คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู / โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
.
ย่ำเย็นวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๑ สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ มศว.จำนวนกว่า ๘๐ คนออกเดินทางจากโรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค รัชดา กทม. ด้วยรสบัส ๒ คันมุ่งหน้าสู่มุกดาหาร แวะทานมื้อค่ำที่ร่านอาหารน่านน้ำ ปากช่อง จากนั้นมุ่งหน้าสู่มุกดาหารยามกลางคืน แวะปั๊มน้ำมันให้ผู้โดยสารเข้าห้องน้ำเป็นระยะๆ จนถึงมุกดาหารตอนตีห้า แวะที่โรงแรมพลอยพาเลชให้สมาชิกอาบน้ำ ทำธุระส่วนตัวและทานมื้อเช้าที่โรงแรม
เวลา ๐๘.๐๐ น. ออกจากโรงแรมมุ่งหน้าไปยังด่านพรมแดนไทย-ลาว ข้ามไปยังสะหวันนะเขตด้วยรสบัสของเวียดนามจำนวน ๒ คัน และทานมื้อเที่ยงที่ด่านลาวบาวระหว่างลาวกับเวียดนาม แล้วข้ามด่านพรมแดนจากลาวสู่เวียดนามมุ่งหน้าไปยังเมืองเว้
เมืองสะหวันนะเขตเป็นเมืองหลวงของแขวงมีชื่อเป็นทางการว่า เมืองคันทบุลี แต่คนส่วนใหญ่เรียกกันว่า “เมืองสะหวันนะเขต” หรือเมืองสะหวัน เป็นเมืองสมัยขอมเรืองอำนาจชื่อว่า “สุวันนะพูมประเทศ” เป็นเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์หรือแผ่นดินทอง
ตามตำนานว่า พ.ศ.๒๑๒๐ ท้าวหวงและนางสิมได้อพยพผู้คนจากภาคเหนือลงมาตั้งถิ่นฐานหมู่บ้านชื่อว่า “หวงโพนเมืองสิม” ห่างจากตัวเมืองปัจจุบันประมาณ ๑๘ กิโลเมตร ครั้นถึง พ.ศ.๒๑๘๕ ท้าวสิมพะลีบุตรชายได้พาชาวบ้านหลายสิบครอบครัวแยกออกไปตั้งเมืองใหม่ในเขตสะหวันนะเขต ปัจจุบันเรียกว่า “บ้านท่าแร่” เพราะมีแร่ธาตุและทองคำมาก
พ.ศ.๒๔๖๒ ฝรั่งเศสเข้ามาปกครองลาว ตั้งสำนักงานผู้ว่าราชการแผ่นดินประจำแขวงที่ท่าแร่ และตั้งชื่อใหม่เป็นสะหวันนะเขตตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
จากเมืองสะหวันนะเขตมีทางหลวงหมายเลข ๙ ตัดตรงไปยังชายแดนเวียดนามที่ลาวบาว ช่วยให้การค้าระหว่างไทยกับเวียดนามเป็นไปโดยสะดวก
ดังนั้น ในโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ ๒ ที่ จ.มุกดาหาร-สะหวันนะเขต จึงมีแผนสร้างทางต่อจากชายแดนของลาวไปยังเมืองเมืองดองยังและดานังในเวียดนาม นอกจากเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าแล้ว ยังเป็นเส้นทางออกสู่ทะเลสายแรกของลาว
สมัยขอมเรืองอำนาจเมืองนี้ชื่อว่า สุวรรณภูมิประเทศ เป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ชาวบ้านที่อพยพมาจากบ้านโพนสิมได้ข้ามแม่น้ำไปตั้งบ้านเรือนที่ฝั่งของตัวเมืองมุกดาหารปัจจุบัน ตัวเมืองสะหวันนะเขตเดิมเรียกว่า “ท่าแฮ่”(ท่าแร่) สะหวันนะเขตมาจากคำว่า สุวรรณเขต หรือดินแดนแห่งทองคำ แต่ต่อมาฝรั่งเศสเลือกเอา “สวรรค์” แทนสุวรรณ “สะหวันนะเขต” แปลว่า ดินแดนแห่งสวรรค์
เราเข้าสู่เมืองเว้ตอนบ่ายๆ บนเส้นทางสายอินโดจีน ที่นำคนลาวไปพบทะเลได้ง่ายกว่าผ่านประเทศไทยไปชลบุรี
