คอลัมน์ : สกู๊ปจุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
ประเด็นสำคัญในการที่ตำรวจทางหลวง จ.นราธิวาส สกัดรถยนต์ขนระเบิดจำนวน 41 ลูกได้พร้อมอุปกรณ์ในการประกอบระเบิด นั่นจะทำให้เจ้าหน้าที่และประชาชนในพื้นที่หายใจโล่งออกไปเปลาะหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่า “ความปลอดภัยในพื้นที่จะลดลง” เนื่องจากหน่วยข่าวความมั่นคงเองก็เชื่อว่า ยังมีระเบิดที่ถูกนำเข้ามาก่อนหน้านี้ โดยถูกนำไปซุกซ่อนไว้ในพื้นที่ต่างๆ แล้วจำนวนหนึ่ง เพื่อใช้ก่อเหตุด้วยการ “ปูพรม” หลังการปฏิบัติศาสนากิจรายอแนของผู้นับถือศาสนาอิสลามใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
แต่เพราะระเบิดล็อตสุดท้ายที่ “โจรใต้” หรือ “แนวร่วม” ขบวนการแบ่งแยกดินแดนนำเข้ามาเพื่อใช้ก่อการร้ายในพื้นที่ อ.ตากใบ และ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ถูกยึดได้เสียก่อน ทำให้เจ้าหน้าที่ตื่นตัวและปฏิบัติการควบคุมพื้นที่อย่างเข้มข้น ทำให้แผนปูพรมด้วยระเบิด “ไปป์บอมบ์” ของขบวนการต้องล้มเลิกชั่วระยะหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าโจรใต้ต้องรอจังหวะและโอกาสให้เจ้าหน้าที่เผลอ แล้วจึงลงมือปฏิบัติการ
อันจะเห็นได้ว่าหลังยึดได้ระเบิด 41 ลูกครั้งนี้แล้ว ในพื้นที่หลายอำเภอของ จ.ปัตตานี จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส หรือแม้กระทั่งที่สถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ก็มีการป่วนด้วยการทำระเบิดปลอม วางหลอกให้เจ้าหน้าที่ไปทำการตรวจสอบเก็บกู้อย่างโกลาหล
คงเป็นไปตามยุทธวิธีการป่วนที่ “เท็จๆ ๆ...” แล้วก็ “จริง” หรือโจรใต้อาจจะวางระเบิดปลอมๆ ในพื้นที่ต่างๆ เพื่อต้องการ “พิสูจน์ทราบ” ถึงการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติการตรวจสอบ เก็บกู้ เพื่อประโยชน์ของโจรใต้ในการรับรู้วิธีการของเจ้าหน้าที่ก็เป็นได้
และที่ต้องเตือนให้ทุกฝ่ายระมัดระวังตัวในการร่วมกันป้องกันเหตุร้ายป่วนเมืองที่อาจจะเกิดขึ้น นั่นคือ “ข่าววงใน” ที่ได้เบาะแสว่าเป้าหมายของโจรใต้ในครั้งนี้คือ “กิจการของคนไทยพุทธ” โดยเฉพาะห้องอาหาร ร้านคาราโอเกะ และแหล่งอบายมุขอื่นๆ ตามแผน “ชี้ความบกพร่อง” ของรัฐ รวมถึงเป้าหมายอื่นๆ เช่น จุดตรวจสามฝ่ายที่เป็นจุดตรวจที่มักมีจุดบกพร่องในพื้นที่
ในส่วนของไทยพุทธเอง สิ่งที่ต้องระมัดระวังที่จะตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์คือ ประเด็นการวิสามัญ “สุไลมาน”แนวร่วมที่หมาย ป.วิอาญาที่ อ.กระพ้อ จ.ปัตตานี เมื่อหลายวันที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าประชาชนในพื้นที่ไม่พอใจเจ้าหน้าที่รัฐต่อปฏิบัติการครั้งนี้ เพราะเห็นว่าเจ้าหน้าที่มีโอกาที่ “จับเป็น” โดยไม่ต้อง “จับตาย” ก็ได้
