xs
xsm
sm
md
lg

ถาม-ตอบ 10 ข้อ เรื่องนโยบายโซลาร์เซลล์ / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
--------------------------------------------------------------------------------
 
วันนี้ผมขออนุญาตนำเอกสารของคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ซึ่งเพิ่งเผยแพร่ในงาน“มหกรรมสมุนไพรและอาหาร ครั้งที่ 3” เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2561
 
 บางท่านอาจจะร้อง เอ๊ะ! เรื่องโซลาร์เซลล์มาเกี่ยวอะไรกับประเด็นของงาน คือสมุนไพรและอาหาร คำตอบที่ตรงไปตรงมาที่สุดก็คือ ทั้งสมุนไพร อาหาร และโซลาร์เซลล์ต่างก็ใช้สิ่งเดียวกันคือแสงแดด ถ้าไม่มีแสงแดดก็จะไม่มีชีวิต แสงแดดเป็นที่มาของสรรพชีวิตทั้งปวงครับ การปิดกั้นการใช้ประโยชน์จากแสงแดดหรือการยืนบังแดด จึงเป็นการทำลายชีวิต คำถาม คำตอบ 10 ข้อต่อไปนี้จะช่วยให้เราสามารถเข้าใจภาพรวมได้ชัดเจนขึ้นครับ
 
คำถามที่ 1 เขาว่าต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์นั้นมีราคาแพง และในเวลากลางคืนจะเอาไฟฟ้าที่ไหนใช้

ตอบ เรื่องราคาแพงนั้นเคยเป็นความจริงเมื่อ 7-8 ปีมาแล้ว ในช่วง2-3 ปีมานี้ราคาได้ลดลงมาต่ำกว่าราคาไฟฟ้าที่ผลิตจากถ่านหินเสียอีก จริงๆ แล้ว ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ต่อหน่วยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ ขนาดของการติดตั้ง และนโยบายของแต่ละประเทศได้แก่ ภาษี ระเบียบขั้นตอนการขออนุญาต เป็นต้น

เรื่องในเวลากลางคืนจะเอาไฟฟ้าที่ไหนใช้ ก็ถือเป็นเรื่องนโยบายของประเทศเช่นกันถ้ารัฐบาลเห็นแก่ประโยชน์ของส่วนรวม ก็จะไม่มีปัญหาอะไรเลย บ้านที่ติดโซลาร์เซลล์ก็จะมีไฟฟ้าใช้ในเวลากลางคืนได้แต่เรื่องนี้เดี๋ยวค่อยลงรายละเอียดกันอีกทีนะมันซับซ้อนเล็กน้อย

คำถามที่ 2 ที่บ้านจ่ายค่าไฟฟ้าอยู่เฉลี่ยเดือนละ 2,300 บาท ถ้าจะติดโซลาร์เซลล์ควรจะติดสักขนาดเท่าไหร่ดี

ตอบ อืม! ลองย้อนไปดูใบเสร็จค่าไฟ จะพบว่าใช้ไฟฟ้าจำนวน 548 หน่วยเฉลี่ยหน่วยละ 4.20 บาท (รวม VAT) สมมติว่ารัฐบาลมีนโยบายที่เอื้อต่อผู้บริโภค เราก็ควรจะติดขนาด 3 กิโลวัตต์ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้เฉลี่ยเดือนละ 355หน่วย

นั่นคือ เราสามารถลดค่าไฟฟ้าได้เท่ากับ 1,491 บาท (ปีละ 17,892 บาท) โดยปกติอายุการใช้งานนาน 25 ปี รวมแล้วจะลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 447,300 บาท

คำถามที่ 3 แล้วต้องลงทุนเท่าไหร่ล่ะ และจะคุ้มทุนในกี่ปี

ตอบ แล้วแต่คุณภาพของอุปกรณ์และความยากง่ายของการติดตั้ง แต่ต้องเลือกอุปกรณ์ที่ผ่านการรับรองของการไฟฟ้าฯ นะ (ย้ำ) การลงทุนประมาณ 1 แสนบาทถึง 1.3 แสนบาทที่มากกว่านี้ก็มี ต้องเลือกดีๆ 

