คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู / โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
.
ช่วงปลายสมัยราชวงศ์เล ราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เกิดการแย่งชิงอำนาจและมีกบฏอยู่เนืองๆ ประมาณ พ.ศ.๒๑๐๑ เหงียน ฮอง เป็นข้าหลวงไปปราบปรามภาคใต้จนสงบราบคาบ แต่มีเหตุบาดหมางกับตริ เกียม ผู้เป็นพี่เขย เป็นขุนนางที่คอยอุปถัมภ์ราชวงศ์เลที่กำลังอ่อนแอ และกุมอำนาจอยู่ทางเหนือ ความขัดแย้งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นศึกระหว่างตระกูเหงียนที่ลงไปอยู่ทางใต้ ถือว่าพวกตรินแย่งราชสมบัติ ส่วนพวกตรินกล่าวหาว่า พวกเหงียนกระด้างกระเดื่องต่อราชสำนัก
พ.ศ.๒๒๐๓ เวียดนามถูกแบ่งเป็น ๒ อาณาจักร ทางเหนืออยู่ใต้อำนาจของตระกูลตริน เรียกว่า “แคว้นตังเกี๋ย” ส่วนทางใต้เรียกว่า “แคว้นอินโดจีน” อยู่ในอิทธิพลของตระกูลเหงียน ถือเอาแม่น้ำซง เกียน เป็นเส้นแบ่งเขตแดน และมีการรบพุ่งผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะตลอดเวลา ขณะนั้นกษัตริย์ยังคงเป็นคนในราชวงศ์เล
พ.ศ.๒๓๑๔-๒๓๔๕ เกิดกบฏไตเซิน ทำให้อำนาจของทั้งสองตระกูลเริ่มเสื่อมลง เหงียน อัน หลานของเจ้าผู้ครองอาณาจักรทางใต้คนสุดท้าย ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเพียงคนเดียวที่รอดชีวิตจากการสังหารหมู่โดยพวกไตเซิน ได้ลี้ภัยไปขอความช่วยเหลือจากอาณาจักรสยาม สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แต่ไม่อาจช่วยเหลือได้ เพราะสยามกำลังต่อสู้เพื่อสร้างชาติสร้างแผ่นดิน เหงียน อัน คือ องค์เชียงสือ นั่นเอง
เหงียน อัน กลับไปขอความช่วยเหลือจากบาทหลวงฝรั่งเศสนิกายเยซูอิด เจ้าคณะแห่งเมืองอาดรัง (Bishop of Adran) ชื่อ ปิโย เดอ เบแอน (Pigneau de Behaine) ร้องขอไปยังสำนักแวร์ซายส์ แต่เหงียน อัน ปราบกบฏได้ก่อน ด้วยการช่วยเหลือของกองกำลังอาสาสมัครฝรั่งเศสที่ประจำอยู่ในเวียดนาม เหงียน อัน สถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์มีพระนามว่า จักรพรรดิเยีย ลอง พร้อมกับตั้งเมืองเว้เป็นราชธานี
เว้ เป็นราชธานีติดต่อกันมา ๑๔๓ ปี ภายใต้การปกครองของจักรพรรดิ ๑๓ พระองค์ แล้วราชวงศ์เหงียนก็สิ้นสุดลงในสมัยกษัตริย์เบาได๋ปี พ.ศ.๒๔๘๘ แต่ความจริงอำนาจแห่งราชธานีสูญเสียไปตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๐๑ สมัยกษัตริย์ตู ดิ๊ก ที่เกิดกรณีสังหารพวกมิชชันนารี ทำให้ฝรั่งเศสอ้างเป็นเหตุเข้ายึดครองเป็นอาณานิคมในเวลาต่อมา
เมืองเว้เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรม สิ่งปลูกสร้างและสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดอีกแห่งหนึ่งของเวียดนาม แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของเมืองเว้แห่งแรกที่พวกเราไปเยี่ยมชม คือ วัดเทียน หมุ (Thien Mu Pagoda) “เทียน หมุ” แปลว่า เทพธิดา วัดพุทธมหายานริมฝั่งแม่น้ำหอม มีอายุมากกว่า ๔๐๐ ปี มีเจดีย์ ๘ เหลี่ยม สูง ๒๑ เมตร สร้างใน พ.ศ.๒๔๒๗ ที่โดดเด่นเห็นมาแต่ไกลเป็นสัญลักษณ์ของเมืองเว้
วัดเทียน หมุ เกี่ยวข้องกับเรื่องราวที่เคยโด่งดังกระฉ่อนโลก คือ กรณีการเผาตัวเองประท้วงรัฐบาลโดย พระกว๋าง ดิ๊ก (Thich Quang Duc) พ.ศ.๒๕๐๖ เมืองเว้ภายใต้การปกครองของเวียดนามใต้ที่มี โง ดินห์ เดียม เป็นประธานาธิบดี สร้างความขัดแย้งทางศาสนาระหว่างชาวพุทธกับชาวคาทอลิกที่สุด ชาวพุทธได้รวมตัวกันชุมนุมเกิดการประท้วงครั้งใหญ่ และ ภิกษุทิ๊ก กว่าง พระแห่งวัดเทียน หมุ ตัดสินใจกระทำอัตวินิบาตกรรม ด้วยการเผาตัวเองที่กรุงไซ่ง่อน เพื่อต่อต้านรัฐบาล
