คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ / โดย...ไชยยคง์ มณีพิลึก
.
สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในห้วงของ “เดือนรอมฎอน” ปี 2561 ที่เพิ่งผ่านพ้น นับว่าเป็นไปอย่างที่ผู้เขียนได้วิเคราะห์ไว้ตั้งแต่ช่วงก่อนเข้าสู่เดือนรอมฎอนประมาณ 10 วันมาแล้ว ซึ่งได้ชี้ว่าสถานการณ์เดือนรอมฎอนปีนี้จะกลับไปสู่ความรุนแรงเหมือนในอดีตอีกครั้ง
โดยมีปัจจัยสำคัญคือ ยุทธศาสตร์ 2 ปีของ “ขบวนการอาร์เอ็นฯ” ที่ยังมีเข็มมุ่ง 2 ประการด้วยกัน ประการแรกคือ การแบ่งแยกคน หรือการสร้าง “สังคมเชิงเดี่ยว” ให้เกิดขึ้นอย่างเข้มข้น และประการที่สองคือ การ “ชี้ความผิดพลาดของอำนาจรัฐ” ทั้งด้านการดำเนินนโยบายและการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่
โดยบีอาร์เอ็นฯ จะหยิบความผิดพลาดที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการ “จงใจ” หรือ “พลั้งเผลอ” ไปแปรให้เป็น ปฏิบัติการ ซึ่งถือเป็น “งานการเมือง” ที่สำคัญของบีอาร์เอ็นฯ นั่นเอง
นอกจากนั้น บีอาร์เอ็นฯ ยังใช้ความรุนแรงกับ “มุสลิม” ด้วยกัน เพื่อข่มขู่และข่มขวัญให้เกิดความหวาดกลัว แล้วไม่กล้าร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐ แม้ว่าจะเห็นด้วยและต้องการให้ความร่วมมือก็ตาม
เช่นการฆ่า “รองประธานกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี” ซึ่งแม้ว่าจะไม่มีหลักฐานในเรื่องของอาวุธปืนที่ใช้ในการสังหาร เพราะปลอกกระสุนที่พบไม่เคยปรากฏว่าเคยถูกใช้ก่อเหตุมาก่อน แต่ก็มีหลักฐานในการสืบสวนที่ชัดเจนถึงกลุ่มผู้ปฏิบัติการว่า เป็น “แนวร่วมรุ่นใหม่” ของบีอาร์เอ็นฯ
ดังนั้น ประเด็นอาวุธปืนและปลอกกระสุนจึงไม่ใช่ประเด็นสำคัญในการที่ตำรวจจะสรุปสำนวนคดี เพราะ “แนวร่วม” หรือ “ชุดปฏิบัติการ” ของบีอาร์เอ็นฯ ในพื้นที่ ย่อมที่จะมีอาวุธใหม่ในการใช้งาน โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้แต่อาวุธเก่าที่เป็น “ปืนกองกลาง” เท่านั้น
สิ่งที่หน่วยความมั่นคง รวมถึงตำรวจและทหารในพื้นที่ต้องทราบคือ กลุ่มแนวร่วมรุ่นใหม่ของบีอาร์เอ็นฯ จำนวน 2 กลุ่ม กล่าวคือ กลุ่มแรกเป็นกลุ่มปฏิบัติการด้วย “อาวุธปืน” และกลุ่มที่ 2 คือกลุ่มผู้ปฏิบัติการด้วย “ระเบิดแสวงเครื่อง” ถูกส่งลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และพร้อมปฏิบัติการด้วยการประสานกับ “เครือข่าย” ในพื้นที่
ประเด็นการสังหารรองประธานกรรคมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี มีประเด็นที่ต้องติดตามอยู่ 2 ประเด็น ประกอบด้วย ประเด็นแรกผู้เป็นเป้าสังหารเป็นนักการศาสนา และเป็นนักวิชาการสันติวิธีที่สนับสนุนงาน “สันติวิธี” ของ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” มาโดยตลอด อันเป็นการ “ขัดขวาง” นโยบายของบีอาร์เอ็นฯ
