xs
xsm
sm
md
lg

ชกหมัดตรง : ไฟใต้เปลี๊ยนไป๋! งบที่ไหลบ่าทำ “3 จังหวัดชายแดนใต้” กลายเป็น “3 เหลี่ยมเบอร์มิวด้า” ไปแล้ว / เพื่อ “ความมั่นคงใคร” หรือเพื่อ “คุณภาพชีวิต จนท.รัฐ” / ถ้ายังเสนอตัวเป็น “ท่านผู้นำ” เลือกตั้งครั้งหน้าก็ถือว่า “ด้าน” ไร้ที่ติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
โดย…ไชยยงค์  มณีพิลึก

เรื่องราว “ทุจริตคอร์รัปชั่น” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นเรื่องที่ใหญ่พอๆ กับเรื่องราว “ความไม่สงบ” หรือ “เหตุความรุนแรง” ที่เกิดขึ้น ซึ่งระลอกใหม่กินเวลายาวนานมาถึงกว่า 14 ปี และเพราะเหตุของความไม่สงบที่เกิดขึ้นนี่เอง ได้ส่งผลให้งบประมาณจำนวนมหาศาลถูกทุ่มเทลงมาเพื่อใช้ในการ “ดับไฟใต้”
 
โดยเฉพาะในส่วนของงบประมาณด้าน “ความมั่นคง” ที่หลั่งไหลผ่านหน่วยงานอย่าง กอ.รมน. และ ศอ.บต. ก็ปาเข้ากว่า 1.3 แสนล้านบาทในรอบ 14 ปีมานี้
 
นี่ยังไม่นับรวมงบประมาณของหน่วยงานด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ไหลผ่าน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “กระทรวงคมนาคม และ กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งล้วนเป็นกระทรวงใหญ่เกรด A ที่แต่ละปีมีงบประมาณเป็นจำนวนมาก ซึ่งทั้ง 3 กระทรวงนี้มักจะปรากฏ “ข่าวฉาวโฉ่” เกิดขึ้นตลอดเวลา โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
ในส่วนของ ศอ.บต.เรื่องความไม่ชอบมาพากลมีมากมาย โดยเฉพาะในโครงการสำคัญๆ อย่าง “เสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์” ที่ใช้งบกว่า 1 พันล้านบาท แต่กลับไม่มีความคุ้มค่าอะไรให้เห็น เพราะเสาไฟฟ้าที่ติดตั้งเสียหายหรือใช้การไม่ได้ ขณะนี้เรื่องยังอยู่ที่ ป.ป.ช. โดยยังรอเอกสารบางอย่างจากสถาบันการเงิน ซึ่งก็ที่จะมีการสรุปสำนวนคดีอีกไม่นาน ส่วนใครที่เข้าใจว่าเรื่องจบแล้วต้องเข้าใจใหม่อีกครั้ง
 
ที่จัดเป็นข่าวฉาวโฉ่ใหม่ซิงๆ คือเรื่อง “ทุจริต” ใน สำนักงานชลประทานจังหวัดยะลา ที่ตรวจพบแล้ว 2 โครงการ อันเป็นโครงการป้องกันตลิงพังที่ อ.บันนังสตา และ อ.รามัน แม้จะใช้งบประมาณจิ๊บๆ รวมกันทั้ง 2 โครงการแค่ประมาณ 50 ล้านบาทก็ตาม ซึ่งล่าสุด กรมชลประทาน ได้สั่งย้ายผู้เกี่ยวข้องและให้ตั้งกรรมการสอบสวน “นายช่างผู้ควบคุมงานก่อสร้าง” ไปแล้ว
 
แต่เรื่องยังไม่จบตรงนั้น เนื่องเพราะ ผู้อำนวยการสำนักชลประทานยะลา ซึ่งต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย ในฐานะผู้เป็น “นาย” และ คณะกรรมการตรวจรับงาน ที่ “ตาซื่อตาใส” ตรวจรับการก่อสร้างที่ไม่ตรงกับแบบแปลนได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจนั้น พวกเขากลับยังไม่มีการตั้งกรรมการตรวจสอบว่า มีการตรวจรับงานที่มีการทุจริตอย่างนั้นได้อย่างไร
 
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คนให้ความสนใจว่า สุดท้ายแล้วจะมีการ “ซูเอี๋ย” กันอีกหรือไม่
 
และล่าสุดสดๆร้อนๆ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับ แขวงการทางยะลา ที่ให้ “ผู้รับเหมาไปรื้อถนน” ที่ หมู่ 3 ต.บุดี อ.เมือง จ.ยะลา ก่อนที่จะมีการเปิดประมูล
 