และหากจับสังเกตจะพบว่า ในการฝังศพของสุไลมานมีการตะโกนของประชาชนที่ร่วมฝังศพเฉกเช่นผู้ตายเป็น “นักรบของพระเจ้า” เหมือนกับหลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับการตายของแนวร่วมคนสำคัญในพื้นที่
ดังนั้นหน่วยงานความมั่นคงอย่าง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งเป็นเจ้าภาพในการดับไฟใต้ จึงยังต้องเหน็ดเหนื่อยต่อไปในการป้องกันเหตุร้าย และในการหาแหล่งซุกซ่อนระเบิดที่เชื่อว่า ส่วนหนึ่งถูกนำเข้ามาแล้วและกระจายอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส หรือถ้าหาไม่พบก็ต้องอาศัย “พระสยามเทวาธิราชเจ้า” ให้ปกป้องคุ้มครองคนในพื้นที่ โดยภาวนาให้ระเบิดไปป์บอมบ์เสื่อมสภาพไม่สามารถใช้งานได้ เพราะระเบิดที่ประกอบเองจำพวกนี้เมื่อผ่านเวลา 20-30 วันอาจจะเสื่อมสภาพเองได้
แต่ก็นั้นแหละการอาศัย “โชคช่วย” ย่อมไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหา เพราะโชคไม่ได้อยู่กับเราตลอดไป เช่นเดียวกับพระสยามเทวาธิราชเจ้าก็มีเวลาพักผ่อน ดังนั้นวิธีการที่ถูกต้องคือ หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องทำหน้าที่ให้ “หนักกว่าเดิม” และที่สำคัญหน่วยงานในพื้นที่ต้องไม่สร้าง “เงื่อนไขใหม่” ขึ้นมา เพื่อทำให้สถานการณ์ เลวร้ายลงไปกว่าเดิม
เรื่องการ “จับตายสุไลมาน” คือเรื่องของการสร้าง “เงื่อนไขใหม่” ให้เกิดขึ้น ทำให้มวลชนในพื้นที่เห็นถึงความ “ไม่จริงใจ” ของหน่วยงานความมั่นคง แม้ประกาศจะยึดมั่นในกฎหมายและในมนุษย์ธรรม เมื่อมวลชนไม่เชื่อมั่นในหน่วยงานของรัฐ สถานการณ์ในพื้นที่ก็จะเกิดความรุนแรงและกลายเป็น “เปิดช่องทาง” ให้บีอาร์เอ็นฯ ปฏิบัติการตอบโต้ด้วยความรุนแรง โดยอ้างเป็นความชอบธรรม เพราะเป็นความประสงค์ของมวลชน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพในที่เกิดเหตุที่ถูกสื่อนำไปเผยแพร่ ทั้งในสื่อสิงพิมพ์และในโซเซียลมีเดียต่างก็เน้นเป็นภาพคนตาย ภาพเหตุการณ์ในที่เกิดเหตุ ถามว่าภาพเหล่านี้หลุดมาได้อย่างไร ก็ต้องตอบว่าเป็นภาพของเจ้าหน้าที่ที่มีการปล่อยออกไปตามไลน์ต่างๆ และภาพเหล่านี้ถูกแนวร่วมนำไปทำ “ปฏิบัติการไอโอ” เพื่อทิ่มแทงหน่วยงานของรัฐ ประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ “ผู้รับผิดชอบ” ต้องแก้ไขและต้องไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก
หรือในกรณีของการตรวจค้นบ้านพักของ “โซรยา จามจุรี” นักวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และยังเป็นนักกิจกรรมในพื้นที่ ซึ่งถูกค้นบ้านพักจากการที่พบว่า คนร้ายที่ก่อเหตุวางระเบิดตู้เอทีเอ็มในเขตเทศบาลเมืองปัตตานีเข้าไปป้วนเปี้ยนในบริเวณนั้น หลังจากที่ก่อเหตุผ่านไปแล้ว
