xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจ “ครูนิง-รอฮานิง มะแซสะอิ” แม่พระของเด็กพิเศษชายแดนใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 
เรื่องและภาพโดย  :  เพิ่มศักดิ์  โตสวัสดิ์
 

 
ถ้าเราเปรียบเด็กว่าเป็นผ้าใบสีขาว ผู้ใหญ่ก็คงเป็นจิตรกรที่ทำหน้าแต่งแต้มสีสันลงไป เพื่อรังสรรค์ผลงานอันวิจิตรออกมา การเลี้ยงดูและอบรมที่ดีจึงเป็นเสมือนแม่สีที่ถูกใช้แต่งแต้มลงไปว่า ต้องการให้ผลงานชิ้นนั้นจะออกมาแนวไหน การรเลี้ยงดูเด็กจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเป็นปัจัยหลักที่จะช่วยปลูกฝังทัศนคติให้เด็กเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดีมีคุณภาพได้ต่อไป
 
อย่างไรก็ตาม ยังมีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงการเลี้ยงดูที่ดีพอ เด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กพิเศษที่มีความผิดปกติของร่างกาย เช่น สูญเสียระบบประสาทรับรู้ตั้งแต่กำเนิด ออทิสติก และดาวน์ซินโดรม ซึ่งความพิการดังกล่าวสร้างความลำบากในการดำรงชีวิตให้กับพวกเขาเป็นอย่างมาก ขณะที่ผู้ปกครองของเด็กเหล่านี้ก็มองดูอนาคตของบุตรหลานด้วยความพร่ามัวเช่นกัน
 
“ไม่มีใครอยากเกิดมาพิการหรอก แต่เมื่อเขาเกิดมาแล้วเราก็ต้องช่วยให้เขาดำรงชีวิตอยู่ได้ ครูเชื่อแบบนั้น”
 
คำพูดที่ รอฮานิง มะแซสะอิ หรือ ครูนิง มักจะกล่าวให้กำลังใจผู้ปกครองที่นำบุตรหลานมาเข้าเรียนที่ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดนราธิวาส หน่วยบริการยี่งอ ซึ่งรับผิดชอบดูแลเด็กพิการในอำเภอยี่งอ ทั้งสิ้น 62 ชีวิต โดยเป็นเด็กพิการประเภทไป-กลับ มาเรียนวันจันทร์-ศุกร์ จำนวน 23 คน และเด็กพิการแบบรับบริการที่บ้าน ซึ่งครูนิงและพี่เลี้ยงอีก 3 คนต้องออกไปสอนที่บ้านทุกบ่ายวันอังคารและพฤหัสอีก 39 คน
 

 
หากนับจากปี 2547 มาจนถึงปัจจุบันก็เป็นเวลา 14 ปีแล้ว ที่ครูนิงทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจในการสอนเด็กพิเศษเหล่านี้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กพิเศษคนสำคัญของจังหวัดนราธิวาสไปแล้ว ขณะที่เพื่อนฝูงที่ร่ำเรียนด้วยกันมาตั้งแต่เด็ก ต่างก็พากันแปลกใจ เพราะไม่คาดคิดมาก่อนว่า รอฮานิงผู้มีบุคลิกห้าวหาญเหมือนกับผู้ชายจะมาเป็นคุณครูของเด็กพิเศษเหล่านี้ไปได้
 
"นิงไม่ได้จบคุรุศาสตร์มาหรอก สมัยเด็กๆ ก็ไม่คิดไม่ฝันที่จะมาเป็นครู แม้ว่าพ่อแม่เราจะทำงานที่โรงเรียน แล้วยิ่งเด็กพิเศษก็ไม่ต้องพูดถึง เพราะเราไม่รู้หรอกว่าคืออะไร ก็เราเด็กต่างจังหวัดนะ เกิดที่นราธิวาส สมัยก่อนวิชาการใหม่ๆ จะมาถึงแถวนี้มันช้ามาก เรามาเริ่มคิดอยากเป็นทนายความบ้างก็ตอนอยู่มัธยมต้น แต่จริงๆ แล้วเรื่องการเรียนต้องยกความดีให้กับแม่ เพราะเป็นคนวางแผนเรื่องการเรียนให้ แม่อยากให้เรียนพาณิชย์ เพราะหางานง่าย ก็เรียนตามแม่บอกพอขึ้นชั้น ปวช.2 เราต้องเลือกว่าจะเรียนเอกอะไร คนที่จะเรียนเอกบัญชีได้ต้องได้เกรดสามขึ้นไป แม่ก็บอกว่าถ้าได้เกรด 3  แม่จะซื้อมอเตอร์ไซค์ให้ แล้วเราก็ทำได้เกรด 3 ตามที่แม่บอก เพราะอยากได้มอเตอร์ไซค์"
 
