ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ตำรวจยังไม่ให้ประกันตัวเจ้าของ เรือฟีนิกซ์ สอบปากคำเครียด เบื้องต้นให้การปฏิเสธ นำส่งศาลฝากขังต่อพรุ่งนี้ ขณะที่จังหวัดภูเก็ต – ทหารเรือ ล้อมคอก ใช้อำนาจปกครองของผู้ว่าคุม ไม่ถูกห้ามออกจ่อใช้ ม.44
จากกรณีเรือฟีนิกซ์ หน้าเกาะเฮ ต.ราไวย์ จ.ภูเก็ต จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 47 ราย ซึ่งขณะนี้ ได้นำร่างผู้เสียชีวิตขึ้นมาพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล ได้แล้ว 46 ราย เหลืออีก 1 รายที่กำลังอยู่ระหว่างการกู้ขึ้นมาจากใต้ซาก
ล่าสุดเมื่อเวลา 10.00 น วันนี้ (15 ก.ค.61) ที่ ศูนย์อำนวยการช่วยเหลือผู้ประสบภัยภัยเรือล่มจังหวัดภูเก็ต ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พล.ร.ท. สมนึก เปรมปราโมทย์ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 พร้อใด้วย พล.ต.ต.ธีรพล ทิพย์เจริญ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต ร่วมกันแถลงความคืบหน้า การช่วยเหลือนักท่องเที่ยวที่ประสบอุบัติเหตุ การจัดการศพ การกู้ศพ การดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง
นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จำนวนศพผู้เสียชีวิตที่ได้พบศพ และนำขึ้นมา พิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลเรียบร้อยแล้ว 46 คน และ อีก 1 คน ซึ่งร่างได้ติดอยู่ที่ใต้เรือฟินิกซ์ เจ้าหน้าที่ได้มีการปฏิบัติงานกู้ร่างอยู่ในขณะนี้ โดยการดำเนินการบูรณาการร่วมกันทั้งฝ่ายไทย ฝ่ายจีนอย่างใกล้ชิด
ส่วนในด้านการจัดการศพ ที่ค้นพบก่อนหน้านี้ 46 รายขณะนี้ได้ฌาปนกิจศพรวมวันนี้ ได้จัดการศพเรียบร้อยหมดแล้ว 39 ราย และนำส่งกลับไปประเทศจีน 7 ราย ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วสำหรับจำนวนผู้บาดเจ็บที่รักษาโรงพยาบาลโรงพยาบาล อบจ.ภูเก็ต ขณะนี้มี 1 ราย ซึ่งคาดว่าจะออกจากโรงพยาบาลได้ในเร็วๆนี้
สำหรับ การจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ประสบภัย บริษัทกรุงเทพประกันภัย และ บริษัทไทยศรีประกันภัย ได้จ่ายเงินเยียวยาเรียบร้อยแล้ว 29 คน ประกอบด้วยค่าสินไหมทดแทนโดยบริษัทกรุงเทพประกันภัย ดำเนินการจ่ายให้กับญาติผู้เสียชีวิตจำนวน 29 รายๆ ละ 1 ล้านบาท เป็นเงิน 29 ล้านบาท,บริษัทไทยศรีประกันภัยดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับญาติผู้เสียชีวิตจำนวน 29 รายๆ ละ 1 แสนบาท
นอกจากนี้ในส่วนของกองทุนเยียวยานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ (กรณีพิเศษ) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยา ให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบแล้วจำนวน 52 ราย เป็นเงินรวม 29,328,000 บาท แบ่งเป็น กรณีเสียชีวิตจ่ายให้ญาติผู้เสียชีวิตแล้วจำนวน 29 ราย รวมเป็นเงิน 29 ล้านบาท,กรณีฟื้นฟูจิตใจจากเหตุการณ์จำนวน 12 รายๆ ละ 20,000 บาทรวมเป็นเงิน 240,000 บาท และ เงินช่วยเหลือเยียวยากรณีหยุดชะงักการเดินทางจำนวน 11 รายเป็นเงิน 88,000 บาท
