คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ / โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
.
เริ่มต้นความรุนแรงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยเหตุบุกเข้าไปยิง “คอเต็บ” ถึงในมัสยิดที่เขาประจำมัสยิดอยู่ที่ อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี ซึ่งผู้เสียชีวิตยังเป็น “อุสตาซ” หรือ “ครูสอนศาสนา" ประจำมัสยิดดังกล่าวอีกด้วย
สำหรับการยิง “ผู้นำศาสนา” เสียชีวิตถึงใน “มัสยิด” นั้น ในความรู้สึกของคนที่เป็นมุสลิมหรือผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องที่สะเทือนขวัญและก่อสะเทือนใจเป็นอย่างยิ่ง
แม้ว่ายังไม่มีบทสรุปจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำหน้าที่พนักงานสอบสวนว่า สาเหตุการสังหารคอเต็บถึงในมัสยิดมาจากสาเหตุอะไร แต่เป็นที่รู้กันว่าถ้าไม่ใช่เรื่องส่วนตัว นั่นก็ต้องเป็นเรื่องของความมั่นคง และถ้าเป็นประเด็นหลังนับว่ามีสิ่งสำคัญคือ “ฝ่ายไหน” ที่เป็นผู้ลงมือปฏิบัติการยิงผู้นำศาสนาถึงในในศาสนาสถาน
การที่ยังไม่มีคำตอบให้กับสังคม ยิ่งสร้างความ “อึมครึม” ในหัวใจของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะมุสลิม เพราะในความรู้สึกของคนส่วนใหญ่มักมองเจ้าหน้าที่ในแง่ “ลบ” และมักจะเชื่อโดยไม่มีเหตุผลว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลจาก “ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐ”
บ่อยครั้งที่ผู้นำศาสนาที่ช่วยเหลือหน่วยงานด้านความมั่นคงของเจ้าหน้าที่รัฐ มักจะถูกขบวนการแบ่งแยกดินแดน “สั่งตาย” แต่สำหรับคนในพื้นที่กลับถูก “แนวร่วม” ขบวนการทำให้เชื่อว่าเป็นปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐที่ “สั่งเก็บ” หลังจากที่หมดความสำคัญ
นี่คือ “เงื่อนปมสำคัญ” ของพื้นที่ 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวีและสะบ้าย้อย ซึ่งหลังเกิดไฟใต้ละลอกใหม่ผ่านมาแล้วกว่า 14 ปี แต่สิ่งที่ยังเป็นเงื่อนปมสำคัญคือ “สงครามความรู้สึก” นั่นคือปมเงื่อนที่ฝั่งลึกของไฟใต้
และหลังการยิงคอเต็บเสียชีวิตในมัสยิดเพียง 1 วัน ข่าวร้ายก็ติดตามาเป็นละลอกๆ นั่นคือ การแจ้งเตือนจาก หน่วยข่าวความมั่นคงในพื้นที่ว่า “ได้กลิ่น” ความเคลื่อนไหวของแนวร่วมหรือ “โจรใต้” ว่าจะมีการก่อการร้ายอย่างถี่ยิบ โดยได้มุ่งเน้นหรืออาจจะต้อง “ขีดเส้นใต้” ด้วยเส้นหนาๆ ไว้ว่า เป้าหลักอยู่ในพื้นที่ “ปัตตานี”
อันมีประเด็นสำคัญอยู่ที่การหยิบ “ปฏิทินโจร” มาดูก็จะพบว่า สาเหตุที่ “หน่วยข่าว” แจ้งเตือนแบบให้ขีดเส้นใต้นั้น เป็นเพราะช่วงสิงหาคมเป็นเดือนที่มีวันที่เป็น “สัญลักษณ์” ของทั้งฝ่าย “รัฐไทย” และฝ่าย “ขบวนการแบ่งแยกดินแดน” ค่อนข้างมาก แถมในช่วงหลายปีที่ผ่านๆ ก็ยังมามีการก่อเหตุนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดขึ้นมากในเดือนสิงหาคมเช่นกัน
