สตูล - กลุ่มเกษตรกรเพาะเลี้ยงปลากัดภาคใต้ เปิดตลาดปลาสวยงาม ได้รับความสนใจจากนักเพาะพันธุ์ปลาร่วมชมเพียบ เผยช่องทางตลาดต่างประเทศยังเปิดกว้าง
วันนี้ (27 ส.ค.) ที่ร้านกาแฟ “ความกดอากาศต่ำ” ต.คลองขุด อ.เมือง จ.สตูล กลุ่มเกษตรกรเพาะเลี้ยงปลากัดภาคใต้ และกลุ่มเลี้ยงปลากัดจากประเทศมาเลเซีย นำปลากัดมาโชว์ความสวยงาม ซึ่งมีการเพาะเลี้ยงแบ่งสายพันธุ์สวยงาม สีสันแปลกตา เพิ่มราคาเป็นหลักหมื่นบาท ซึ่งได้รับความสนใจจากเด็กมาร่วมชมปลาในโอกาสนี้ด้วย
ดร.สหภพ ดอกแก้ว นักวิชาการประมงชำนาญการ คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ปลาสวยงามมีการซื้อกันในเชิงคุณภาพมากกว่าการซื้อในเชิงปริมาณ เพราะฉะนั้น ราคาจะถูกกำหนดจากผู้ซื้อและผู้ขายที่จะตกลงกัน ปลาทุกตัวนั้นมีต้นทุนที่เท่ากัน แต่ราคาที่จะสูงขึ้นนั้นอยู่ที่ความพึงพอใจและการคัดเลือกของผู้ซื้อและผู้ขาย เพราะฉะนั้น การทำสินค้าชนิดหนึ่งขึ้นมาที่มีคุณภาพ ทำให้ราคาสูงแบบไม่มีขีดจำกัด เพราะไม่ใช่สินค้าจำเป็น เช่น ข้าวสาร น้ำตาล ดังนั้น ปลาสวยงาม และปลากัดราคามันไม่หยุด
หลายท่านมองว่าเศรษฐกิจไทยไม่ดี ธุรกิจได้ปิดตัวลงเพราะหลายสถานการณ์ ตลาดเปลี่ยนแปลงไป ผู้ซื้อไม่ไปหาตลาด แต่จากการไปเยี่ยมฟาร์มปลากัดพบว่า ปลากัดยังเป็นสินค้าตัวหนึ่งที่ยังผลิตไม่พอต่อการจำหน่าย ปัจจุบัน ปลากัดมีการส่งออกไปต่างประเทศ ปีละเป็นล้านตัว ไปจนถึงสหรัฐอเมริกา อิหร่าน อย่างประเทศอิหร่าน ปีหนึ่งเขาใช้ปลากัดเกือบล้านตัวเพื่อเป็นของขวัญในวันปีใหม่ของเขา ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งมงคลของเขา เกษตรกรไทยต้องเตรียมออเดอร์สำหรับประเทศอิหร่านเป็นล้านตัว
ปลากัดของไทยมีคุณภาพทั้งสีสัน และรูปทรงที่แปลกและมีการพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ ปลากัดไทยจึงถูกส่งออกไปยังประเทศต่างๆ เยอะมาก ด้วยปัจจุบันการค้าการตลาดที่แคบลง สามารถติดต่อผู้ซื้อและผู้ขายได้ตรง ลอจิสติกส์มันสั้นขึ้น กระบวนการมันง่ายขึ้น ทำให้ปลากัดตัวเดียวเราสามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ ไม่จำเป็นต้องทำเป็นบริษัท อย่างผู้เพาะปลากัดสมัครเล่นเขาสามารถขายปลากัดได้ตัวละเป็น 1-5 พันบาท หลักหมื่นได้ คุยกับต่างชาติและเราก็ส่งผ่านชิปปิ้งโดยค่าส่งตัวหนึ่งประมาณหลักร้อย ก็ต้องคุยกับทางผู้ส่ง อนาคตปลากัดจึงยังไม่หยุด รวมถึงปลากัดมีสีสันมากมายหลายสี มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมด้วยยีนควบคุมสีหลายตำแหน่ง ในปีนี้สามารถผลิตสีนีโม่ ปีที่แล้วมีปลากัดที่คล้ายปลาคาร์ป เรียกว่าโค้ย ซึ่งในปีหน้าเราอาจมีปลากัดสีอื่นๆ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ปลากัดพัฒนาไปเยอะ ทั้งสี ทั้งรูปทรง อนาคตยังอีกไกล