เว้(Hue) เป็นชื่อของเมืองหลวงของจังหวัดถัวเทียน เว้ อยู่ห่างจากมุกดาหารใช้เวลาเดินทางประมาณ ๙ ชั่วโมง ปัจจุบันเป็นเมืองมรดกโลก ตั้งอยู่ตอนกลางของประเทศเวียดนาม ริมฝั่งแม่น้ำหอม ถัดเข้ามาจากริมฝั่งทะเลจีนใต้ ๒-๓ ไมล์ ห่างจากกรุงฮานอยไปทางใต้ประมาณ ๕๔ กิโลเมตร ห่างจากนครโฮจิมินห์ไปทางเหนือประมาณ ๖๔๔ กิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง เต็มไปด้วยหินภูเขาไฟ หาดทราย เนินทรายและทะเลสาบ
นอกจากนี้ยังเป็นเขตป่าไม้สำคัญที่สุดของเวียดนาม สภาพภูมิอากาศเมืองเว้ค่อนข้างร้อนตลอดปี โดยรวมมีเพียง ๒ ฤดูคือ ฤดูร้อน ช่วงประมาณเดือนตุลาคม-เมษายน ฤดูฝน ตั้งแต่พฤษภาคม-ตุลาคม อุณหภูมิสูงสุดในหน้าร้อนเกือบ ๔๐ องศาเซลเซียส ต่ำสุด ๒๐ องศาเซลเซียส
เดิมเป็นเมืองเล็กๆ ตั้งอยู่ใจกลางของประเทศเวียดนาม อยู่ในการปกครองของขุนนางเหวียนฮวง ในราชวงศ์เล ต่อมาไม่นานเกิดสงครามแบ่งแยกดินแดนทางตอนเหนือและตอนใต้ เหวียนฉวาง หรือที่คนไทยรู้จักกันในนาม องค์เชียงสือ ซึ่งเป็นผู้ปกครองเวียดนามใต้ได้ปรากบฏและรวบรวมดินแดนทางตอนเหนือและตอนใต้เข้าด้วยกันในปี พ.ศ.๒๓๔๕ พร้อมกับสถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิยาลองแห่งราชวงศ์เหวียน มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมืองเว้
แต่หลังจากนั้นเพียง ๓๓ ปี ฝรั่งเศสบุกเข้าโจมตีเมืองเว้ ช่วงนี้จักรพรรดิผลัดกันครองบัลลังก์ในช่วงสั้นๆ ภายใต้การกำกับของฝรั่งเศส มีการเดินขบวนต่อต้านฝรั่งเศสและต่อสู้กับลัทธิจักรพรรดินิยม ต่อมาญี่ปุ่นเข้ายึดครองเวียดนามในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา พ.ศ.๒๔๘๘ และปีนี้เองที่พระเจ้าเบาได๋ได้สละราชสมบัติให้โฮจิมินห์ปกครองเวียดนาม
เมืองเว้ได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่ “ประชาชนต้องลืมเลือน” เพราะรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของโฮจิมินห์ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของยุคสมัยศักดินา และปล่อยให้ทรุดโทรมผุพัง เวียดนามมีราชวงศ์ปกครองเป็นพันๆ ปี แต่มีแค่เมืองเว้เท่านั้นที่เหลือร่องรอยราชสำนักให้เห็นอย่างชัดเจน โดยมีปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์เหงียนที่สามารถรวบรวมประเทศให้เป็นหนึ่งเดียวแลย้ายราชธานีมาอยู่เมืองเว้
พ.ศ.๒๕๓๓ รัฐบาลคอมมิวนิสต์เริ่มมองเมืองเว้ในแง่บวกและยกเป็น “สมบัติของชาติ” จากนั้นไม่นานยูเนสโกประกาศให้ปราการเมืองเว้เป็นแหล่งมรดกโลก และเริ่มเข้ามาบูรณะซ่อมแซม ปัจจุบันสัญลักษณ์ของยุคสมัยศักดินาแหล่งนี้สร้างรายได้มหาศาลให้กับรัฐบาลและชาวบ้าน
ในฐานะที่เคยเป็นศูนย์กลางทางด้านศิลปะวัฒนธรรมของประเทศ เมื่อครั้งเป็นราชธานี เว้จึงมีอาหารท้องถิ่นรสเลิศมากมาย ทั้งยังเป็นเมืองแห่งศิลปินที่เต็มไปด้วยงานศิลปะตามท้องถนน ซึ่งกลมกลืนไปกับความคลาสสิคของเหล่าอาคารสไตล์โคโลเนียลในเมือง
(อ่านต่อตอนหน้า)