ฉะนั้นอย่างเชื่อว่าสถานการณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ “ดีขึ้น” หรือไม่มี “บีอาร์เอ็นฯ” เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ โดยปฏิบัติการที่ผ่านๆ มาเป็นเรื่องราวของ “ภัยแทรกซ้อน” ซึ่งผู้ที่บงการคือ “4-5 ตระกูลใหญ่” ในพื้นที่เท่านั้น และอย่างดีใจที่ช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมามีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นน้อย นั่นเป็นเพราะมีปัจจัยบางอย่างอยู่ แต่แน่นอนไม่ใช่เป็นเพราะเจ้าหน้าที่รัฐสามารถควบคุมพื้นที่ได้หมดแล้ว
และอย่าดีใจว่า “รัฐบาล” หรือ “กองทัพ” ประสบความสำเร็จจากกระบวนการ “พูดคุยสันติสุข” เพราะได้มีการประกาศให้ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เป็นพื้นที่ “เซฟตี้โซน” หรือ “พื้นที่ปลอดภัย” ไปแล้ว โดยหลังมีการประกาศดังกล่าวออกไปทำให้ไม่มีเหตุร้ายเกิดขึ้นในพื้นที่ของ อ.เจาะไอร้องแต่อย่างใด
ดังนั้นพึงต้องระวังว่า ความมั่นใจเกินจริงอาจจะสร้าง “ความขายหน้า” ได้ในภายหลัง เคยมีคนเสนอให้ลองพิสูจน์ว่าแท้จริงแล้ว อ.เจาะไอร้องเป็นพื้นที่ปลอดภัย หรือเป็นพื้นที่ “ซ่องสุม” กันแน่ โดยการให้ “นายพล” ลงพื้นที่ตรวจสอบและพูดคุยกับชาวบ้านดู เพื่อที่จะได้รู้ว่าพื้นที่ของ อ.เจาะไอร้องเป็นอย่างไร
การที่พื้นที่หนึ่งพื้นที่ใดไม่มีเหตุเกิดขึ้นนานๆ อย่าด่วนเชื่อว่าเป็นเพราะแนวร่วมหรือโจรใต้ไม่มีการเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่นั้น นั่นอาจจะเป็นเพราะตรงนั้นไม่ใช่พื้นที่เป้าหมายของปฏิบัติการ หรืออาจจะถูกใช้เป็น “แหล่งหลบภัย” หรือเป็น “พื้นที่ฟักตัว” ของขบวนการก็เป็นได้ อย่างเช่นพื้นที่ อ.สะเดา จ.สงขลา ไม่มีการก่อเหตุมานานก็จริง แต่ในพื้นที่กลับมีแนวร่วมและกระทั่ง “แกนนำ” เคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆ มาโดยตลอด
โดยข้อเท็จจริงการประกาศให้ อ.เจาะไอร้องเป็นเซฟตี้โซน นั่นก็เป็นการประกาศของฝ่ายรับไทยเพียงฝ่ายเดียว โดยที่ “มาราปาตานี” ปฏิเสธว่าไม่ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดพื้นที่เลย และหลังจากที่มีการประกาศฝ่ายเดียวเสร็จสรรพก็ไม่มีมีปฏิบัติการหรือกิจกรรมใดๆ ในพื้นที่ อ.เจาะไอร้อง จึงไม่มีตัวอย่างให้ประชาชนได้เห็นว่า เซฟตี้โซนหรือพื้นที่ปลอดภัยนั้นเป็นอย่างไร หรืออย่างน้อยก็น่าจะมีการทำเป็นกรณีศึกษาไว้บ้าง เพื่อจะได้มีตัวอย่างให้นำไปใช้กับการสร้างเซฟตี้โซนในพื้นที่อื่นๆ ในอนาคต ซึ่งนั่นก็เผื่อว่าในอนาคตบีอาร์เอ็นฯ จะ “เห็นด้วย” หรืออย่างน้อยก็ “เห็นพ้อง” และให้การ “สนับสนุน” การกระบวนการพูดคุยสันติสุข