ประเด็นที่ 2 ผู้ตายได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากประธานกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี ให้เป็น “ประธานอนุกรรมการเพื่อบริหารงานพูดคุยเพื่อสันติสุข” ซึ่งเป็นการพูดคุยที่บีอาร์เอ็นฯ ไม่ได้ส่งเสริมหรือให้การสนับสนุน
ที่สำคัญประธานคณะอนุกรรมการชุดนี้ต้องมีหน้าที่ดูแล “3 นักโทษเด็ดขาด” ซึ่งเป็นคนของบีอาร์เอ็นฯ ที่ถูกสั่งให้ปล่อยตัวจากเรือนจำเพื่อไปปฏิบัติภารกิจในการพูดคุยสันติสุข เพื่อสร้าง “พื้นที่ปลอดภัย” หรือ “เซฟตี้โซน” ที่ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส
ซึ่งทั้ง 2 ประเด็นล้วนนำมาสู่การถูก “สั่งตาย” ได้ทั้งสิ้น เพราะอย่าลืมว่านับตั้งแต่ที่มีการ “พูดคุยสันติภาพ” ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มี พล.ท.ภารดร พัฒนถาบุตร เป็นหัวหน้าคณะพูดคุย จนมาถึงสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ยังดำเนินการพูดคุยต่อ เพียงแต่เปลี่ยนชื่อเป็นการ “พูดคุยสันติสุข” เวลานี้มีผู้นำศาสนาที่ทำหน้าที่ประสานกับ “กลุ่มมาราปาตานี” ถูกสังหารไปแล้วไม่ต่ำกว่า 4 ราย
ดังนั้น การเสียชีวิตของรองประธานกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานีอาจจะทำให้ขบวนการสร้าง “สันติวิธี” และการ “พูดคุยสันติสุข” เกิดมีปัญหาและอุปสรรคขึ้นได้ โดยเฉพาะผู้ที่จะไปร่วมขับเคลื่อนแนวทางสันติวิธีในรูปแบบ “พหุวัฒนธรรม” รวมทั้งการขับเคลื่อนเซฟตี้โซนอาจจะไม่กล้าที่จะให้ความร่วมมือกับหน่วยงานความมั่นคง
เมื่อดูตามรูปการณ์ในขณะนี้เชื่อว่า ในส่วนของการเดินหน้าสร้างเซฟตี้โซนระหว่าง พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุย กับตัวแทนของกลุ่มมาราปาตานีอาจจะ “หยุดยาว” จนกว่าประเทศไทยจะมี “รัฐบาลใหม่” ที่มาจากการเลือกตั้ง
และเมื่อขับเคลื่อนไม่ได้ เรื่องการพูดคุยสันติสุขและเรื่องเซฟตี้โซน รวมทั้งเรื่องผู้ต้องหาเด็ดขาด 3 คนที่ถูกพักโทษ จึงน่าจะเป็น “ภาระ” ของ “ฉก.ปัตตานี” ไปก่อน จนกว่ารัฐบาลมาเลเซียจะส่ง “สัญญาณ” เพื่อขับเคลื่อนโต๊ะการพูดคุยอีกครั้ง
เพราะหลังจากที่ ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด ก้าวมาเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศมาเลเซียก็ได้ “ปลดดาโต๊ะซัมซามิน” พ้นจากหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุย และมีการ “ปลับเปลี่ยนผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล” ที่ต้องถือเป็น “หัวใจ” สำคัญของการแก้ปัญหาขบวนการแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ของไทย นอกจากนั้นเวลานี้ มาเลเซียยัง “จัดการปัญหาภายในประเทศ” ตนเองยังไม่เรียบร้อย อำนาจรัฐในมือของ ดร.มหาเธร์ยังไม่ “เสถียร” ดังนั้นเรื่องของการพูดคุยสันติสุขจึงไม่ใช่เรื่องสำคัญสำหรับผู้นำรัฐบาลมาเลเซีย