สำหรับการปรับตัวของเกษตรกรนั้น ดร.สหภพ ดอกแก้ว กล่าวว่า เกษตรกรต้องหาตลาดให้เจอ ต้องคลุกคลีกับตลาดปลาสวยงาม บางท่านอาจทำปลากัดมือเลี้ยงสมัครเล่นขายได้ราคาหลัก 5 บาท 10 บาท 20 บาท แต่ถ้าทำเยอะๆ ก็สามารถสร้างรายได้ให้เดือนละเป็นแสนบาท บางท่านอาจจะทำปริมาณน้อย แต่คุณภาพสูง ตัวหนึ่งมีราคาสูงถึงหลักพันถึงหลักหมื่น เห็นไหมว่าปลากัดนั้นมีราคาตั้งแต่หลักหน่วยจนถึงหลักหมื่น ผู้ที่จะทำปลากัดต้องมองตลาดให้ออกและทำตลาดเอง จะเบนเข็มไปทางไหน จะทำเป็นปริมาณหรือทำเป็นคุณภาพ หาให้เจอเพราะตลาดปลากัดในปัจจุบันมันหาง่ายในโซเชียล ปัจจุบันเราสามารถโพสต์ขายปลากัด ถ้าปลากัดเรามีคุณภาพมีปริมาณเพียงพอส่งออกเราสามารถคุยกับผู้ซื้อได้โดยตรงเลย
ในส่วนของการจัดประกวดนั้น เป็นสิ่งหนึ่งที่กระตุ้นให้มีการพัฒนาสายพันธุ์ เมื่อมีการประกวดตั้งแต่ปี 2541 เริ่มต้นโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล็งเห็นว่าปลากัดเป็นปลาของไทยเราเอง มีการผลิตและมีความหลากหลายของสี จึงมีแนวคิดจัดประกวดปลากัดสวยงามขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งในสมัยก่อนคนไม่มีการพัฒนาปลากัดจนมีการประกวดขึ้น มีเงินรางวัล มีแรงจูงใจ แต่ละฟาร์มก็จะผลิตปลาที่มีคุณภาพตรงตามที่กรรมการคอมเมนต์ก่อนยังไม่มีมาตรฐาน
จนในยุคหนึ่งเมื่อ 10 ปีที่แล้ว กรมประมงมีการจัดทำมาตรฐานปลากัด ว่า ปลากัดแต่ละประเภทควรมีลักษณะอย่างไร จากนั้นเกษตรกรก็ผลิตเพื่อให้ตรงตามมาตรฐาน เมื่อตรงตามมาตรฐานจึงเกิดการพัฒนาสายพันธุ์ ตัวไหนไม่ตรงมาตรฐานก็จะถูกคัดทิ้ง จนปัจจุบันปลากัดมีหลากหลายสายพันธุ์มาก มีทั้งรูปทรง มีทั้งสีสันจนทำให้ปลาไม่มีคุณภาพตกไปอยู่ในตลาดล่าง แต่ไม่ใช่ว่าที่มีราคาถูกจะขายไม่ได้ โดยปลาหลัก 5-20 บาท กลับเป็นปลาที่ขายง่ายสำหรับมือสมัครเล่นใหม่ๆ และจะเป็นปลาที่สามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ จะเห็นว่าปลากัดจะมีตลาดที่น่าสนใจ
สำหรับตลาดปลากัดนั้น น.ส.สุวรรณีย์ แสงดี ชิปปิ้งรวบรวมเพื่อส่งออก รวบรวมปลาประกวดทั้งในและต่างประเทศเกษตรกรเพาะเลี้ยงปลาสวยงามดีเด่น ประจำจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า ถ้าเป็นจำนวนมากๆ เลย ก็คือประเทศอินเดีย จะเป็นปลาเกรดรอง ในส่วนของปลาประกวดนั้นประเทศที่ต้องการเยอะสุดจะเป็นประเทศสิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย ระดับรองลงมาเรื่อยๆ จะไปถึงเยอรมนี ยุโรป ออสเตรเลีย ส่วนที่เพิ่งจะมีงานประกวดคือ ประเทศเกาหลี จีน ในโซนเอเชียที่มีการประกวดในระดับ IBC หรือมาตรฐานในไทยค่อนข้างมาตรฐานคล้ายกัน เพราะฉะนั้น การส่งออกแล้วให้มีรายได้เพิ่มพูนมากขึ้นก็จะเป็นปลาที่ได้มาตรฐานในงานประกวดของแต่ละประเทศนั้นๆ คือ ตามคลาสที่มีกำหนดไว้ อย่างประเทศสิงคโปร์ ก็จะจัดประกวดคลาส IBC ซึ่งจะมีคลาสย่อยเยอะมาก