นักวิชาการเขามีวิธีคิดต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดอายุโครงการ (LCOE โดยไม่คิดค่าดอกเบี้ย ค่าบำรุงรักษา ค่าเสื่อม) โดยเอาเงินลงทุนเริ่มต้นตั้งแล้วหารด้วยจำนวนไฟฟ้าที่ผลิตได้ ถ้าใช้ทุน 1.3 แสนบาท จะได้ LCOE เท่ากับ 1.22 บาทต่อหน่วยหรือจะคุ้มทุนภายในเวลา 7 ปี 3 เดือน ที่เหลือเกือบ 18 ปี ถือเป็นการใช้ไฟฟ้าฟรี

คำถามที่ 4 แล้วนโยบายของรัฐบาลไทยมีปัญหาอะไรแล้วกลางคืนจะเอาไฟฟ้าที่ไหนใช้

ตอบ กระแสไฟฟ้าก็เหมือนกระแสน้ำ จะไหลจากศักดาสูงไปสู่ศักดาต่ำและต้องการที่อยู่หรือต้องถูกนำไปใช้งานไฟฟ้าที่เราผลิตได้จะมีศักดาสูงกว่าไฟฟ้าจากสายส่ง (ที่ถึงบ้าน)เล็กน้อย

ในตอนกลางวัน คนส่วนใหญ่ไม่อยู่บ้าน กระแสไฟฟ้าจะไหลออกจากบ้านผ่านมิเตอร์ไปสู่สายส่ง มิเตอร์ (แบบจานหมุน) จะหมุนถอยหลังในตอนกลางคืนเจ้าของบ้านกลับมา แต่พระอาทิตย์กลับบ้านแล้ว ผลิตไม่ได้ ไฟฟ้าจากสายส่งก็จะไหลเข้าบ้าน มิเตอร์หมุนเดินหน้าเป็นเช่นนี้ทุกวัน เมื่อสิ้นเดือนก็คิดบัญชีตามสุทธิที่ปรากฏ เขาเรียกว่า ระบบNet Metering

ประเทศส่วนมากเขาใช้วิธีการนี้ซึ่งไม่ต้องลงทุนเพิ่มและไม่มีผลเสียใดๆ แต่รัฐบาลไทยไม่ยอม ถ้าเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่ามีกระแสไฟฟ้าไหลย้อน ก็จะถูกเปลี่ยนมิเตอร์เป็นแบบดิจิตอล ส่งผลให้กระแสไฟฟ้าไหลออกจากบ้านได้ แต่ตัวเลขในมิเตอร์ไม่ลดลง เจ้าของบ้านจะไม่ได้ประโยชน์จากไฟฟ้าส่วนที่ตนผลิตได้แต่ไม่ได้ใช้นี้ จุดคุ้มทุนก็จะนานขึ้น หรือไม่คุ้มทุนเลย

คำถามที่ 5 แล้วจะทำอย่างไรกันดี

ตอบ ทำได้ 2 อย่าง (หนึ่ง) ก็ต้องช่วยกันรณรงค์ให้รัฐบาลเปลี่ยนนโยบายปัจจุบัน ทุก 1 ใน 4 หลังของบ้านในรัฐออสเตรเลียใต้ติดตั้งโซลาร์เซลล์และใช้ระบบ Net Metering และ ชาวแคลิฟอร์เนีย (สหรัฐอเมริกา) กว่า 8 แสนหลังคาก็ใช้ระบบนี้ นอกจากนี้ทางรัฐได้ออกเป็นระเบียบว่า “บ้านที่จะสร้างใหม่หลังเดือนมกราคมปี 2563 ทุกหลังจะต้องติดโซลาร์เซลล์” 

