โดย...ยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที
.
น้องๆ วินมอเตอร์ไซค์บนถนนพระอาทิตย์ เขตพระนคร ใจกลางกรุงเทพมหานคร อันใกล้กับสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ของสื่อเครือผู้จัดการนี่เองถามผมว่า...
“พี่หมีผูกพันอะไรกันนักหนากับแม่ค้าพ่อค้าขายข้าวหลาม ซึ่งแห่กันมาจาก จ.ขอนแก่น ดินแดนแห่งภาคอีสาน”
จริงๆ เรื่องมันยาว แต่ผมเพียงบอกกับน้องๆ วินมอเตอร์ไซค์ไปว่า...
“รู้ไหม! พี่รู้สึกผูกพันกับพวกเขามา 30 กว่าปีแล้ว ตั้งแต่พี่เข้าเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์บนถนนสายนี้”
แล้วก็เพิ่มเติมข้อมูลให้ด้วยว่า ช่วงยังเรียนมหาวิทยาลัยช่วงปี 2528 ตกเย็นฟ้าใกล้ค่ำ รุ่นพ่อของพวกเขาต้องมานอนกางมุ้งอยู่ใต้สะพานพระปิ่นเกล้าฯ
พวกเขาใช้คานหามและตะกร้าหิ้วขายแบบที่เห็นทุกวันนี้นี่แหละ วางเรียงกันไม่ต่ำกว่า 30-40 สิบอัน ซึ่งบ่งบอกว่ามีคนที่ขายข้าวหลามไม่น้อยกว่า 30-40 คน มีมุ้งกางวางเรียงกันเต็มเป็นระเบียบเรียบร้อย
ผมเดินออกจากประตูของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้านถนนพระอาทิตย์เพื่อกลับหอพัก ทุกวันก็จะแวะสนทนาทักทายกับพวกเขาเหล่านี้ว่าขายดีไหม? วันนี้เดินไปขายที่ไหนบ้างลุง? มาจากขอนแก่นกี่วันแล้ว? คิดถึงบ้านบ้างไหม?
เป็นบทสนทนาตามประสาเด็กต่างจังหวัดที่ต้องจากบ้านมาไกลเหมือนๆ กัน ผมซักถามพวกเขาจนคุ้นเคยกับคนรุ่นพ่อหรือรุ่นปู่ของคนที่นั่งอยู่ในรูปเหล่านี้
เขาเหล่านี้คือ “ขบวนการกองทัพข้าวเหนียวหลาม” ผู้ต้องดิ้นรนหาเงินสดที่มีอยู่มากมายในเมืองหลวงของประเทศ เก็บเล็กผสมน้อยแล้วส่งเงินไปหล่อเลี้ยงชุมชนในภาคชนบท
เมื่อเรียบจบจากมหาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ ได้มาใช้ชีวิตเป็นผู้นักข่าวกับทางกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ซึ่งมี คุณสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นบรรณาธิการใหญ่
ในสมัยนั้น คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ได้มอบหมายให้ผมไปสืบเจาะตามไปดูวิถีชีวิตของพวกเขาในชนบท แล้วเอามาเขียนเล่าเรื่องในหนังสือพิมพ์ให้สังคมได้รับรู้ถึงวิถีชีวิตเพื่อนร่วมชาติกลุ่มหนึ่ง
กลุ่มคนชนบทผู้ดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อหาเงินสดในเมืองหลวง
คราวนั้นผมเดินทางลงพื้นที่ไปยังบ้านหนองไผ่ อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น จำได้ว่าช่วงใกล้ฤดูหนาวของปีนั้น ท้องทุ่งนาข้าวเหนียวที่บ้านหนองไผ่ชาวบ้านกำลังช่วยกันเกี่ยวข้าวอย่างสนุกสนาน
หลังกลับจากไปเรียนหนังสือที่อเมริกามาในปี 2538 ผมกลับมาก็ยังสอบถามติดตามพวกเขาอยู่ แล้วก็ทราบว่าทาง “เทศกิจ กทม.” ในยุคนั้นไม่ยอมให้พวกเขานอนกันใต้สะพานปิ่นเกล้าฯ อีกต่อไปแล้ว
มีการนำรั้วไปปิดกั้นไม่ให้ “ขบวนการคนยากจากชนบท” เข้าถึงพื้นที่ใต้สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้
แน่นอนว่านั่นต้องทำให้ต้นทุนชีวิตของพวกเขาเพิ่มขึ้น พวกเขาต้องดิ้นรนไปหาเช่าที่พักหรือบ้านเล็กๆ ตามซอกหลืบของเมืองหลวงอยู่รวมกันเพื่อการประหยัด งก็ยังอยู่ในละแวกย่านสะพานพระปิ่นเกล้าฯ เช่นเดิม
อย่างน้อยที่สุดนี่ก็คืออีกหนทางที่เลือกได้ หรือที่ต้องเลือก หรือถูกทำให้เลือก ซึ่งพวกเขายังสามารถเจียดรายได้เป็นค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตทำมาหากินในเมืองหลวงได้
โดยพวกเขายังสามารถเจียดเงินส่วนที่ยังเหลือพอส่งกลับไปให้ลูกเมียได้ใช้จ่ายในชนบทบ้าง
ห้วงเวลา 33 ปีผ่านไป ผมถามหาบรรดาพี่ๆ น้องๆ ทั้งผู้ชายและหญิงที่นั่งเล่นนอนเล่นอยู่ใต้สะพานปิ่นเกล้าฯ เวลานี้ถือเป็นผู้อาวุโสในขบวนการคนยากที่เคยรู้จัก พวกเขาที่นั่งกันอยู่ริมฟุตบาทของถนนพระอาทิตย์เพื่อรอเพื่อนร่วมขบวนการนำพาข้าวหลามมาส่งให้ขาย
“อ๋อ! นั่นพ่อหนูนี่เอง”
“คนที่คุณว่านั่น ปู่ฉันเอง”
“นั่นผัวยายดิ้น”
“คนนั้นตายจากกันไปหลายปีแล้ว...”
ฯลฯ
จะว่าไปแล้ว บรรดาเพื่อนร่วมชาติที่ผมคุยด้วยนี่ถือเป็น “คนรุ่นที่ 3” ที่สืบทอดลมหายใจของขบวนการคนยากจากบ้านหนองไผ่ อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น
นี่คือวิถีชีวิตที่เกิดขึ้นจริงของเพื่อนร่วมชาติกลุ่มหนึ่ง คือการดิ้นรนเพื่อให้รอดพ้นปัญหาทางเศรษฐกิจที่ยังไม่เคยมีเวลาหยุดนิ่ง เพื่อควานหาเม็ดเงินในเมืองหลวง แล้วรวบรวมส่งไปเลี้ยงลูกเลี้ยงหลานที่ชนบท