รวมยอดการจ่ายเงินค่าชดเชยทั้งหมดทั้งจาก บริษัทกรุงเทพประกันภัย,บริษัทไทยศรีประกันภัยและของกองทุนเยียวยานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ (กรณีพิเศษ) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 61,228,000 บาท ส่วนที่เหลือนั้นอยู่ระหว่างการรอเอกสารเพิ่มเติม หากได้เอกสารเพิ่มเติมแล้วจะสามารถจ่ายเงินเยียวยา ได้ทันที โดยมีเจ้าหน้าที่คอยดำเนินการ ตลอด 24 ชั่วโมง
ส่วนกรณีการกู้ร่างของผู้เสียชีวิตซึ่งติดอยู่ใต้ซากเรือ พลเรือโทสมนึก เปรมปราโมทย์ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 กล่าวว่า การปฏิบัติการกู้ร่างผู้เสียชีวิตจากใต้ท้องเรือฟีนิกซ์ คาดว่าวันนี้ มีความเป็นไปได้สูง ที่จะสามารถกู้ร่างขึ้นมาได้สำเร็จ ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ลงไปปฏิบัติงานเมื่อวานแจ้งว่าในสภาพแวดล้อมของทราย บริเวณใกล้ร่าง ผู้เสียชีวิต มีความอัดแน่น ทำให้ยากต่อการกู้ร่าง จึงต้องใช้เวลา แต่ยังมีความเชื่อว่าวันนี้น่าจะดำเนินการสำเร็จ โดยจะดำเนินการอย่างเต็มที่ ทางทัพเรือภาคที่ 3 ขอให้ความเชื่อมั่นว่า ได้ดำเนินการอย่างเต็มที่
หากวันนี้สามารถกู้ได้ จะขึ้นที่ท่าเรือน้ำลึก ภูเก็ต ซึ่งทางคณะ จังหวัดภูเก็ต และทัพเรือภาค 3 และ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยพร้อม กงสุลใหญ่ จะไปรับศพ ณ ท่าเรือน้ำลึก มีพิธีไว้อาลัย และขอบคุณ คณะทำงานทุกภาคส่วนซึ่งขณะนี้รอการประสานติดต่อมา หลังจากนั้นจะนำ ร่างผู้เสียชีวิต ไปที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต เพื่อดำเนินการพิสูจน์ยืนยันอัตลักษณ์ตัวบุคคล ซึ่งจะเป็นเพียงรายเดียวที่ที่ยังไม่ได้พิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล
ขณะที่พล.ต.ต.ธีระพล ทิพย์เจริญ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงการดำเนินงานในส่วนของความคืบหน้าคดี ว่า ในการการสอบสวนคดีเรือล่มนั้นเมื่อวานทางพนักงานสอบสวนได้นำตัวนางสาววรลักษณ์ ฤกษ์ชัยกาล อายุ 26 ปี ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการเรือฟีนิกซ์ ซึ่งเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดภูเก็ต ที่แจ้งข้อหา " กระทำการโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายโดยสาหัสและเสียชีวิต" พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาแล้วและควบคุมตัวที่ สถานีตำรวจภูธรฉลอง
โดยในพรุ่งนี้(16 ก.ค.61) จะนำตัวไปฝากขังที่ศาลจังหวัดภูเก็ตต่อไป เบื้องต้นผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ ส่วนช่างเครื่องเรือฟินิกซ์ ได้มีการจับกุมไปแล้วตั้งแต่วันที่13 ก.ค.61 ทั้งนี้ พนักงานสอบสวน จะเร่งสอบสวนเพื่อหาความเกี่ยวโยงถึงบุคคลอื่นที่กระทำผิดร่วมด้วยโดยต้องมีการรวบรวมพยานหลักฐานให้มากกว่านี้ ซึ่งหากการรวบรวมพยานหลักฐานมีการพาดพิงไปถึงใครจะดำเนินการคดี ทั้งหมดไม่มีข้อยกเว้น
