xs
xsm
sm
md
lg

คนไทยทำได้! เอกชนรายแรกตั้งสถานีจำหน่าย “แก๊สชีวภาพมีเทน” ลดของเสียจากโรงงานเหลือศูนย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
นครศรีธรรมราช - คนไทยทำได้! เอกชนรายแรกของประเทศไทย ผลิตแก๊สชีวภาพเป็นเชื้อเพลิงรถยนต์เพื่อการพาณิชย์สำเร็จ ลดของเสียจากโรงงานปาล์มน้ำมันเหลือ 0 เปอร์เซ็นต์ กากปาล์ม-น้ำเสียทุกส่วนใช้ประโยชน์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

ท่ามกลางวิกฤตการณ์ของเสียจากโรงงานปาล์มน้ำมันหลายแห่งในประเทศไทย กลายเป็นผลกระทบต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อม ดังข่าวคราวปรากฏมาอย่างต่อเนื่อง แต่โรงงานปาล์มน้ำมันของบริษัท เกษตรลุ่มน้ำ จำกัด ในพื้นที่ ต.ช้างซ้าย อ.พระพรหม จ.นครศรีธรรมราช ไม่ได้เป็นเช่นนั้น การพัฒนาขีดความสามารถในการจัดการของเสียจากการผลิตน้ำมันปาล์ม จนกลายเป็นมูลค่า ทั้งการผลิตไฟฟ้า ผลิตแก๊ส CBG. และเศษที่เหลือจากกระบวนการ กลายเป็นปุ๋ยใช้ในการเกษตรเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างหมดจด
 

 
CBG. คือ Compressed bio-methane gas หรือเรียกตรงตัวว่า “แก๊สไบโอมีเทนอัดด้วยแรงดันสูง” มีกรรมวิธีได้มาจากนำเอาแก๊สชีวภาพมาปรับปรุงคุณภาพ โดยการลดแก๊ส CO2, H2S และนำความชื้นออก จนมีปริมาณก๊าซมีเทน (CH4) เพิ่มขึ้นตามที่กฎหมายหรือตามมาตรฐานกำหนด โดยมีคุณสมบัติเทียบเท่าก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV/CNG) แล้วอัดลงถังที่แรงดัน 200-250 barg เพื่อเป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ สำคัญคือแก๊สตัวนี้ได้มาจากกระบวนการหมักของเสียแบบชีวภาพ ใช้แบคทีเรียเป็นตัวผลิตแก๊ส ไม่ได้ไปขุดเจาะมาจากที่ไหน ของเสียในโรงงานที่มีอยู่จำนวนมากเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญ
 

 
ดร.กณพ เกตุชาติ วิศวกรหนุ่มใหญ่ ผู้บริหารบริษัท เกษตรลุ่มน้ำ จำกัด ใช้วิธีการนี้ทำมันให้สำเร็จขึ้น และสามารถเป็นสถานีจำหน่าย CBG. แก๊สในเชิงพาณิชย์ ด้วยฝีมือของเอกชนเป็นรายแรกของประเทศไทยได้อย่างเต็มภาคภูมิ

“น้ำเสียจากโรงงานผลิตน้ำมันปาล์ม กากปาล์มคือวัตถุดิบ แต่ที่มีอยู่แทบจะไม่พอต่อการผลิต ต้องนำเอามูลวัว และหญ้าเนเปียร์เข้ามาผสมในบ่อแก๊ส ซึ่งนอกจากจะนำไปสู่การผลิตเป็น CBG. ซึ่งมีความสะอาด และคุณภาพสูงเทียบเท่ากับแก๊สจากแหล่งปิโตรเลียมแล้วนั้น แก๊สมีเทนชีวภาพที่ได้จากบ่อ ยังนำไปสู่การผลิตไฟฟ้าขนาด 1 เมกะวัตต์ ป้อนเข้าสู่ระบบการจำหน่ายของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ตั้งแต่ปี 2557 อีกด้วย นั่นคือความสำเร็จแรก ก่อนที่จะพัฒนามาสู่การผลิต CBG. ที่มีปริมาณการผลิตที่เพียงพอตั้งสถานีจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้เป็นแห่งแรกของประเทศไทย ด้วยการพัฒนาของเอกชน” วิศวกรหนุ่มรายนี้ กล่าว
 

 
ดร.กณพ ยังอธิบายถึงการพัฒนาคุณภาพของแก๊สมีเทนที่ได้จากของเสียนี้ว่า ต้องพัฒนาคุณภาพของแก๊ส และเข้าสู่กระบวนการอัด จนมีคุณภาพที่สามารถเป็นเชื้อเพลิงรถยนต์ และรถบรรทุกได้นั้น มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ด้วยความร่วมมือกันระหว่างบริษัท เกษตรลุ่มน้ำ กับบริษัท โอซากาแก๊ส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนผู้พัฒนาเทคโนโลยีระบบแก๊สชีวภาพ จากประเทศญี่ปุ่น จนคุณภาพของแก๊สไบโอมีเทนที่ได้นั้นมีคุณภาพสูง ได้รับการรับรองจากกระทรวงพลังงาน จนขณะนี้สถานีจำหน่ายเกิดขึ้น และมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ในราคาเพียงกิโลกรัมละ 14 บาทเศษเท่านั้น ถูกกว่าแอลพีจี และเอ็นจีวี คุณภาพที่ได้กลับดีกว่าด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นการยืนยันจากผู้ที่ใช้แล้ว

ส่วนกากของเสียที่เหลือจากบ่อหมักนั้น ยังมีหลงเหลือทิ้งหรือไม่ เป็นคำถามที่น่าสนใจ แต่คำตอบที่ได้รับคือของเสียไม่มี มีแต่ของดีที่ออกมา การหมักจะทำให้ทุกอย่างย่อยสลายไปเกือบหมด เหลือกากออกมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น กากนี้จะกลายเป็นปุ๋ยอย่างดีที่เกษตรกรนำเอาไปใช้ในแปลงเกษตรกรรมอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญโรงงานแห่งนี้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ และเป็นต้นแบบของโรงงานเอกชนที่รักษาสิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรให้เกิดคุณค่า และก่อให้เกิดมูลค่าสูงสุด และยังเป็นโรงงานที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้ให้ความสำคัญในการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง
 







กำลังโหลดความคิดเห็น