ปัจจุบันภาพของภิกษุทิ๊ก กว่าง และรถยนต์ยี่ห้อออสติน สีฟ้า คันที่นำภิกษุรูปนี้เดินทางไปไซ่ง่อนยังคงถูกเก็บรักษาไว้ที่วัดเทียน หมุ เพื่อยืนยันประวัติศาสตร์หน้าที่มัวหมองของเวียดนามอีกหน้าหนึ่ง
ล่องแม่น้ำหอมยามราตรีด้วยเรือหัวมังกร ชมแม่น้ำหอมยามค่ำคืนที่มีแสงไฟระยิบระยับเหมือนดาวบนท้องฟ้า เคล้าเสียงเพลงจากดนตรีพื้นบ้านพื้นเมืองประเภทเครื่องสาย และเสียงขับร้องของนักร้องหนุ่มสาวในชุดอ๋าวใหญ่ ชุดแต่งกายประจำชาติของชาวเวียดนาม ค่าล่องเรือเดิมจะอยู่ที่ประมาณคนละ ๑๐๐,๐๐๐ ด่อง หรือประมาณ ๑๕๐ บาทไทย ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง ชมบรรยากาศยามค่ำคืนของเมืองหลวงเก่า สะพานไอเฟล ซึ่งออกแบบโดย Mr.Gustave Eiffle คนเดียวกันกับที่ออกแบบหอไอเฟล กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส แต่คนไทยเรียกว่า “สะพานเจ็ดสี” เพราะมีการเปิดไฟสลับแสงสี มีเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์เท่านั้น
เที่ยวพระราชวังโบราณ หรือนครจักรพรรดิ (DAI NOI) มีกำแพงล้อมรอบสามชั้น สร้างในปี ค.ศ.๑๘๔๕ (พ.ศ.๒๓๘๘) สร้างตามความเชื่อแบบจีน แบบพระราชวังกู้กง หรือพระราชวังต้องห้ามของจีน ชมพระราชบัลลังก์ ห้องทรงพระอักษร ที่ทำการขุนนางทั้งฝ่ายปกครอง และกลาโหม ชมศาลบรรพกษัตริย์แห่งราชวงศ์เหงียนที่มาถูกทำลายเสียหายอย่างมากจากระเบิดในสมัยสงครามเวียดนาม
เขตพระราชฐานมีอาณาบริเวณพื้นที่ประมาณ ๑๐ ตร.กม. เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๓๔๗ หรือ ๒ ปีหลังจากที่กษัตริย์เยีย ลอง สถาปนาเมืองเว้เป็นราชธานี ชั้นในสุดถือเป็นเขตต้องห้ามสุดยอด ซึ่งมีเพียงขุนนาง เสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ และข้าราชบริพารส่วนพระองค์เท่านั้นที่สามารถจะเข้าไปได้
พระราชวังแห่งนี้เคยถูกประชาชนผู้ไม่พอใจรัฐบาลสมัยแบ่งแยกการปกครองประเทศ บุกเข้าทำลายจนเสียหายอย่างมาก แต่ปัจจุบันบางส่วนได้รับการบูรณะใหม่ และเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้
ป้อมปราการเมืองเว้ เมืองมรดกโลก พระเจ้าซาลอง (Gia Long) ดำริให้สร้างเมื่อย้ายราชธานีมาเมืองเว้ พ.ศ.๒๓๔๗ ป้อมปราการเมืองเว้ (Hue Citade) ประกอบด้วย กำแพง ๓ ชั้น แต่เดิมสร้างด้วยดิน ก่อนจะนำอิฐมาเพิ่มความแข็งแรงในภายหลัง กำแพงชั้นนอกที่มีหอธงใหญ่ยักษ์ตั้งอยู่ มีความยาวโดยรอบ ๑๐ กิโลเมตร ชั้นในสุดเป็นนครต้องห้าม (Forbidden Purple City) ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
พระราชวังต้องห้ามจำลองมาจากจีน หรือพระราชวังต้องห้ามที่กรุงปักกิ่ง โดยจักรพรรดิซาล ฮา ส่งช่างไปดูงานที่ปักกิ่งเมืองจีน ตัวป้อมปราการและพื้นที่ภายในได้รับความเสียหายหลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะจากภัยสงคราม ทั้งกับฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันประตูเหงาะ โมน (Ngo Mon) ซึ่งเป็นทางเข้าออกของกำแพงชั้นที่สอง และท้องพระโรงท้าย ฮว่า (Thai Hoa) หรือ Supreme Harmony Palace ซึ่งเคยถูกใช้ในวโรกาสพิเศษต่างๆ เช่น ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ประกอบพิธีราชาภิเษก รวมถึงหมู่ตำหนักทางด้านตะวันตกภายในกำแพงชั้นที่สอง ยังคงอยู่ในสภาพดี ส่วนพระราชวังชั้นในไม่มีให้เห็นแล้ว แต่รัฐบาลกำลังจำลองขึ้นใหม่ (ภาคิน ลิขิตธนกุล. ๒๕๕๖ : ๕๔)
(อ่านต่อตอนหน้า)