ส่วนเรื่องการ “ฆ่าหมู่มุสลิม” ใน 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งบีอาร์เอ็นฯ ได้ดำเนินการ “ไอโอ” ว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐนั้น แม้ว่า พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จะแถลงข่าวว่าเป็นการกระทำของแนวร่วมบีอาร์เอ็นฯ ในพื้นที่แล้วก็ตาม โดยมีหลักฐานจากปลอกกระสุนปืนที่ระบุได้ว่า มาจากอาวุธปืนที่เคยปฏิบัติการสังหารเจ้าหน้าที่และประชาชนในพื้นที่มาเป็นจำนวนมาก
แต่เมื่อ กอ.รมน. และตำรวจยังขาดความชัดเจนในที่มาของสาเหตุการสังหารหมู่ 2 เหตุการณ์นี้ ซึ่งก็ยังไม่สามารถที่จะสร้างความเชื่อถือให้เกิดขึ้นกับมุสลิมที่เป็นคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ได้ แถมกลับยังมีอคติกับเจ้าหน้าที่รัฐเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อขาดข้อมูลที่ชัดเจนถึงสาเหตุของการสังหาร พวกเขาจึงยังเชื่อปฏิบัติการไอโอของบีอาร์เอ็นฯ อยู่นั่นเอง
สำหรับการ “ฆ่า 4 ศพมุสลิม” ในพื้นที่รอยต่อระหว่าง อ.สุคิริน กับ อ.จะแนะ จ.นราธิวาสนั้น บีอาร์เอ็นฯ ถือโอกาส “ขยายรอยร้าว” ระหว่างคนในพื้นที่ให้หวาดระแวงซึ่งกันและกันเพิ่มขึ้นได้อีก เพราะอย่าลืมว่าก่อนหน้านี้ไม่กี่วันชาวบ้านใน อ.สุคิรินมีการรวมตัวกันต่อต้าน “โครงการพาคนกลับบ้าน” ที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องการให้แนวร่วมขบวนการแย่งแยกดินแดนจำนวน 105 คนไปตั้งรกรากใน อ.สุคิริน แต่ได้รับการต่อต้านจน กอ.รมน.ต้องล่าถอยแบบ “ญะญ่ายพ่ายจะแจ” มาแล้ว
และอีกประเด็นที่อาจจะนำมาสู่การสังหารหมู่ 4 ศพเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งข่าว “วงใน” อ้างว่าแนวร่วมได้ เตือนครอบครัวนี้หลายครั้งว่า ห้ามไปร่อนทองในบริเวณดังกล่าว แต่ก็ไม่เชื่อฟัง เพราะอาจจะเห็นว่าเป็นมุสลิมด้วยกัน
เหตุผลหนึ่งที่แนวร่วมไม่ต้องการให้มีการร่อนทองในบริเวณนั้น อาจจะมาจากในพื้นที่ อ.จะแนน ที่เป็นรอยต่อกับ อ.สุคิริน และเป็นเขตอิทธิพลของบีอาร์เอ็นฯ เป็นพื้นที่เคลื่อนไหวและใช้ฝึกแนวร่วม จึงไม่ต้องการให้ชาวบ้านเข้าไปพบเห็นอะไร และเมื่อเตือนไม่เชื่อ จึงทำการสังหาร ซึ่งเป็นการ “ยิงปืนนัดเดียว ได้นกสองตัว” อีกด้วย