แต่หลังจากที่ บริษัทผู้รับเหมา ซึ่งเป็น “คู่ซี้” กับคนในแขวงการทางได้รื้อถนน รื้อท่อระบายน้ำ และรื้อเสาไฟฟ้าไปได้ระยะหนึ่ง จึงรู้ว่าโครงการซ่อมสร้างถนนสายดังกล่าว “ไม่มีการอนุมัติงบประมาณ” ปรากฏว่าผู้รับเหมาได้ยกเครื่องจักรกลับไปเฉยๆ สิ่งที่ทิ้งไว้คือ “ความเสียหาย” ของถนน ของท่อระบายน้ำและของเสาไฟฟ้าที่ถูกรื้อทิ้งไปแล้ว
 
ถนนสายดังกล่าวอยู่ในพื้นที่หมู่ 2 บ้านบือแน ต.บุดี อ.เมืองยะลา มีประชาชนที่ต้องใช้ถนนสายนี้เป็นประจำกว่า 600 คน หรือรวมแล้ว 260 ครัวเรือน ซึ่งพี่น้องประชาชนเหล่านี้ต้องทนกับสภาพถนนที่ไม่สมประกอบ ไม่มีท่อระบายน้ำ ไม่มีไฟฟ้าแสงสว่างมานานถึงราว 2 ปีมาแล้ว
 
ชาวบ้าน ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ได้เคยออกมาร้องเรียนและเรียกร้องให้แขวงการทางยะลา ซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องให้แก้ไขความเดือนร้อนมาหลายครั้งหลายครา แต่ไม่เคยมีการแก้ปัญหาความเดือดร้อนที่ชาวบ้านได้รับ ทั้งที่เกิดจากความผิดพลาดของแขวงการทางเอง ล่าสุดชาวบ้านและผู้นำท้องที่-ท้องถิ่นได้ร้องเรียนไปยัง สำนักงาน ป.ป.ช.ยะลา ให้ตรวจสอบและดำเนินการกับผู้รับผิดชอบแล้ว ซึ่งก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่าหน่วยงานอย่าง ปปช.ยะลาจะสามารถ “ปลอดทุกข์” ให้ชาวบ้านได้มากน้อยแค่ไหน
 
เพราะในพื้นที่ “3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” เวลานี้ได้ถูกขนานนามในชื่อใหม่แล้วว่าเป็น “3 เหลี่ยมเบอร์มิวด้า” กล่าวคือ งบประมาณจำนวนมากมายมหาศาลเมื่อไหลเข้าไปยังพื้นที่นี้แล้วมักจะ “สูญหาย” อย่างไร้ร่องรอย
 
ไม่เชื่อลองคิดทบทวนดูโครงการใช้งบประมาณก้อนโตๆ ในหลายๆ โครงการ และไม่ว่าจะผ่านหน่วยงานไหนๆ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านๆ มาดูกัน ขอยกตัวอย่างให้เห็นกันชัดๆ ก็ได้แก่ “เรือเหาะ” “ไม้กันผี จีที 200” “เสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์” “สนามฟุตซอล” และ “กล้องวงจรปิด” เป็นต้น ซึ่งแต่ละโครงการใช้เงินงบประมาณมูลค่ารวมแล้วหลายพันล้านบาท
 
แต่ทั้งหมดทั้งปวง “เม็ดเงิน” ถูกดูดหายไปในพื้นที่ “สามเหลี่ยมเบอร์มิวด้า” แห่งแผ่นดิน “3 จังหวัดจังหวัดชายแดนภาคใต้” แล้วทั้งสิ้น
 
ก็ได้แต่หวังว่าในยุคที่ พายัพ คชพลายุกต์ นั่งเป็น ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดยะลา ซึ่งได้รับเรื่องร้องเรียนการทุจริตในพื้นที่ จ.ยะลาไว้เป็นจำนวนมาก ภายใต้การบริหารงานของเราจะสามารถช่วยเหลือประชาชนจำนวนมากมายที่ได้รับความเดือดร้อนในครั้งนี้ได้
 
และก็อยากจะหวังว่า ปปช.ต้องสืบสวนและรื้อค้นหาต้นเหตุของการรื้อถนน รื้อท่อระบายน้ำและรื้อเสาไฟฟ้าส่องสว่าง ทั้งที่ยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณให้ก่อสร้างหรือปรับปรุงถนนเส้นนี้ “ใครคือคนผิด” และ “แขวงการทางยะลา” มีส่วนในการสร้างความทุกข์ร้อนให้กับชาวบ้านด้วยหรือไม่
 
