xs
xsm
sm
md
lg

สสจ.ภูเก็ต ตรวจหาต้นตอปลาร้าหนู เบื้องต้นยังไม่รู้แหล่งผลิต อ้างฝ่ายจัดซื้อไม่อยู่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - สาธารณสุขภูเก็ตลงพื้นที่ตรวจสอบหาต้นตอปลาร้าหนู ในห้างดัง พนักงานอ้างไม่ทราบแหล่งส่ง เหตุฝ่ายจัดซื้อไม่อยู่ ระบุสินค้ามาแบบแบ่งถุงสำเร็จจากแหล่งผลิต

วันนี้ (20 ส.ค.) นายสมนึก ฮาเล็ม หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบที่มาของปลาร้าที่มีหนูปนเปื้อน ในห้างดังแห่งหนึ่งของจังหวัดภูเก็ต ภายหลังมีหญิงสาวรายหนึ่งซื้อปลาร้าจากห้างดังกล่าวไปเพื่อประกอบอาหาร แต่เมื่อเปิดถุง และตักออกมากลับพบซากหนูปนอยู่ในถุงปลาร้าดังกล่าว และนำภาพและคลิปมาโพสต์ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวจนกลายเป็นข่าวโด่งดัง โดยมีหัวหน้าแผนกทั่วไปและเจ้าหน้าที่บางส่วนให้ข้อมูลเพื่อชี้แจงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบพบว่า วันนี้ทางห้างได้จัดเก็บถุงปลาร้าที่วางจำหน่ายออกหมดแล้ว รวมทั้งสั่งเก็บจากห้างสาขาด้วย หลังจากทราบว่าลูกค้าที่ซื้อไปพบหนูปนอยู่ในถุงปลาร้าดังกล่าว

จากการสอบถามหัวหน้าแผนกที่นำเจ้าหน้าที่ตรวจสอบจุดส่งของ รวมทั้งจุดวางสินค้า ทราบว่า ปลาร้าที่ขายในห้างเป็นปลาร้าที่ส่งมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จะมาส่งทุกสัปดาห์ โดยสินค้าที่ส่งจะส่งมาแบบแบ่งถุงสำเร็จแล้ว โดยใส่มาในปี๊บ ปิดด้วยฝาพลาสติก เมื่อทางห้างรับมาก็จะนำมาชั่ง และติดบาร์โค้ด และราคาสินค้า เพราะแต่ละถุงน้ำหนักไม่เท่ากัน เมื่อติดบาร์โค้ดและราคาเสร็จก็จะนำมาวางขายภายในห้าง และส่งไปขายตามสาขาต่างๆ

สำหรับปลาร้าที่นำมาขายที่ห้างนั้นสั่งมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนผลิตที่ไหนนั้นไม่ทราบ เนื่องจากคนที่ดำเนินการสั่งซื้อเป็นเรื่องของฝ่ายจัดซื้อ แต่วันนี้ฝ่ายจัดซื้อไม่อยู่ ที่ผ่านมา ก็ไม่เคยมีปัญหาอะไร เพราะร้านอาหารของห้างก็ใช้ปลาร้าที่สั่งมาจากที่เดียวกัน ซึ่งทราบว่าแหล่งที่สั่งปลาร้ารายนี้เป็นคนละรายกับเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาที่ลูกค้าพบงูในปลาร้า

เพราะหลังจากลูกค้าพบงูในถุงปลาร้าทางห้างก็เลิกสั่งปลาร้าเจ้านั้นมาขายทันที โดยสั่งซื้อจากเจ้าปัจจุบันแทน แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ก็คงจะต้องมีการตรวจสอบว่า หนูตัวดังกล่าวเข้ามาอยู่ในถุงปลาร้าได้อย่างไร แต่ขอยืนยันว่าปลาร้าที่ขายอยู่ทั้งหมดทางห้างไม่ได้มาแบ่งถุงเอง เป็นการแบ่งมาจากแหล่งผลิตแล้ว ทางห้างแค่เอาออกจากปี๊บมาวางขายเท่านั้น ซึ่งหลังจากทราบเรื่องก็ได้ดำเนินการเก็บปลาร้าออกทั้งหมดแล้ว

ขณะที่ นายสมนึก กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่า ปลาร้าที่ทางห้างนำมาขายเป็นปลาร้าที่บรรจุถุงแบบสำเร็จมาจากต้นทาง ซึ่งหลังจากนี้ ก็จะต้องตรวจสอบแหล่งผลิตว่ามีการตั้งโรงงานถูกต้องหรือไม่ มีการตรวจสอบขั้นตอนการผลิตว่าถูกสุขลักษณะหรือเปล่า หลังจากทราบว่าแหล่งผลิตอยู่ที่ไหนก็จะแจ้งไปยังสำนักงานสาธารณสุขในจังหวัดนั้นๆ ให้ดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งจากการสอบถามตอนนี้ยังไม่ทราบว่าแหล่งผลิตอยู่ที่ไหน

นอกจากนั้น อยากขอความร่วมมือทางห้างให้มีการสุ่มตรวจสินค้าก่อนทุกครั้งที่มีการเอาสินค้ามาส่งเพื่อให้เป็นไปด้วยความถูกต้อง และไม่เกิดข้อผิดพลาดขึ้นอีก เพราะก่อนหน้านี้ก็ตามที่ห้างแห่งนี้มีการจำหน่ายสินค้าประเภทปลาร้าที่มีซากงูอยู่ในถุง โดยแหตุเกิดเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา และครั้งนี้ก็มีการพบซากหนูในถุงปลาร้าอีก แม้ว่าจะสั่งมาจากคนละสถานที่ผลิตก็ตาม แต่อยากให้เพิ่มความเข้มในการสุ่มตรวจให้มากขึ้น

สำหรับบทลงโทษ ในกรณีผู้ใดผลิต หรือจำหน่ายอาหารที่ไม่บริสุทธิ์ มีสิ่งปลอมปนจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ



กำลังโหลดความคิดเห็น