แต่พอมีการตรวจพบว่างานที่ตรวจรับผิดแบบ ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของโครงการ แต่กลับยังมีการสั่งการให้ผู้รับเหมาเข้าไปก่อสร้างเพิ่มในส่วนที่เคยหดหายไป ทั้งนี้ก็เพื่อให้เป็นไปตามแบบหรือตามสเปคของการก่อสร้างในภายหลังนั่นเอง
 
อันแสดงให้เห็นว่า “สำนักงานชลประทานจังหวัดยะลา” เป็นหน่วยงานที่มีอิทธิพล ไม่ได้สนใจกับการถูกตรวจสอบ ที่สำคัญไม่เห็นหน่วยงานตรวจสอบอย่าง “ป.ป.ท.” อยู่ในสายตา โดยไม่ยอมรับว่าทำผิด หรือมีการคอรัปชั่นเกิดขึ้นในหน่วยงาน เพราะยังพยายามที่จะ “ปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ พยายามที่จะต่อเติมในส่วนที่ถูกตรวจพบว่ามีการทุจริต
 
อย่างไรก็ตาม กรณีที่เกิดขึ้นกลับมีเรื่องที่ทำให้สังคมผิดหวังอย่างมากที่สุดตามมาด้วยคือ “สื่อมวลชน” โดยเฉพาะในส่วนที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ที่มีเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีสื่อที่นำเสนอข่าวการทุจริตมโหฬารของสำนักงานชลประทานจังหวัดยะลาครั้งนี้เพียง 2-3 สำนักเท่านั้น สื่อที่เหลือหลากค่ายหลายสำนักมากมายกลับไม่ได้ให้ความสนใจแม้แต่น้อย
 
จนมีคำถามว่า ณ วันนี้สื่อมวลชนได้ทำหน้าที่ “หมาเฝ้าบ้าน อย่างเต็มที่แล้วหรือไม่ หรือเพียงแต่ทำหน้าที่เป็น “หมานั่งตัก เท่านั้นเอง ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้แล้วต่อไปประเทศชาติจะฝากความหวังในการช่วยชาติ ช่วยแผ่นดิน ช่วยสังคม ช่วยผู้ด้อยโอกาสไว้กับบรรดาสื่อมวลชนได้อย่างไร
 
มีเรื่องราวที่ต้องนับว่าถูกต้องและผู้เขียนได้พร่ำเขียนเรื่องราวเหล่านั้นมาโดยตลอด กล่าวคือ “วิกฤตไฟใต้” คือบ่อเกิดแห่งการโกงกิน การฉ้อราษฎร์บังหลวงของหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการ “รักษาความสงบ” แต่กลับ “ค้าสงคราม” เสียเอง ส่วนหน่วยงานอื่นๆ ที่เรียกว่า “ส่วนภูมิภาค” ต่างก็ “ค้ากำไร” จากงบประมาณแผ่นดินด้วยเช่นกัน
 
ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ คือการโกงกินใน “สำนักงานชลประทานจังหวัดยะลา” ที่อาศัย “วิกฤตไฟใต้จึงเชื่อว่า สถานการณ์ที่รุนแรงหรือที่โหดร้าย ได้ทำให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบไม่กล้าลงพื้นที่ไปดูข้อเท็จจริง กลับมีการตรวจงาน ส่งงานและการตรวจรับงานกันใน “โรงแรม” แทน โดยเฉพาะในโรงแรมเมืองกลางเมืองหาดใหญ่ ด้วยเชื่อมั่นว่าจะไม่มีใครเห็นการทุจริตคอรัปชั่นที่เกิดขึ้น ซึ่งก็ทำกันมาอย่างนี้นานถึงร่วม 14 ปีแห่งวิกฤตไฟใต้ระลอกใหม่
 
รวมทั้งการใช้วิธีการ “จัดซื้อจัดจ้างแบบพิเศษ” โดยการอ้างสถานการณ์ไฟใต้ ซึ่งการจัดซื้อจัดจ้างแบบนี้ทำกันเป็นระบบ มีการ “ผูกขาด” กับผู้รับเหมากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไว้ด้วย ซึ่งถือเป็นการ “ฮั้วงานหรือ “แบ่งเค้ก” กันไปเรียบร้อย ในขณะที่ข้าราชการที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริต รับไปแต่ “เนื้อๆ” จนร่ำรวยขนาดนายช่างบางคนมี “บ้านหรู” มี “รถเบ็นซ์” ขับไปไหนมาไหนอย่างฉุยฉาย ซึ่งล้วนมาจากเงินที่โกงไปจากงบประมาณแผ่นดิน โกงภาษีของประชาชนทั้งสิ้น
 
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีเรื่องที่น่าแปลกใจใหญ่โตเกิดขึ้นด้วย กล่าวคือ แม้ว่า ป.ป.ท.จะพบความผิดปกติในเกือบทุกโครงการ แต่เจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งของ “สำนักงานชลประทานจังหวัดยะลา” ตั้งแต่ระดับหัวๆ ไปจนถึงคณะกรรมการตรวจรับงาน เวลานี้ยังคงอยู่ดีมีสุข แถมยังสามารถคุยโวโอ้อวดได้ว่า ป.ป.ท.ไม่สามารถทำอะไรได้ รวมทั้งเปรยถึงสื่อมวลชน 2-3 สำนักที่นำเสนอข่าวนี้ว่า ปล่อยมันไปสักพัก เดี๋ยวก็หยุดไปเอง
 