อีกทั้งสังคมก็สงสัยอยู่ว่า ความเดือดร้อนขนาดนี้ ความผิดพลาดขนาดนี้ คนที่เป็น “นายอำเภอ” เป็น “ผู้ว่า ราชการจังหวัด” ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง พวกเขาได้ “ละเลย” การดูแลสารทุกข์สุกดิบของประชาชนหรือไม่ แล้วพวกเขา “วางเฉย” ให้ความเดือดร้อนของประชาชนเหล่านั้นผ่านหูผ่านตาไปได้อย่างไร
 
รวมทั้ง “หน่วยงานความมั่นคง” ในพื้นที่ที่ยังไม่เห็นจะแสดงการรับรู้อะไรเลยกับความทุกข์ กับความเดือดร้อนของชาวบ้าน มิน่าเล่าที่กับบทบาทหน้าที่รับผิดชอบที่ต้องดับไฟใต้ให้ได้โดยเร็วนั้น ผ่านมาแล้วถึง 14 ปีกับไฟใต้ระลอกใหม่ แต่ประชาชนกลับยัง “ไม่เชื่อมั่น” และ “ไม่ศรัทธา” เอาเสียเลย
 
ทุกข์ของชาวยะลายังไม่หมดแค่นี้นะ “เสียงอึกทึก” ของชาวบ้านที่เห็นความผิดปกติของ “โครงการอ่างเก็บน้ำสวนแป๊ะหลิม” ที่ อ.เบตง จ.ยะลา ก็เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ส่อว่าจะมีปัญหาที่กำลังจะรอการปะทะ เพราะหลายอย่างที่ชาวบ้านพบเห็นมีความ “ไม่ชอบมาพากล” ซึ่งอาจจะถูกนำมาเปิดโปงให้สังคมได้รับทราบในไม่ช้านี้
 
และอีกโครงการที่เป็นของ กรมชลประทาน เหมือนกันคือ “โครงการก่อสร้างเขื่อนลำพะยา” ต.ลำพะยา อ.เมือง จ.ยะลา ที่มีการคัดค้านจากชาวบ้าน เพราะเห็นว่าไม่มีความจำเป็น ไม่เป็นประโยชน์กับประชาชน การดำเนินการโครงการมีความไม่ชัดเจน อีกทั้งอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนเกี่ยวข้องด้วย
 
เหล่านี้เป็นเพียงโครงการที่มีการ “ร้องเรียนจากประชาชน” เพราะชาวบ้านได้รับผลกระทบ ได้รับความเดือดร้อนโดยตรง แล้วโครงการอื่นๆ ที่ชาวบ้านไม่กล้าร้องเรียน หรือเพราะชาวบ้านไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง ไม่ได้รับความเดือดร้อนโดยตรง โครงการเหล่านั้นจะมีอีกสักเท่าไหร่ที่ยังไม่มีใครกล้าตรวจสอบ
 
งบประมาณที่หลั่งไหลลงไปในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงกลายเป็น “งบที่ถมไม่เต็ม” และไม่ได้ใช้เพื่อให้เป็นประโยชน์กับประชาชนโดยตรง แต่เป็นการใช้เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับ “ใครบ้างคน” หรือ “ใครบางกลุ่ม” โดยอ้างประชาชน และอ้างเรื่องของความมั่นคง อ้างเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงเป็นการกระทำเพื่อ “ความมั่นคงของตนเอง” และ “คุณภาพชีวิตของเจ้าหน้าที่รัฐ” มากกว่า
 
เสียดายห้วงเวลา 4 ปีของ รัฐบาล คสช. ที่นอกจากจะไม่สามารถแก้ปัญหาไฟใต้ใน “มิติความไม่สงบ” ที่เกิดจากการกระทำของ “ขบวนการแบ่งแยกดินแดน” แล้วใน “มิติการป้องกันและปราบปรามการฉ้อราษฎร์-บังหลวง” ซึ่งเป็นข้ออ้างในการ “ยึดอำนาจ” จากรัฐบาลพลเรือนก็ “ล้มเหลว” และ “ไร้ความสำเร็จ” ให้เห็นเป็นรูปธรรม
 
แล้วการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ถ้ายังเสนอตัวให้ประชาชนเลือกให้เป็น “ท่านผู้นำ” อีก ก็ต้องถือว่า “ด้าน” พอๆ กับพวกที่ “แต่งเครื่องแบบ” ในชายแดนภาคใต้ที่โกงกินภาษีประชาชนอย่างไร้ยางอายนั่นแหละ
 
แต่เอ๊ะ! นี่เราจะต้องใช้ “ภาษีของคนทั้งชาติ” กันต่อไปอีกกี่ล้านล้านบาทกันนะ เพื่อใช้ในการสร้างความมั่นคง และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนบนแผ่นดิน “3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” ที่ถูกขนานนามว่าเป็น “3 เหลี่ยมเบอร์มิวด้า” ไปแล้ว
 


กำลังโหลดความคิดเห็น