xs
xsm
sm
md
lg

สถานการณ์หนังตะลุงปักษ์ใต้ “ไม่ตาย แต่ไม่โต” / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู  /  โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
 
ศิลปินพื้นบ้านสาขาหนังตะลุง เคยมีบทบาทสำคัญในฐานะสื่อมวลชนพื้นบ้านที่มีอิทธิพลต่อการรับรู้ข่าวสาร การเรียนรู้และปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม หรือกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม เพราะเนื้อหาสาระจากการแสดงหนังตะลุงในอดีต นอกจากจะสร้างสรรค์ความบันเทิงเริงรมย์แก่ผู้ชมแล้ว ยังมีการสอดแทรกสาระทางด้านคุณธรรม จริยธรรมและมนุษยธรรม เป็นคติสอนใจแก่คนในครอบครัว โดยเฉพาะคุณธรรมด้านกตัญญูกตเวที และแนวทางในการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณีและศีลธรรมอันดีของประชาชน จารีตด้านจรรยามารยาทของหนุ่มสาว โดยเฉพาะจารีตทางเพศที่เหมาะงาม
 
แต่ปัจจุบัน  เมื่อเทคโนโลยีด้านการสื่อสารคมนาคมและความเจริญเติบโตด้านวัตถุหลั่งไหลเข้ามาในยุคข้อมูลข่าวสารไร้พรมแดนของสังคมบริโภคนิยมโลกาภิวัตน์  สื่ออื่นๆ  เช่น  หนังสือพิมพ์  สื่ออิเล็กทรอนิกส์และโซเชียลมีเดียเข้ามาแทนที่สื่อพื้นบ้านอย่างหนังตะลุง  ทั้งในชุมชนชนบทและชุมชนเมือง 
 
หนังตะลุงก็เริ่มสูญเสียความเป็นสื่อมวลชนของชาวบ้านที่ให้ความรู้และปลูกฝังคุณธรรม  เหลือสถานะสื่อเพื่อสร้างความบันเทิงเป็นด้านหลัก  สังคมไม่ร่วมสร้างหนังตะลุง  หนังตะลุงก็ไม่มีบทบาทในการสร้างสรรค์สังคม  ความนิยมยกย่องหนังตะลุงตามคำกล่าวที่ว่า “ลูกโม่(โง่)ให้หัดโนรา  ลูกปัญญาให้หัดหนัง” (ไม่ได้หมายความว่าคนเป็นโนราเป็นคนโง่  แต่คนใต้เชื่อว่าคนเป็นนายหนังตะลุงต้องมีศักยภาพสูงกว่าคนเป็นนายโรงโนรา จึงต้องใช้คนที่มีความฉลาดเฉียบแหลมกว่า ถ้าจะมาทำหน้าที่หัวหน้าคณะศิลปินพื้นบ้านยอดนิยมของคนใต้ ๒ ประเภทนี้)
 
ปัจจุบันแม้ว่าหนังตะลุงจะยังไม่สูญหายไปจากความนิยมของชุมชนและสังคมท้องถิ่น  แต่ค่านิยมในการดูการละเล่นแขนงนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปมากจนน่าเป็นห่วง  สถานการณ์ปัจจุบันหนังตะลุงจึงอยู่ในสภาพที่เรียกได้ว่า “ไม่ตาย  แต่ไม่โต” 
 
กล่าวคือ  ยังมีคนรับหนังและดูหนังอยู่บ้างตามโอกาสอันเหมาะสม แต่เลือกดูเฉพาะนายหนังตะลุงที่มีความโดดเด่นเฉพาะด้านเพียงไม่กี่คณะ  ในขณะที่ปัจจุบันมีนายหนังตะลุงรุ่นใหม่เกิดขึ้นเหมือนดอกเห็ดหน้าฝนนับร้อยนับพันทั่วภาคใต้  ยิ่งในจังหวัดใหญ่ๆ อย่างนครศรีธรรมราช  สุราษฎร์ธานี  สงขลา  พัทลุง  ตรัง
 

 
ปัจจัยของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ  ได้แก่

๑. การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร  การคมนาคมขนส่ง  โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านการสื่อสารสมัยใหม่  ทั้งวิทยุ  โทรทัศน์  โทรศัพท์มือถือ  หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัยหลากหลายรูปแบบ

๒. ความเจริญก้าวหน้าด้านการศึกษาในระบบ  ทั้งภาคบังคับและสูงกว่าภาคบังคับ  มีสถาบันการศึกษาทุกระดับกว้างขวางและทั่วถึง  คนส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับต่ำสุดคือภาคบังคับ  และมีแนวโน้มจะจบระดับอุดมศึกษาเพิ่มขึ้นทุกปี  คนเหล่านี้น้อยคนนักที่สนใจมาเป็นนายหนังตะลุงหรือผู้ชมหนังตะลุง
 