เช่นเดียวกับกรณี “ฆ่า 5 ศพมุสลิม” ที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งคนทั้งหมดเป็นกลุ่มผู้ค้ายาและเสพยาเสพติดในพื้นที่ โดยก่อนที่จะมีการฆ่าหมู่ก็มีการเตือนจาก “แกนนำ” บีอาร์เอ็นฯ ให้เลิกการค้ายาเสพติดมาแล้ว แต่ไม่มีเชื่อฟัง
จึงมีเหตุผลที่เป็นไปได้ว่า บีอาร์เอ็นฯ สังหารคนทั้ง 5 คนเพื่อให้มวลชนเห็นถึงความผิดพลาดของอำนาจรัฐที่ไม่สนใจในเรื่องการปราบปรามยาเสพติด ทั้งที่คนในพื้นที่ต้องการให้มีการการปราบปราบ รวมทั้งต้องการตอบโต้ข้อกล่าวหาของหน่วยงานความมั่นคงว่า บีอาร์เอ็นฯ สนับสนุนให้มีการค้ายาเสพติดเพื่อนำ “เม็ดเงิน” มาใช้ในการสนับสนุนการก่อการร้าย ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ก็แสดงให้เห็นว่า บีอาร์เอ็นฯ กำลังใช้ “เงื่อนไข” นี้ในงานการเมืองของขบวนการ
และที่สำคัญในอดีต “โจรจีน” หรือ “โจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายา (จคม.)” ก็เคยใช้วิธีการนี้ในการสร้างฐานให้มวลชนสนับสนุนมาแล้ว ด้วยการจัดการกับมิจฉาชีพ ผู้มีอิทธิพล ผู้ที่ก่อความเดือดร้อนให้ประชาชน โดยทำหน้าที่ “แทนเจ้าหน้าที่” จนเป็นสาเหตุให้โจรจีนได้รับการสนับสนุนจาก “คนชนบท” ในขณะนั้น ถึงขั้นพร้อมที่จะจ่ายเงิน “ค่าคุ้มครอง” ให้ด้วยความเต็มใจ เพราะได้รับการคุ้มครองที่ดีกว่าจ่ายภาษีให้รัฐ
ดังนั้น สถานการณ์ไฟใต้ครั้งนี้จึงย่อมไม่หมดไปกับการหมดไปของเดือนรอมฎอน เนื่องจากบีอาร์เอ็นฯ ยังต้องปฏิบัติการภายใต้ยุทธศาสตร์ 2 ปีต่อไป เพื่อสร้างความเข็มแข็งทางการเมืองให้เกิดขึ้น
เวลานี้แม้จะผ่านเดือนรอมฎอนไปแล้ว แต่ก็ยังมี “ปัจจัยใหม่” ที่จะใช้ในการขยายผลของบีอาร์เอ็นฯ ต่อเนื่องได้อีก นั่นคือให้จับตาเรื่องปัญหา “ฮิญาบ” ใน “โรงเรียนอนุบาลปัตตานี” ซึ่งเรื่องนี้จบแล้วในทางกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ แต่ยังไม่จบในเรื่องของ “ความรู้สึก” และบีอาร์เอ็นฯ ต้องนำไปขยายผลต่อตามยุทธศาสตร์ที่เน้นการ “แยกคน” ที่มีการปฏิบัติการอย่างเข้มข้นใน 2 ปีนี้
เรื่องฮิญาบที่โรงเรียนอนุบาลปัตตานีไม่ใช่เรื่องของ “ความบังเอิญ” แต่เป็นเรื่องที่มีการเคลื่อนไหวอย่างมี “เป้าหมาย” และต้องการให้ “ลุกลาม” ไปทั่วประเทศ เพราะบีอาร์เอ็นฯ จับประเด็นที่จะนำเอา “ไทยพุทธสุดโต่ง” กับ “มุสลิมสุดโต่ง” ให้ออกมาปะทะกัน ส่วนจะได้ผลมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ว่าจะดำเนินยุทธศาสตร์อย่างไรกับเรื่องที่เกิดขึ้น
ทั้งหมดที่นำมาเขียนถึงเพียงเพื่อจะบอกว่าการ “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” นั่นเอง แต่ที่ผ่านมาเป็นเพราะ “รู้เรา” ก็ยังรู้ไม่หมด แล้วยังไม่ “รู้เขา” ให้ถ่องแท้ จึงประเมินบีอาร์เอ็นฯ ผิดพลาดมาโดยตลอด จนนำไปสู่ 14 ปีแห่งความยืดเยื้อของไฟใต้อย่างทุกวันนี้นั่นเอง