มีเรื่องที่ต้องตั้งข้อสังเกตไว้ ณ ที่นี้ด้วยก็คือ การคอรัปชั่นใน “สำนักงานชลประทานจังหวัดยะลา” เกิดขึ้นในสมัยที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นทั้งหัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรี อันเป็นรัฐบาลทหารที่ชูธง ในการปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นอย่างแข็งขัน หาใช่เป็นเรื่องเก่าที่เกิดขึ้นในรัฐบาลอื่นๆ ไม่ว่าสมัยของ “รัฐบาลอภิสิทธิ์” หรือ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ก็หาไม่ ดังนั้นหน่วยงานไหนก็ตามที่ทำการคอรัปชั่นในยุคสมัยที่ผู้นำประเทศชูธงในการปราบคอรัปชั่น จึงต้องมีการลงโทษให้ “หนักหนาสาหัสกว่า” เพราะเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของท่านผู้นำประเทศ
 
แต่ก็นั่นแหละสิ่งที่ ป.ป.ท.ต้องดำเนินการต่อไปคือ ต้องส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอโครงการต่างๆ ทั้งในพื้นที่ จ.ปัตตานี และ จ.นราธิวาส ด้วยไม่ใช่ตรวจเฉพาะที่ จ.ยะลาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะในอีก 2 จังหวัดที่กล่าวมา และในพื้นที่อีก 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ อ.จะนะ อ.เทพา อ.นาทวี และ อ.สะบ้าย้อย เป็นเป็นส่วนประกอบสำคัญของพื้นที่ไฟใต้ต่างก็มีโครงการแบบลักษณะเดียวกัน กลุ่มผู้รับเหมาก็แทบจะซ้ำหน้า และใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างแบบพิเศษเช่นเดียวกัน
 
ดังนี้แล้วท่านจะเชื่อได้อย่างไรว่า เรื่องรางของการคอรัปชั่นใน “สำนักงานชลประทานจังหวัดยะลา” จะไม่เกิดกับหน่วยงานในลักษณะเดียวกันที่ จ.ปัตตานี ที่ จ.นราธิวาส และที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ซึ่งถ้าหาก ป.ป.ท.จะทำการล้างบางความชั่วร้ายในหน่วยงานชลประทานจริงๆ ก็ต้องทำการตรวจสอบให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั่นเอง
 
ในขณะเดียวกันหน่วยงานอื่นๆ ที่มีหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่ว่าจะเป็น “สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)” หรือจะเป็น “สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)” หรืออะไรก็แล้วแต่ ในวันนี้จะต้องกล้าที่จะลงพื้นที่เข้าตรวจสอบการใช้งบประมาณของรัฐ ต้องไม่ยกเอาความไม่ปลอดภัยอันเนื่องแต่สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่มาเป็นข้ออ้าง
 
เนื่องเพราะ “ท่านแม่ทัพ” การันตีมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมาว่า ความรุนแรงบนแผ่นดินปลายด้ามขวานมาจากเรื่องของ “ภัยแทรกซ้อน” ไม่ใช่เรื่องการก่อการร้ายของขบวนการแบ่งแยกดินแดน และที่สำคัญมีในพื้นที่ต่างก็มีทั้งทหาร ตำรวจและกองกำลังต่างๆ มากมายกระจายกับแบบยุบยับเต็มพื้นที่ไปแล้วทั้งหมด ทำไมกองกำลังเจ้าหน้าที่รัฐเหล่านั้นจะให้การคุ้มครองหรือดูแลหน่วยงานของพวกท่านไม่ได้
 
ยกเว้นหน่วยงานที่ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบตั้งใจ “ตามน้ำ นิยมการตรวจรับงาน ชมชอบการชี้แจงรายละเอียดของโครงการต่างๆ ใน “ห้องแอร์” ของโรงแรมหรูเช่นกัน โดยเฉพาะสถานที่ที่หน่วยงานที่ถูกตรวจสอบต่างๆ ในพื้นที่เป็นผู้จัดการให้ ซึ่งนั่นก็ถือว่าเป็นเรื่องของการ “สมยอมกันก็เท่านั้นเอง
 
ก็ได้แต่หวังว่าบทเรียนในการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างในกรณีของ “สำนักงานชลประทานจังหวัดยะลา” จะทำให้การเดินหน้าในการตรวจสอบโครงการของรัฐอื่นๆ ซึ่งใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากเป็นไปอย่าง เข้มข้นและเองจริงเอาจังกับบรรดา “ข้าราชการโกง” ที่อาศัย “วิกฤตของไฟใต้” เข้าไปผลาญงบประมาณแผ่นดินและเงินภาษีของประชาชน
 
แต่ก็แปลกนะที่ “กรมชลประทาน” ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มี “นายกฤษฎา บุญราช” นั่งบัญชาการอยู่ ผู้เป็นอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาด้วย แถมถือเป็น “รัฐมนตรีน้ำดี” ในรัฐบาลทอปบู๊ต ณ ห้วงเวลานี้กลับไม่เห็นเคลื่อนไหวใดๆ ต่อการแก้ไขทุจริตคอรัปชั่นใน “สำนักงานชลประทานจังหวัดยะลา” เลยแม้แต่น้อย หรือว่าวงเงินงบประมาณ 500 ล้านบาทนี่มัน “จิ๊บจ๊อย” เกินไป
 


กำลังโหลดความคิดเห็น