๓. ลักษณะการประกอบอาชีพ  ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำนาทำสวนเหมือนสมัยก่อน ที่มีเวลาว่างนอกฤดูกาลมารับหนังหรือแลหนังตะลุงจนสว่างคาตาแล้วกลับไปนอนที่บ้าน  ปัจจุบันคนต้องไปทำงานหรือมีภารกิจในตอนกลางวันจึงไม่สามารถดูหนังจนสว่างตาคาได้
 
๔. ค่านิยมในการชมหนังตะลุงเปลี่ยนไป ส่วนใหญ่ไม่สนใจชมหนังตะลุง  หนังตะลุงที่ได้รับความนิยมอยู่บ้างมีไม่กี่คณะ  และส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ “ความเป็นหนังตะลุง” ในการสร้างความนิยมเพื่อตรึงคนดู  แต่มักใช้บทตลกนอกเรื่องนอกบทแบบ “ตลกคาเฟ่” และการใช้การร้องเพลงโชว์  เน้นที่ความสมบูรณ์ของเครื่องเสียงเครื่องดนตรีสากล  ส่วนหนังตะลุงที่ “เล่นดี” (กลอนดี/เสียงดี/เรื่องดี/ตลกดี/มีคติสอนใจ/เดินรูนาดรูปดี ฯลฯ) แบบดั้งเดิมไม่ค่อยมี  และไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าพวกร้องเพลงกับตลกนอกเรื่อง
 
ภาวะคุกคามเหล่านี้ต้อนให้นายหนังตะลุงรุ่นใหม่มาติดมุม และหันไปเผชิญหน้ากับความเสื่อมค่านิยมและความสับสนว่าตัวเองจะเป็น “หนังเล่นดี” หรือ “หนังเล่นหรอย”  จะเล่นตามขนบนิยมและใช้ศักยภาพของความเป็นหนังตะลุงที่มีศิลปาการ  หรือจะสุกเอาเผากินแบบ “ตลกคาเฟ่” หรือ “ตะลุงคอนเสิร์ต” เสียงบ่นจากโรงหนังตะลุงแว่วมาว่า  “คนไม่นิยมรับหนังตะลุง”  “งานวัดไม่มีหนังตะลุง”  “หน่วยงานราชการ  องค์กรต่างๆ ไม่สนับสนุน ไม่เห็นความสำคัญของหนังตะลุง”  ฯลฯ
 
แต่ในความเป็นจริงมีว่า  คนอยากรับหนังตะลุงยังมีอยู่ตามโอกาสอันควร  เช่น  งานบวช  งานศพ  งานขึ้นบ้านใหม่  งานแก้บนตัดเหมรย  งานวัด  งานโรงเรียน  งานของชุมชนหมู่บ้าน ฯลฯ  แต่ที่ไม่รับหนังตะลุงเพราะสาเหตุต่อไปนี้เป็นสำคัญ
 
๑. ค่าราดหนังตะลุงแพงมาก  เมื่อเทียบกับความนิยมของชาวบ้านที่มีต่อหนังตะลุงที่ลดถอยลงไปทุกปี  สวนกับกระแสสังคม  ปัจจุบันหนังที่พอเล่นได้ ยังไม่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก ค่าราดไม่ต่ำกว่าหมื่นห้าพัน  ส่วนหนังที่มีชื่อเสียงพอเป็นที่รู้จักบ้างก็สองหมื่นเป็นอย่างต่ำ  ด้วยความจำเป็นจากต้นทุนที่นายหนังต้องจ่ายทั้งค่าเช่าโรง  เครื่องเสียง  ลูกคู่  ฯลฯ
 
๒. แม้ว่าค่าราดจะแพงแต่ก็ยังมีเจ้าภาพหลายคนอยากรับหนังมาแสดงเพื่อเป็นเกียรติแก่งาน  แต่มักถูกคนแวดล้อมทัดทานว่า “ไม่คุ้มค่าราด” เพราะไม่มีคนดูหนังตะลุง  ซึ่งจากประสบการณ์ของผมก็เห็นว่าบางครั้งคนดูหน้าโรงน้อยกว่าลูกคู่บนโรงหนังด้วยซ้ำไป
 
๓. ศักยภาพของนายหนังตะลุงและคณะมีไม่มากพอ ที่จะสร้างการยอมรับจากคนดูเหมือนนายหนังสมัยก่อนได้  ทำไมนายหนังสมัยก่อนจึงเป็นอมตะอยู่จนทุกวันนี้  มีข้อคิดน่าสนใจอยู่อย่างหนึ่งว่า  ถ้าคนหน้าเวทีคอนเสิร์ตสามารถต่อเพลงของนักร้องได้  นักร้องคนนั้นถือว่าประสบความสำเร็จ  แต่ถ้านายหนังตะลุงคนไหนขับบทแล้วคนดูหน้าโรงต่อกลอนได้ทุกวรรค  นายหนังคณะนั้นหมดอนาคตทางการแสดงในไม่นาน
 
ทางเลือกเพื่อทางรอดของนายหนังตะลุงคืออะไร  ผมจะนำเสนอในโอกาสต่อไปครับ
 


กำลังโหลดความคิดเห็น