ยะลา - เกษตรกรเบตงเลี้ยง “ปลานิล” ระบบสายน้ำไหลผ่าน ทำให้ปลามีออกซิเจนเพียงพอ โอกาสรอดสูง เจริญเติบโตไว เลี้ยงง่าย เพราะสภาพแวดล้อมมีการเคลื่อนไหว จนได้รับความนิยมในทุกระดับ
วันนี้ (20 ก.ค.) ที่สวนศักดิ์ศรี ซึ่งเป็นสวนของนายศักดิ์ศรี สง่าราศี ชาวสวนยางพาราใน ต.ตาเนาะแมเราะ อ.เบตง จ.ยะลา ผู้เข้าร่วมกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาบ้านบ่อน้ำร้อน เพื่อมาเลี้ยงปลานิลระบบสายน้ำไหลผ่าน จนกลายมาเป็นหมู่บ้านปลา ที่แม่ทัพภาคที่ 4 ให้การสนับสนุนตามแผนปฏิบัติการพัฒนาเศรษฐกิจเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่ 2 ต.ตาเนาะแมเราะ อ.เบตง จ.ยะลา
นายศักดิ์ศรี สง่าราศี กล่าวว่า การเลี้ยงปลานิล เป็นปลาเศรษฐกิจเลี้ยงง่าย โตเร็ว ได้รับความนิยมในทุกระดับ นำมาแปรรูปได้หลายอย่าง โตเร็วทำให้ปริมาณปลานิลมีมากพอที่จะส่งขายตลาดได้ ในราคาที่ไม่สูงมากนัก จึงได้ทดลองเลี้ยงปลานิลระบบสายน้ำไหลผ่านมากว่า 12 ปี โดยการต่อท่อน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่เกิดจากภูเขา ซึ่งไหลตลอดทั้งปี ผ่านบ่อปลาแบบขั้นบันไดที่มีความสูงต่ำตามไหล่เขา มีความได้เปรียบในเรื่องการทำความสะอาดบ่อปลา ซึ่งมีขนาดกว้าง 4 เมตร ยาว 6 เมตร ลึกประมาณ 1-1.5 เมตร โดยใช้วิธีการเพิ่มออกซิเจนลงในน้ำที่เรียกว่า VENTURI คือการใช้พลังงานจากน้ำธรรมชาติไหลผ่านท่อ ปล่อยให้ตกลงมาจากที่สูง เกิดเป็นพลังงานกล และดูดอากาศเข้ามาผสมกับน้ำ แล้วใส่ลงไปในบ่อเลี้ยง ทำให้ปลามีออกซิเจนอย่างเพียงพอ มีโอกาสรอดสูง เจริญเติบโตไว ทำให้เลี้ยงง่าย อยู่ง่าย เพราะสภาพแวดล้อมมีการเคลื่อนไหว ไม่ตกตะกอนก้นบ่อ น้ำจึงไม่เหม็นเมื่อเทียบกับบ่อที่เป็นน้ำนิ่ง
อีกทั้งตลาดมีความต้องการมาก เนื่องจากปลาไม่มีกลิ่นคาว โตตามมาตรฐานจีเอพี (GAP) ที่กรมประมงกำหนด หลังจากที่ประสบความสำเร็จแล้ว ต้องการจะถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเพื่อนเกษตรกร จึงเข้าร่วมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงปลาบ้านบ่อน้ำร้อน เลี้ยงปลานิลเชิงพาณิชย์ขึ้น และมีการขยายบ่อเพิ่มขึ้น โดยนำพันธุ์ปลานิลที่อนุบาลแล้วประมาณ 2 เดือน มาปล่อยในบ่อจริง บ่อละ 2,500 ตัว ใช้เวลาเลี้ยง 5-6 เดือน เมื่อได้ปลาขนาดตัวละ 1-1.2 กิโลกรัม จึงคัดขายวันละ 200-300 กิโลกรัม ขายส่งราคากิโลกรัมละ 90-100 บาท
ส่วนความเป็นมาของปลานิลยักษ์ที่เลี้ยงไว้ นายศักดิ์ศรี กล่าวว่า ปลานิลยักษ์เกิดมาจากที่เลี้ยงปลานิลไว้ดูเล่น เลี้ยงไว้สักระยะเวลาหนึ่ง ปลานิลก็เริ่มใหญ่ขึ้นอยู่ที่ประมาณ 5-6 กิโลกรัม จากนั้นนำปลานิลไปเสนอตามร้านอาหาร ภัตตาคาร และสามารถขายได้ โดยส่วนมากจะเป็นกรุ๊ปนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่วนการเลี้ยงปลานิลให้ตัวใหญ่ยักษ์ มีวิธีการเลี้ยง คือความสำคัญของน้ำที่ปล่อยลงบ่อ ซึ่งได้ต่อน้ำมาจากเทือกเขาสันกาลาคีรี ซึ่งเป็นเพียงแหล่งต้นน้ำเล็กๆ และได้ต่อท่อความยาวประมาณ 3 กิโลเมตร มายังบ่อปลานิลที่เลี้ยงไว้ และที่สำคัญน้ำที่นี่อดีตเคยเป็นเหมืองแร่เก่า โดยมีแร่ธาตุบางอย่างทำให้คุณสมบัติของเนื้อปลามีรสชาติที่อร่อย เหนียวแน่น
นายศักดิ์ศรี กล่าวอีกว่า ขณะนี้ทางกลุ่มได้มีการเลี้ยงปลาจีน และปลากือเลาะห์ หรือปลาพลวงชมพู ปลาเศรษฐกิจตัวใหม่ใน ต.ตาเนาะแมเราะ อ.เบตง จ.ยะลา สำหรับเกษตรกรที่สนใจจะศึกษาวิธีการเลี้ยง หรือสอบถามขั้นตอนต่างๆ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ นายศักดิ์ศรี สง่าราศี กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงปลาบ้านบ่อน้ำร้อน โทร. 098-016-2806