xs
xsm
sm
md
lg

แปลงนาข้าวพันธุ์ท้องถิ่นภาคใต้ จ.ตรัง เป็นทั้งที่ท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
โดย...เมธี เมืองแก้ว
.
แปลงสาธิตนาข้าวพันธุ์ท้องถิ่นภาคใต้ เนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ ที่เป็นทั้งแหล่งเรียนรู้ และที่ท่องเที่ยงในที่เดียวกัน ตั้งอยู่ใน จ.ตรัง



 
เนื่องจากพื้นที่ทำนาปลูกข้าวในจังหวัดตรังที่ลดลงเรื่อยๆ เพราะถูกนำไปทำสวนยาง สวนปาล์ม หรือทำธุรกิจต่างๆ เหมือนอย่างเช่นอำเภอนาโยง ซึ่งตั้งอยู่ริมเทือกเขาบรรทัด และมีชื่อเริ่มต้นอำเภอด้วยคำว่า นา แถมยังมีชื่อตำบล หมู่บ้าน เกี่ยวกับนา อีกเป็นจำนวนมาก ก็เริ่มมีพื้นที่ทำนาปลูกข้าวลดลงเช่นกัน
 

 
ทั้งๆ ที่สภาพโดยรวมของอำเภอแห่งนี้ ก็มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติสูง โดยเฉพาะแหล่งน้ำ และระบบชลประทานที่มีอยู่ตลอดทั้งปี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยสนใจอาชีพนี้กันแล้ว โดยมองว่าหนักและเหนื่อย ขณะที่คนรุ่นเก่าก็เริ่มท้อ เพราะมีปัญหาต่างๆ มากมาย ส่งผลให้ผู้คนที่นี่ต้องไปซื้อข้าวจากภาคอื่นมากิน เพราะผลผลิตในจังหวัดตรังมีน้อยมาก
 

 
อย่างไรก็ตาม ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของกลุ่มเกษตรกรชาวนา โดยการสนับสนุนของศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง และสหกรณ์การเกษตรนาโยง จำกัด ที่มี "สมพร เต็งรัง" เป็นประธาน จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง "ศูนย์เรียนรู้เรื่องข้าวจังหวัดตรัง" เพื่อรวบรวมสายพันธุ์ข้าวท้องถิ่น ทั้งในจังหวัดตรัง และภาคใต้
 

 
โดยจะมีทั้งรูปแบบของการบรรยายให้ความรู้ การแสดงนิทรรศการ และการปลูกข้าวลงในแปลงสาธิต เนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ ที่แลดูเขียวขจี และสวยงาม บริเวณพื้นที่ทุ่งกระเจาะ ตำบลนาโยงเหนือ อำเภอนาโยง ซึ่งนอกจากเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องข้าวแล้ว ขณะนี้ยังกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่มีชื่อเสียงไปด้วย เนื่องจากจะมีการหมุนเวียนทำนาปลูกข้าวสายพันธุ์ต่างๆ กันไปตลอดทั้งปี
 

 
"สมพร เต็งรัง" บอกว่า สหกรณ์การเกษตรนาโยง ยังมีเป้าหมายที่จะขยายพื้นที่ทำนาปลูกข้าวในแปลงสาธิตเพิ่มขึ้นเป็น 35 ไร่ หรือมากกว่านั้นในอนาคต ด้วยการกว้านซื้อนาร้างใกล้เคียง พร้อมกับเชิญชวนให้เกษตรที่อยู่ใกล้เคียงให้หวนกลับมาทำนาปลูกข้าว แทนที่จะปล่อยทิ้งไว้เหมือนเช่นที่ผ่านมา โดยสหกรณ์การเกษตรนาโยง จะเป็นผู้สนับสนุนด้านเมล็ดพันธุ์ วิชาการ หรือเทคโนโลยี ให้ฟรี
 

 
เป้าหมายสำคัญของโครงการนี้ก็เพื่อต้องการให้อำเภอนาโยง ได้หวนกลับมาเป็นพื้นที่มีการทำนาปลูกข้าวมากที่สุดของจังหวัดตรัง จากปัจจุบันที่มีประมาณ 2 พันไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 3-4 พันไร่ ภายในระยะเวลา 5 ปี รวมทั้งมีผลผลิตใช้บริโภคกันทุกครัวเรือน หรือหากมีเหลือกินก็จะรวบรวมเพื่อนำมาขายในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด 15 เปอร์เซ็นต์ แถมยังปลอดภัยจากสารเคมีใดๆ ทุกชนิด
 

 
เอี้ยน แท่นมาก เกษตรกรชาวตำบลละมอ ซึ่งทำนาปลูกข้าวมาตั้งแต่บรรพบุรษ เล่าว่า อำเภอนาโยง มีทั้งหมด 6 ตำบล แม้ทุกพื้นที่จะมีการทำนาปลูกข้าว แต่ยังมีจำนวนที่น้อย เพราะติดขัดปัญหาหลายอย่าง เช่น ระบบกักเก็บน้ำ เมล็ดพันธุ์ หรือองค์ความรู้ จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง "ศูนย์เรียนรู้เรื่องข้าวจังหวัดตรัง" ขึ้น เพื่อต้องการสร้างเครือข่ายชาวนาให้เชื่อมโยงกัน
 

 
โดยผลผลิตส่วนหนึ่งจะปลูกในแปลงสาธิต และใกล้เคียง อีกส่วนหนึ่งจะกระจายไปทั่วทุกตำบล เพื่อให้อาชีพการทำนาหวนๆ๐ๆกลับมาสู่อำเภอนาโยง จนก่อเกิดท้องทุ่งที่เขียวขจีอันยิ่งใหญ่และสวยงามอีกครั้ง เพราะการทำนาปลูกข้าวในยุคปัจจบันมิได้เป็นเรื่องยากอีกแล้ว รวมทั้งยังเป็นอาชีพอันควรค่าแก่ความภาคภูมิใจด้วย
 













กำลังโหลดความคิดเห็น