xs
xsm
sm
md
lg

“กิ้งก่าได้ทอง” ภาษิตสอนคนที่ยังคงมนต์ขลังและกำลังจะเข้นข้นนับจากนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

2
 
คอลัมน์ : ดูรูปสวยแถมด้วยเกร็ดความรู้  /  โดย...สกนธ์ รัตนโกศล
1
 
“กิ้งก่า” เป็นสัตว์เลื้อยคลาน จัดเป็นสัตว์ป่าอนุรักษ์ชนิดหนึ่ง
 
กิ้งก่าโดยมากแล้วเป็นสัตว์กินเนื้อ โดยจะกินแมลงและสัตว์ขาปล้องเป็นหลัก มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Lizard, Iguana, Gecko และ Skink
 
สำหรับชื่อภาษาถิ่นในไทย “จั๊กก่า” ภาคเหนือ “กะปอม” ภาคอีสาน
 
ลักษณะทั่วไป กิ้งก่าลำตัวมีเกล็ดปกคลุม เป็นเกล็ดที่เกิดจากหนังกำพร้า (epidermis) และอาจมีแผ่นกระดูกจากผิวหนังชั้นหนังแท้ (dermis) มาร่วมด้วย ผิวหนังมีต่อมน้อยมาก ผิวหนังหยาบ หนาและแห้ง ช่วยในการป้องกันการระเหยของน้ำและป้องกันอันตราย
 
ผิวหนังประกอบด้วยหนังกำพร้าที่บาง แต่มีหนังแท้หนา ที่หนังแท้มีเซลล์เม็ดสีทำให้ผิวหนังมีสีต่างๆ เกล็ดส่วนใหญ่เกิดจากหนังกำพร้า มีเกล็ดถาวรตลอดชีวิต และจะสร้างเกล็ดใหม่ใต้เกล็ดเดิม ทำให้เกล็ดเดิมแตกแยกออกหรือแตกเป็นชิ้นเล็ก
 
สีเกล็ดมีหลากหลายสีขึ้นอยู่กับชนิด อาทิ สีน้ำตาล สีเทา สีดำ สีน้ำเงิน สีเหลือง เป็นต้น และมักมีหลายสีผสมกันบนลำตัว
  
3
 
กิ้งก่ามีประโยชน์ช่วยสร้างสมดุลในระบบนิเวศ เพราะเป็นสัตว์ผู้ล่า คอยจับกินแมลงต่างๆ ช่วยกำจัดแมลงศัตรูพืชในแปลงเกษตรได้เป็นอย่างดี
 
ที่สำคัญกิ้งก่ายังสามารถนำมาใช้ประกอบอาหารได้หลายชนิด อาทิ ปิ้ง ทอด คั่ว และทำน้ำพริก 
 
กิ้งก่ามีความผูกพันกับสังคมไทยมาตั้งแต่อดีต ดังปรากฏในนิทานเรื่อ ง “มโหสถชาดก” เป็นเรื่องราวครั้งที่พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็น “มโหสถ” บัณฑิตเจ้าปัญญา รับราชการในพระเจ้าวิเทหราช ผู้เป็นราชาแห่งเมืองมิถิลา
 
4
 
เรื่องมีอยู่ว่า วันหนึ่งพระเจ้าวิเทหราชเสด็จประพาสอุทยานกับมโหสถ มีกิ้งก่าตัวหนึ่งเห็นทั้งคู่เดินมาด้วยกัน ก็ไต่ลงจากเสา มาทำท่าหมอบกราบอยู่เบื้องหน้าพระราชา
 
เมื่อพระราชาเห็นดังนั้นจึงตรัสถามมโหสถว่า กิ้งก่าทำอะไร มโหสถจึงตอบไปว่า กิ้งก่าตัวนี้มาถวายบังคม จะถวายตัวแก่พระราชา
 
พระเจ้าวิเทหราชเห็นว่า กิ้งก่าตัวนั้นเป็นกิ้งก่าแสนรู้ จึงตรัสว่าควรจะให้สิ่งตอบแทนกับมัน มโหสถจึงแนะนำให้พระราชาพระราชทานเนื้อให้มันกิน พระราชาจึงรับสั่งให้ราชบุรุษผู้เฝ้าอุทยานซื้อเนื้อมูลค่าครึ่งมาสก (หนึ่งมาสก มีค่าเท่ากับทองซึ่งน้ำหนักเท่าข้าวเปลือกสี่เมล็ด) มาให้มันกินทุกวัน เจ้ากิ้งก่ามีเนื้อกินทุกวัน ก็ทำความเคารพพระราชาและราชบุรุษเสมอ
 
5
 
ทว่าในวันหนึ่งเป็นวันอุโบสถ ไม่มีการฆ่าสัตว์ ราชบุรุษจึงไม่อาจหาเนื้อให้มันกินได้ จึงนำเหรียญทองราคาครึ่งมาสกที่พระราชาพระราชทานเป็นค่าเนื้อนั้น ผูกไว้ที่คอมันแทน
 
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเจ้ากิ้งก่าก็คิดว่า ตนเองมีทรัพย์ คือเหรียญทอง เหมือนพระราชาแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องทำความเคารพพระราชาหรือใครอีก จึงขึ้นไปชูคออยู่บนซุ้มประตูอุทยาน 
 
วันหนึ่งพระราชามาประพาสสวนกับมโหสถอีกครั้ง พบเจ้ากิ้งก่าชูคออยู่บนซุ้มประตูอุทยาน ไม่ลงมาหมอบถวายบังคมเช่นเคย จึงไต่ถามราชบุรุษผู้เฝ้าสวน ได้ความว่าเมื่อเจ้ากิ้งก่าได้เหรียญทองไปแล้ว ก็ไม่ยอมทำความเคารพใครอีก
 
จึงจะประหารเจ้ากิ่งก่า แต่มโหสถทัดทานไว้ พระราชาจึงลงโทษด้วยการเลิกพระราชทานเนื้อให้มันตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
 
6
 
จากเรื่องราวดังกล่าว จะเห็นได้ว่าเจ้ากิ้งก่านั้นเมื่อได้เหรียญทอง จึงเกิดความทะนง ไม่ทำความเคารพผู้มีพระคุณเหมือนที่เคยเป็นมา ทำให้มันถูกลงโทษในท้ายที่สุด
 
ดังนั้นเมื่อเราได้มีทรัพย์สมบัติ มีชื่อเสียง มีคนยกย่องสรรเสริญอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนแล้ว ก็ไม่ควรยกตัวเหนือผู้มีพระคุณหรือผู้อื่นเหมือนกับเจ้ากิ้งก่า นั่นจึงเป็นที่มาของสุภาษิตสำนวนไทยว่า... 
 
“กิ้งก่าได้ทอง”
 
อันหมายความว่า คนที่ “หลง” ลาภยศสรรเสริญแล้วทะนงตน คิดว่าตัวเองจะอยู่ไปได้อีกนับ 20 ปี ลืมผู้ที่เคยฟูกฟักอุ้มชูน่ะขอรับ
 
7
8
9
10
11
12
14
13
 
บรรณานุกรม 
 
- pasusat.com › รวมพันธุ์สัตว์อื่นๆ › กิ้งก่า หรือ กะปอม และวิธีการจับ
-  www.vcharkarn.com/varticle/503254
https://th.wikipedia.org/wiki/กิ้งก่า
 


กำลังโหลดความคิดเห็น