ส่วนตัวเองนี้เป็นคนหนึ่งที่รวบรวมปลาในเมืองไทยไปประกวดต่างประเทศ ที่จะไปบ่อยๆ จะเป็นสิงคโปร์ อินโดนิเซีย มาเลเซีย ลาว เวียดนาม ในโซนเอเชียที่มีการประกวดเขาก็จะมีหนังสือเชิญมาและดูแลเราทุกอย่าง แต่ให้เป็นตัวแทนประเทศไทยเพื่อไปประกวด เท่ากับเป็นการสร้างชื่อเสียงให้คนไทย สำหรับเกษตรกรเพิ่งเพาะเลี้ยงในบ้านเราให้ได้มีราคาที่สูงขึ้น หากมีการส่งประกวดบ่อยๆ มีชื่อเสียง หรือได้รับรางวัลในงานประกวดต่างชาติ ชาวต่างชาติก็จะจดจำผู้ชนะต่างๆ เขาก็จะติดต่อกันเองโดยตรง จากนั้นก็จะให้เขาติดต่อซื้อขายกันเองโดยตรง ตัวหนึ่งมีราคาหลัก 5,000, 15,000 หรือ 20,000 บาทก็มี แล้วแต่ว่าปลาตัวนั้นได้แชมป์อะไรมาจากการประกวดในคลาสไหน
ปลากัดมีคุณค่าอย่างไร น.ส.สุวรรณีย์ แสงดี (คุณแอน) บอกว่า เวลาเขาว่าย เขาพองตัว ยิ่งเป็นปลาหางยาวเรานั่งดูเขาเราจะเพลิน จะทำให้เราใจเย็นลง ทั้งนี้หลังจากเลี้ยงกัดมาประมาณ 10 ปี มันทำให้เราใจเย็นลงมากจริงๆ จากที่เดิมเป็นคนอารมณ์ร้อน หงุดหงิดง่าย เวลาเหนื่อยจากงานก็จะมาดูปลา ให้ปลาพองตัวให้อาหาร ดูไปเรื่อยๆ
ในส่วนของความชื่นชอบของแต่ละประเทศนั้นไม่เหมือนกัน อย่างประเทศสิงคโปร์ เลี้ยงเล่นจะน้อย ส่วนใหญ่จะเลี้ยงประกวดชิงรางวัล ส่วนใหญ่จะเลี้ยงปลากัดเป็นงานอดิเรก เป็นความชอบส่วนตัวได้พบเจอเพื่อนใหม่ๆ จากประเทศต่างๆ เวลาไปประกวด ส่วนประเทศอย่างโซนอเมริกา ยุโรป เขาจะชอบเรื่องสีสันที่โดดเด่น สีแปลกๆ หรือปลาที่มีแพตเทิร์นแปลกๆ จะขายดีมาก อันนั้นจะไม่คำนึงถึงมาตรฐาน จะคำนึงความสวยงามและความสนใจเขา ถ้าเขาถูกใจปลาตัวนี้แพงเท่าไรเขาก็ซื้อ
สำหรับเกษตรกรที่สนใจจะเพาะพันธุ์ปลากัดขายนั้น น.ส.สุวรรณีย์ แสงดี แนะนำว่าอยากให้ศึกษาหาข้อมูลก่อนว่าจะเพาะพันธุ์ปลาเกรดแบบไหน เกรดมาตรฐานประกวด หรือเกรดเลี้ยงเล่น สวยงาม หรือเกรดส่งออกแบบจำนวนเยอะๆ และอยากให้คำนึงถึงพื้นที่ที่ใช้เพาะพันธุ์ว่าจะทำเป็นอาชีพเสริมหรืออาชีพหลัก หลักสำคัญอีกจุดหนึ่งคือ อยากให้คำนึงถึงทุนที่เราจะเริ่มลงทุน
ด้าน นายเจริญ สุพรส (บังหมัด) ประธานกลุ่มเกษตรกรเพาะเลี้ยงปลากัดภาคใต้ กล่าวว่า ข้อดีของการรวมกลุ่มกันขึ้นมานี้ อย่างเช่นเมื่อมีออเดอร์จากต่างประเทศ แต่เราทำปลาอยู่คนเดียวมีปลาสายพันธุ์เดียว ก็สามารถนำปลาจากเพื่อนคนอื่นที่เพาะสายพันธ์อื่นนำไปให้ลูกค้าได้ตามความต้องการ ซึ่งออเดอร์ที่มีส่วนใหญ่เป็นลูกค้าจากสิงคโปร์จะให้ราคาดี ส่วนลูกค้าที่ซื้อเยอะก็จะเป็นลูกค้าชาวมาเลเซีย ส่วนลูกค้าจากลาว ก็เริ่มมีเข้ามาแล้ว กระแสตอบรับถือว่าดีมากในตอนนี้ ปลากัดยิ่งทำยิ่งสวยก็ยิ่งขายดี ส่วนราคาก็ดี ยิ่งปลาประกวดซึ่งเป็นปลาคุณภาพก็จะมีราคาสูงถึงหลักหมื่นบาท
ถามว่าตลาดชื่นชอบปลาแบบไหนนั้น ตอนนี้ก็จะเป็นปลากัดนีโม ซึ่งชื่อนี้จะให้จำได้ง่าย สีสันจะคล้ายนีโม มีสีเหลือง ส้ม แดง ตัดกันแบบชัดเจน ตลาดต่างประเทศจะชอบมาก แต่ปลาเกรดจะสั่งไม่เยอะ เพราะตัวหนึ่งราคาจะอยู่ที่หลัก 3,000 บาท ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่สนใจก็จะเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง ถ้ามีงานประจำอยู่แล้ว ก็อาจทำเป็นอาชีพเสริม หรือสามารถกลายมาเป็นอาชีพหลักได้