ถ้าเจ้าหน้าที่ทำความเข้าใจให้ถูกต้องตั้งแต่เบื้องต้น ถ้าเจ้าหน้าที่ใช้ปิยะวาจาในการสื่อสาร เรื่องก็อาจจะไม่บานปลายจนภาคประชาสังคมต้องออกมาเคลื่อนไหว และหน่วยงานที่รับผิดชอบก็คงไม่ต้อง “เสียรางวัด” ออกมาแถลงข่าวหลังเกิดเหตุ
เหล่านี่คือการสร้างเงื่อนไขให้เกิดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ ซึ่งกลายเป็นว่าในขณะที่หลายหน่วยงานพยายามทำหน้าที่ “ราฟืนจากเตา” แต่เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติในพื้นที่ยังคง “ซุนฟืนเข้าเตา” เพื่อสร้างความร้อนแรงให้เกิดขึ้น ซึ่งก็เฉกเช่นเดียวกับการ “ดับไฟกองเก่า แล้วก่อไฟกองใหม่” ขึ้นทดแทน จนทำให้มองไม่เห็นว่าไฟใต้จะมอดดับได้อย่างไรและเมื่อไหร่
แต่ในสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นนั้น เป็นธรรมดาที่ยังคงมีสิ่งที่ดีๆ เกิดขึ้นให้เห็นว่า หลายปัญหาที่กำลังลุกลามกลายเป็นเรื่องใหญ่ เวลานี้ได้ถูกทำให้เป็นเรื่องเล็กลงแล้ว เช่นเรื่อง “ฮิญาบ” ในโรงเรียนอนุบาลปัตตานี ซึ่งทั้งกลุ่มมุสลิมสุดโต่งและกลุ่มไทยพุทธสุดโต่งถูกผู้อยู่เบื้องหลัง “เสี้ยม” ให้ออกมาชนกันเพื่อให้เกิดความขัดแย้งในเรื่องของ”ศาสนานั้น ณ วันนี้น่าจะเป็น “ฟืนเปียกในกองไฟ” ไปแล้ว
เรื่องที่อาจจะจุดไม่ติดก็เพราะการที่หลายฝ่ายร่วมมือกันในการแก้ปัญหา ในขณะที่มุสลิมในพื้นที่ก็เห็นว่า เมื่อโรงเรียนแห่งนี้มีกฎระเบียบ ถ้าผู้ปกครองเห็นว่าไม่ต้องการให้บุตรธิดาเรียนที่นี่ก็สามารถไปเรียนที่อื่นๆ ที่ซึ่งสามารถที่จะแต่งกายต่างที่ต้องการได้ ดังนั้นเมื่อมุสลิมส่วนใหญ่ “เข้าใจ” และไม่ต้องการที่จะให้เกิด “ความขัดแย้ง” การแก้ปัญหาก็ง่ายขึ้นนั่นเอง
หรืออย่างกรณีการตรวจค้นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาของ ฉก.ปัตตานี ที่มีคนพยายามให้กลายเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้ง แต่เพราะประชาชนเข้าใจและรู้ว่าโรงเรียนเหล่านี้มีการ “ทุจริตจริง” การเข้าไปจัดการของหน่วยงานความมั่นคงจึงเป็นการ “คืนความยุติธรรม” ให้กับครูในโรงเรียนให้ได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นตามระเบียบของการจัดการศึกษา
ดังนี้แล้วการเข้าไปจัดการกับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม จึงกลายเป็นว่า “ครู” ในโรงเรียนเหล่านั้นได้ประโยชน์ นั่นเท่ากับไฟกองนี้จุดไม่ติดนั่นแหละ
ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดในการที่จะดับไฟใต้ได้สำเร็จ จึงคือการจัดการกับ “บีอาร์เอ็นฯ” จัดการกับ “เส้นทางลำเลียง” และ “อาวุธ” หรือวัตถุสิ่งของที่ใช้ในการประกอบระเบิดจากประเทศมาเลเซีย สำหรับการ “พูดคุยสันติสุข” ที่ต้องพูดคุยให้ถูกฝาถูกตัวนั้น ก็เพื่อจะได้มีแนวทางของการดับไฟใต้ที่ชัดเจนด้วยเช่นกัน