(สอง) ติดตั้งให้มีขนาดเล็กลง หรือใช้ไฟฟ้าในตอนกลางวันให้มากขึ้น เป็นต้น

คำถามที่ 6 ในบางพื้นที่ เช่น ภาคใต้ซึ่ง “ฝน 8 แดด 4” จะมีปัญหาไหมจะคุ้มทุนหรือ 

ตอบ จากแผนที่ “ศักยภาพพลังงานโซลาร์เซลล์” ซึ่งจัดทำโดย Solargis (ที่ธนาคารโลกมีส่วนร่วมอยู่ด้วยและปรับปรุงล่าสุดปี 2558) พบว่าทุกพื้นที่ของประเทศไทยมีศักยภาพที่ผลิตไฟฟ้าได้ตั้งแต่ 1,300 ถึง 1,550 หน่วยต่อกิโลวัตต์ต่อปี (สูงสุดน่าจะเป็น จ.อุบลราชธานีต่ำสุดเป็นบางส่วนเล็กๆ ของพื้นที่ภาคใต้)

นั่นคือ แม้เราใช้ค่าต่ำสุดคือ 1,300 หน่วยต่อกิโลวัตต์ต่อปี ต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ยก็เท่ากับ 1.33 บาทต่อหน่วย (เพิ่มจาก 1.22 บาทต่อหน่วย) ระยะเวลาคุ้มทุนก็เพิ่มเป็น 8 ปี ยังน่าสนใจอยู่ดี

คำถามที่ 7 จริงหรือไม่ที่ว่า ถ้าติดโซลาร์เซลล์กันเยอะๆ แล้วจะทำให้ไฟฟ้าดับ สายส่งเสียหาย

ตอบ เยอะขนาดไหนละ รัฐบาลอินเดียมีแผนจะผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ถึง 60% ของความต้องการของประเทศในอีก 10 ปีข้างหน้า ถือว่าเยอะแล้วหรือยัง

แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของไทย (พีดีพี 2015) ของไทยมีแผนจะใช้เชื้อเพลิงจากพลังงานหมุนเวียน (รวม ลม ชีวมวล โซลาร์เซลล์และน้ำ) 15-20% ในปี 2579 (หรืออีก 18 ปีโน้น) ของเรายังห่างจากเป้าหมายของอินเดียเยอะ เราต้องตั้งคำถามว่า ทำไมรัฐบาลอินเดียจึงไม่กลัวไฟฟ้าดับ สายส่งเสียหายหรือปัจจุบันนี้มีหลายสิบประเทศที่ได้ประกาศว่าจะใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ในอีกประมาณ 20 ปีข้างหน้า

คำถามที่ 8 จะทำอย่างไรกับขยะจากโซลาร์เซลล์เมื่อหมดอายุ

ตอบ หมดเรื่องที่อยากรู้อื่นๆ แล้วเหรอ ความจริงแล้วแผงโซลาร์พร้อมอุปกรณ์สร้างขึ้นจากวัสดุธรรมชาติ มีสารเคมีอยู่เพียงนิดเดียวเท่านั้น สามารถนำมารีไซเคิลได้ไม่ยาก หรือนำไปทำคอกเลี้ยงเป็ด ล้อมแปลงผัก หรือกันแดดก็ยังได้

แต่ขอถามจริงๆ ทำไมไม่ห่วงสถานการณ์ที่เห็นกันชัดๆ แล้ว คือปัญหาโลกร้อนซึ่งร้อยละ 72 เกิดจากการเผาพลังงานฟอสซิลในภาคการผลิตไฟฟ้าและการขนส่ง

รู้ไหม ผลการสำรวจความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ที่มีอายุระหว่าง 18 ถึง 35 ปี (ซึ่งเป็นคนที่จะต้องขับเคลื่อนโลกต่อไป) โดย World Economic Forum เมื่อปี 2560 พบว่า ปัญหาที่พวกเขากังวลมากที่สุด 3 ปัญหาแรกคือ ปัญหาโลกร้อน (49%) ปัญหาความขัดแย้งขนาดใหญ่ (สงคราม) (39%) และปัญหาความเหลื่อมล้ำ (31%)