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น การจะอาศัยการบังคับใช้ “กฎหมาย” แบบให้เป็น “ยาแรง” กับผู้ก่อการร้าย หรือการ “ปลุกระดมให้” คนในพื้นที่ร่วมกัน “กดดัน” ให้ผู้ก่อการร้ายหยุดการปฏิบัติการนั้น ก็ต้องบอกว่ายังเป็นเรื่องของ “ความฝัน” ที่ออกไปทาง “เพ้อเจ้อ” เสียมากกว่า และนั่นอาจจะเกิดอาการ “สำลักงบประมาณ” ตามมาได้
เนื่องจากการใช้ยาแรงด้วยมาตรการทาง กฎหมายเพียงอย่างเดียว กลับจะเป็นปฏิบัติการที่ไป “เข้าทาง” บีอาร์เอ็น” เอาเสียด้วย เพราะพวกนั้นต้องการให้เจ้าหน้าที่ รวมทั้งประชาชนใช้ความรุนแรงเพื่อ “จัดการ” กับทุกปัญหาที่เกี่ยวกับความมั่นคง โดยบีอาร์เอ็นฯ รอโอกาสของการใช้ความรุนแรงเพื่อที่จะได้ “ฉกฉวย” และนำไป “ขยายผล” ด้วยการ “บิดเบือน” เพื่อสร้างมวลชนให้กับตนเอง
และการรอให้ประชาชนในพื้นที่ออกมา “ต่อต้าน” หรือแสดงความ “ไม่เห็นด้วย” กับปฏิบัติการของบีอาร์เอ็นฯ ยิ่งเป็นเรื่องที่ต้องขอบอกว่านั่นคือการไม่เข้าใจในข้อเท็จจริง หรือเห็นเพียง “ภาพลวง” ของมวลชนที่ถูกทางการ “จัดฉาก” ให้ออกมาถือป้าย หรือเดินรณรงค์ หรือแสดงออกว่าไม่เอาความรุนแรง
เบื้องหลังการออกมาของมวลชนกลุ่มต่างๆ ล้วนมาจากการ “ขับเคลื่อน” ของหน่วยงานในพื้นที่เป็นการ “จัดฉาก” แบบใช้งบประมาณหว่านโปรย เช่นเดียวกับกระแส “พหุวัฒนธรรม” ที่มีการดำเนินการเพื่อสู้กับกระแส “สังคมเชิงเดี่ยว” ของบีอาร์เอ็นฯ ต่างก็เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นตามงบประมาณ เป็นการนำคนที่นับถือศาสนาต่างกันมาอยู่ร่วมกันชั่วครั้งชั่วคราว หรือแค่ประธานในพิธีเดินทางกลับก็เกิดการสลายตัวไป แต่พหุวัฒนธรรมจริงๆ ที่สังคมต้องการคือ การอยู่รวมกันด้วย “ความรัก” และ “สามัคคี” ต่างหาก
การต่อสู้กับ “องค์กรลับ” อย่างบีอาร์เอ็นฯ จึงต้องทำลาย “ความลับ” ด้วยวิธีการ “เปิดโปง” ทั้งโครงสร้างและทั้งแผนปฏิบัติการให้ได้เท่านั้น เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้และนำไปสู่การเกิดการรวมกันต่อต้าน รัฐจะต้องบอกให้ประชาชนรู้ว่า คนที่ฆ่าประชาชน คนที่วางเพลิงเผาตลาด คนที่เผาบ้านเรือนของประชาชนต่างๆ นั้นคือ “ใคร” กันแน่ รัฐจะต้องกล้าที่จะ “ฉายไฟ” เพื่อให้ประชาชนช่วยกันขับไล่ “ศัตรู”
ทว่า...ที่นี่ประเทศไทย เรื่องแปลกๆ จึงเกิดขึ้นได้เสมอๆ
แทนที่หน่วยงานความมั่นคงจะช่วยกัน “เปิดโปง” ว่าศัตรูที่เข่นฆ่าเจ้าหน้าที่และประชาชนคือใคร กลับไปช่วยกัน “ปิดปัง” ช่วยกัน “อำพราง” ด้วยการพร่ำพ่นตลอดเวลาว่า บนแผ่นดินไฟใต้ไม่มีบีอาร์เอ็นฯ แถมยังเบี่ยงเบนประเด็นว่า ความโหดร้ายและความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของภัยแทรกซ้อน
ขอโทษเถอะ! ถ้าวิกฤตไฟใต้กว่า 14 ปี รัฐบาลทุ่มงบไปกว่า 1.3 แสนล้านบาท แต่ยังยุติ “ภัยแทรกซ้อน” จากแค่ “4-5 ตระกูล” ไม่ได้ เวลานี้ควรบันทึกลงใน “กินเนสส์บุ๊ก” หรือยัง เพื่อแสดงให้เห็นฝีมือ “ท่านผู้นำ” ไทยแลนด์แดนกะลา