ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ททท.นำสื่อมวลชนจีนลงพื้นที่ภูเก็ต ติดตามสถานการณ์ให้การช่วยเหลือนักท่องเที่ยวจีนประสบเหตุเรือล่ม และมาตรการความปลอดภัยการท่องเที่ยวทางทะเล เรียกความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยวจีนกลับหลังเกิดเหตุเรือล่มคนจีนเสียชีวิต 47 ราย
วันนี้ (17 ก.ค.) นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พร้อมด้วย นางกนกกิตติกา กฤตย์วุฒิกร ผู้อำนวยการการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภูเก็ต นำสื่อมวลชนในประเทศและสื่อมวลชนจากสาธารณรัฐประชาชนจีน กว่า 20 คน เดินทางมายังจังหวัดภูเก็ต เพื่อติดตามสถานการณ์เหตุเรือล่ม เมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา และสังเกตการณ์การดำเนินงานของท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง ซึ่งเปิดเป็นศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยเรือล่มจังหวัดภูเก็ต โดยมีนายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พลเรือโทสมนึก เปรมปราโมทย์ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ ผู้อำนวยการเจ้าท่าภูมิภาคที่ 3 นางศิรวี วาเล๊าะ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดภูเก็ต ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปถึงเหตุการณ์เรือล่มจังหวัดภูเก็ต มีเสียชีวิต 47 ราย พร้อมแนวทางในการค้นหา การเยียวยาและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเรือล่ม การจัดการเรื่องศพผู้เสียชีวิต รวมถึงมาตรการความปลอดภัยการท่องเที่ยวทางทะเลของภูเก็ต
นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตได้กำหนดแผนยกระดับความปลอดภัยทางทะเล ทั้งนี้ได้กำหนดให้มีจุดเช็คพ้อยท์เรือก่อนที่จะออกจากท่าทุกลำ เพื่อตรวจสอบเรือความพร้อมของเรือ อุปกรณ์การช่วยชีวิต เสื้อชูชีพ บรรทุกเกินน้ำหนักหรือไม่ ตรวจเช็คความพร้อมของกัปตันเรือ และรายชื่อผู้โดยสาร โดยมีเจ้าหน้าที่บูรณาการกับทัพเรือภาคที่ 3 สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาภูเก็ต และสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดภูเก็ต จะตรวจสอบเรือจะต้องมีความพร้อม พร้อมทั้งจะต้องมีการบันทึกภาพผู้โดยสารที่ลงเรือทั้งหมด และจะต้องมีการส่งข้อมูลการเดินทางของเรือไปสู่เป้าหมายที่เรือจะเดินทางไปถึงด้วย
ในส่วนของมาตรการรักษาความปลอดภัยทางทะเล ขณะนี้จังหวัดได้จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยทางทะเลที่ท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง โดยกำหนดให้มีเรืออยู่ประจำตลอดเวลาจำนวน 3 ลำ มีเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ตลอด 24 ชั่วโมง และมีวิทยุสื่อสารที่สามารถเชื่อมโยงกับทุกหน่วยงาน ทั้งเรือประมง เรือของราชการสื่อมวลชน สถานีวิทยุกระจายเสียงและเครือข่ายการประชาสัมพันธ์เพื่อให้การแจ้งเตือนภัยไปสู่พี่น้องประชาชนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งจุดนี้จะมีวัสดุอุปกรณ์ชุดประดาน้ำโดยประสานกับภาคเอกชนมาช่วยสนับสนุน นอกจากนี้จะมีการตั้งศูนย์เฝ้าระวังและให้การช่วยเหลือนักท่องเที่ยวทางทะเล ที่เกาะยาว จ.พังงา
พร้อมกันนี้จังหวัดภูเก็ตให้ความสำคัญกับการขอความร่วมมือบริษัทการท่องเที่ยวที่จะต้องให้ความรู้ในการใช้อุปกรณ์และมาตรการรักษาความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวก่อนที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวทางทะเล ในส่วนของจังหวัดภูเก็ตได้ดำเนินการผลิตสื่อมัลติมีเดีย 5 ภาษา การท่องเที่ยวทะเลภูเก็ตอย่างไรให้ปลอดภัย ส่งให้บริษัทท่องเที่ยวเพื่อนำไปส่งต่อให้นักท่องเที่ยวได้รับรู้และเข้าใจ
ด้าน พลเรือโทสมนึก เปรมปราโมทย์ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 กล่าวว่า การปฏิบัติการค้นหาผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์เรือล่มกองทัพเรือได้มอบหมายให้ทัพเรือภาคที่ 3 เป็นผู้ดำเนินการโดยมีการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุนนักประดาน้ำจากประเทศจีนมาช่วยในปฏิบัติการค้นหาผู้ประสบภัยด้วย ในช่วงแรกได้ปฏิบัติการค้นหาทางกายภาพจนสามารถพบผู้เสียชีวิตทั้ง 46 รายจากนั้นได้วางแผนกู้ร่างผู้เสียชีวิตรายที่ 47 ซึ่งใช้เวลาหลายวันเนื่องจากมีความยากลำบากในการกู้ร่างเป็นอย่างมาก โดยหลังจากนี้ทางทัพเรือภาคที่ 3 ได้วางแผนจัดส่งเจ้าหน้าที่ออกลาดตระเวนในทะเลอันดามันเพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว
ขณะที่นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการสร้างมาตรการความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวทุกเพศทุกวัย และจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ทุกฝ่ายถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น การบังคับใช้กฎหมาย เรื่องการตรวจเรือ มาตรฐานความปลอดภัยของเรือ ผู้ขับขี่เรือ ฯลฯ โดยจะต้องทำทุกอย่างอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง ไม่ใช่เฉพาะช่วงหลังเกิดเหตุเท่านั้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวทุกประเทศเกิดความเชื่อมั่น เพื่อให้ประเทศไทย เป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวที่ดี มีมาตรฐาน อย่างครบวงจร
ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการท่องเที่ยวของภูเก็ตนั้น เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่หากจะผู้ถึงตัวเลขของผลกระทบถือว่าเร็วไป ยังอยู่ในช่วงของการจัดเก็บข้อมูล และการทำงานอย่างหนักของททท.5 สำนักงานในจีน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวจีนเดินทางกลับมาภูเก็ต
สำหรับกำหนดการที่จะนำสื่อมวลชนเดินทางไป สังเกตการณ์สถานการณ์การท่องเที่ยวทางทะเลต่อจากท่าเทียบเรืออ่าวฉลองแล้ว จะเดินทางไปรับทราบการบริหารจัดการท่าเทียบเรืออ่าวปอ ซึ่งเป็นท่าเทียบเรือที่นำเทคโนโลยี สายรัดข้อมือติดตามตัวนักท่องเที่ยว (Wristband) มาใช้ในการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มมาตรการด้านความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว สังเกตการณ์บรรยากาศการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวชาวจีน ณ ศูนย์การค้าจังซีลอน ท่าเทียบเรือรัษฎา เพื่อสังเกตการณ์สถานการณ์การเดินทางท่องเที่ยวทางทะเลของนักท่องเที่ยวจีนและช่วงบ่ายเยี่ยมชมย่านเมืองเก่า ถนนถลาง เป็นต้น