ขณะที่นายสาคร ปู่ดำ ผู้แทนสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต กล่าวถึง แผนการกูเรือฟินิกซ์ ว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ได้มาประชุมที่ สำนักงานเจ้าท่า ภูมิภาคสาขาภูเก็ต ในส่วนหนึ่งที่จะดำเนินการ คือ ในเรื่อง ของเครื่องมือที่จะต้องเอาเข้าใช้ในการกู้เรือ จะต้องใช้ เวลา 15 - 20 วัน ลักษณะการกู้เรื่องจะมีการใช้เชือกเส้นใหญ่ จำนวน 4 -5 เส้น ทั้งนี้จะต้องให้ผู้ที่มีประสบการณ์ผู้ชำนาญการการกู้เรือดำเนินการ คาดว่าจะใช้เวลา 15 - 20 วัน
อย่างไรก็ตามหลังจากแถลงข่าวเสร็จนายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และพล.ร.ต.สมนึก เปรมปราโมทย์ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 พร้อมคณะได้ลงพื้นที่บริเวณท่าเทียบเรือรัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต เพื่อตรวจสอบการเข้าออกบริเวณท่าเทียบเรือของนักท่องเที่ยว โดยมี นางสาวพรรัตน์ ตันฑ์ไพบูลย์ ผู้บริหารท่าเทียบเรือรัษฎา จ.ภูเก็ต ชี้แจงข้อมูล
โดยนายนรภัทร กล่าวว่า ตนและผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 เดินทางลงท่าเทียบเรือรัษฎา อ.เมืองภูเก็ต เพื่อดูข้อมูลการลงเรือ การกลับเข้าฝั่ง วิธีการปฎิบัติก่อน-หลัง ที่นักท่องเที่ยวขึ้นลงเรือ ระบบรักษาความปลอดภัย เพื่อรวบรวมข้อมูลทั้งหมดในการสร้างมาตรฐานด้านการท่องเที่ยว ภูเก็ตมีเรือหลายประเภททั้งเรือทัวร์ท่องเที่ยวข้าฟาก เรือสปีดโบ๊ท จะต้องวางระบบพร้อมกัน
ขณะที่ ผู้บัญชาการทัพภาคที่ 3 กล่าวว่า ขณะนี้ ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยเจ้าหน้าที่เจ้าท่าเพื่อดูแลอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว ดูแลนักท่องเที่ยวให้ดีที่สุด ได้จัดเรือ ของศรชล เขต 3 ให้ไปลาดตระเวนบริเวณใกล้เคียงพื้นที่ ที่ นักท่องเที่ยวเล่นน้ำเพื่อเตือนภัยหากเกิดพายุหรือคลื่นลมแรง ก็จะให้เรือกลับมาก่อนจะเกิดเหตุการณ์
อย่างไรก็ตามจากการลงพื้นที่ ทำให้ทราบ ปัญหาต่างในพื้นที่ พบว่าเรือที่มาให้บริการมีหลายประเภทหลายขนาด จำนวนของไกด์แต่ละลำไม่เท่ากัน ซึ่งเรื่องนี้จะต้องมีการควบคุมมาตรฐานไกด์ เป็นกลุ่มใครกลุ่มมัน สามารถดูแลนทท.ได้ทั่วถึง สาธิตเรื่องการใช้ชูชีพ ว่าสวมใส่อย่างไรให้ปลอดภัย ในส่วนนี้สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดต้องกำหนดและดำเนินการเพื่อทำงานและบูรณาการร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์รวมถึงความมั่นใจของนักท่องเที่ยว
ในส่วนที่ติดขัดข้อกฎหมายบางอย่างในการแก้ไขปัญหา นั้น ต้องใช้อำนาจของผู้ว่าไปก่อนชั่วคราวเพื่อสั่งการหากมีปัญหาจริงๆก็จะเสนอส่วนกลางหรือการบังคับใช้ มาตรา 44 ต่อไป อำนาจใดที่ผู้ว่าทำได้ก็ทำไปก่อน ตรวจเข้าท่าเรือไม่พร้อมห้ามออก ประสานเจ้าที่เห็นว่าไม่ปลอดภัยห้ามออก
ขณะที่นางสาวพรรัตน์ กล่าวว่า ในส่วนของท่าเทียบเรือรัษฎา ได้ปรับปรุงระบบบริการมาประมาณ 1 ปี แล้ว จะมีอุปกรณ์ในการตรวจสอบจำนวนนักท่องเที่ยวมีการใช้บัตรในการตรวจเช็กจำนวนคนและอื่น ๆ