นอกจากนี้ร้อยละ 91 ของพวกเขายังเห็นด้วยถึงเห็นด้วยอย่างยิ่งว่า “วิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์แล้วว่ามนุษย์เป็นตัวการที่ทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน” 

ถามจริงๆ คุณเป็นห่วงเรื่องขยะแผงโซลาร์หรือเป็นห่วงเรื่องผลประโยชน์ของพ่อค้าฟอสซิลกันแน่ 

คำถามที่ 9 ไหนๆ ก็พูดเรื่องคนรุ่นใหม่กันแล้ว อยากทราบการจ้างงานในภาคโซลาร์เซลล์เป็นอย่างไร ยิ่งเทคโนโลยีก้าวหน้ามาก คนรุ่นใหม่เขากังวลเรื่องการตกงาน

ตอบ จากการศึกษาขององค์กรกรีนพีซประเทศไทย พบว่า ทุกๆ การผลิตไฟฟ้าจำนวนหนึ่งล้านหน่วยถ้าผลิตจากโซลาร์เซลล์จะมีการจ้างงานมากกว่าการผลิตจากถ่านหินถึง 8 เท่า

เท่าที่ทราบ ค่าแรงงานในการติดตั้งโซลาร์เซลล์จะอยู่ระหว่างกิโลวัตต์ละ 3,000 ถึง 5,000 บาท (ราคาประเทศไทยนะ) ถ้ามีการติดตั้งปีละ 1,000 เมกะวัตต์ (หรือ 3.33 แสนหลัง) ค่าแรงอย่างเดียวก็ประมาณ 4,000 ล้านบาท (ปี 2560 รัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งมีประชากรไม่ถึง 40 ล้านคน ติดตั้ง 1,128 เมกะวัตต์)

เงินจำนวนนี้ก็จะหมุนไปอยู่ในชุมชนนั่นแหละ ถือเป็นการลดความเหลื่อมล้ำได้ด้วย

อ้อ เนื่องจากอายุการใช้งานประมาณ 25 ปี เมื่อครบอายุแล้วก็ต้องมีการจ้างซื้อและติดตั้งใหม่ การจ้างงานจึงไม่สิ้นสุด ทำไมเรื่องแค่นี้รัฐบาลจึงคิดไม่ออกนะ

คำถามที่ 10 หมดคำถาม แต่มีอะไรจะเพิ่มเติมและสรุป

ตอบ โรงเรียนในสหรัฐอเมริกาเกือบ 4 พันโรงติดโซลาร์เซลล์ สามารถนำค่าไฟฟ้าที่ประหยัดได้ปีละ 78 ล้านดอลลาร์ สามารถนำมาจ้างครูได้ 1 พันกว่าคน

ย้อนมาดูปัญหาในบ้านเรา เช่น โรงพยาบาลซึ่งใช้ไฟฟ้ามากในเวลากลางวัน ถ้าติดโซลาร์เซลล์แล้วประหยัดค่าไฟฟ้าได้หน่วยละเกือบ 3 บาท หลังคาก็ว่าง ถ้าสามารถประหยัดได้ปีละ 4 แสนบาท ก็น่าสนใจนะ ผู้ป่วยจะได้รับประโยชน์มากขึ้น

กลไกความสำเร็จที่สำคัญมากๆ คือ ระบบ Net Metering เพราะเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ไม่ต้องลงทุนเพิ่ม ถ้าไม่มีก็ต้องใช้แบตเตอรี่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่คุ้มทุนสำหรับบ้านอาศัย

การที่รัฐบาลไม่ยอมให้มีก็เหมือนกับรัฐบาลยืนบังแดดประชาชน รัฐก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร ผู้บริโภคก็เสียโอกาส ผู้ที่ได้ประโยชน์คือกลุ่มพ่อค้าพลังงานฟอสซิล

 


กำลังโหลดความคิดเห็น