เหตุนี้เองครูนิงจึงเลือกเรียนด้านการบัญชีจนจบปริญญาตรี แล้วใช้ชีวิตเป็นนักบัญชีอยู่ระยะหนึ่ง แต่เนื่องจากงานค่อนข้างหนักและเลิกงานดึก บางวันกลับถึงบ้านตีหนึ่งตีสอง เพราะต้องรอปิดบัญชี ครูนิงจึงรู้สึกเหนื่อยล้า เมื่อความล้าสะสมจนร่างกายไม่ไหวก็ตัดสินใจลาออก และไปฝึกอบรมหลักสูตรการทำอาหารของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพราะเดิมทีต้องการจะไปช่วยงานร้านอาหารของเพื่อน รวมทั้งส่วนตัวก็เป็นคนชอบทำอาหารเช่นกัน
 
ครูนิงอาจจะได้เป็นเชฟมือทองต่อไป หากว่าไม่ได้ไปพบกับหนังสือเล่มหนึ่งเสียก่อน หนังสือเล่มนี้บอกเล่าเรื่องราวของเด็กที่เป็นออทิสติก ซึ่งช่วยเปิดโลกทัศน์ให้ครูนิงได้รู้จักชีวิตของเด็กพิเศษว่าเป็นอย่างไร
 
"ตอนนั้นอ่านไปขำไป ว่าทำไมเด็กคนนี้ประหลาดจัง กลัวตึกสีแดง พอปี 2547 ที่ศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 2 จังหวัดยะลา รับสมัครครูอัตราจ้าง ระยะเวลาแค่ 4 เดือน เราก็ลองไปสมัครดูทั้งๆ ที่ชีวิตไม่เคยทำงานกับเด็กพิเศษเลย ไม่รู้จักด้วยซ้ำ ไม่เคยรู้จักแม้กระทั้งประเภทความพิการว่ามีถึง 9 ประเภท ไม่เคยรู้ว่าออทิสติกคืออะไร ไม่เคยรู้ว่าทำไมคนใบ้ถึงพูดไม่ได้ จนมารู้ว่าที่เขาเป็นใบ้เพราะเขาไม่ได้ยินเสียง ทำให้เขาเลียนเสียงต่างๆ ไม่ได้"
 

 
ครูนิงพกความตั้งใจและความฮึกเหิมเข้าไปทำงานอย่างเต็มที่ แต่ช่วงแรกที่ทำงานเธอก็อดท้อไม่ได้ เพราะเมื่อเด็กขับถ่ายออกมา ครูนิงก็ต้องเป็นผู้ล้างให้ ทำให้วันนั้นพาลไม่อยากทานข้าวไปเลย ขณะที่เด็กบางคนก็ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ทั้งการกิน การขับถ่าย ทำให้งานที่ทำจึงไม่ต่างกับการดูแลผู้ป่วยอัมพาตเท่าใดนัก
 
อย่างไรก็ตามเมื่อครูนิงทำงานต่อไปได้สองอาทิตย์ ก็สามารถปรับสภาพจิตใจให้ชินและคิดว่า เด็กเหล่านี้คือ ลูก รวมทั้งเปลี่ยนทัศนคติว่า การทำงานตรงนี้ ก็เหมือนกับการดูแลพ่อแม่ที่กำลังป่วยจะไปรังเกียจทำไม 
 
"เมื่อเราอยู่กับเด็กไปนานๆ มุมมองความคิดเราก็เปลี่ยน กลางวันอาจจะเหนื่อย แต่พอกลับมาบ้านก็จะรู้สึกขำในสิ่งที่เด็กเป็น ความรักใสๆ ที่ไม่เสแสร้งแกล้งทำ เขาเป็นตัวของตัวเอง ขณะที่เราก็อ่อนโยนขึ้น เข้าใจชีวิตมากขึ้น คิดว่าตอนนี้ก็ต้องขอบคุณเด็กๆ ที่ทำให้เราเป็นคนอ่อนโยน เห็นใจคนอื่นมากขึ้น"
 
ครูนิงทำงานเป็นครูพี่เลี้ยงที่ศูนย์การศึกษาฯ ยะลา จนหมดปีงบประมาณ หัวหน้าจึงแจ้งข่าวร้ายให้ทราบว่า ยังไม่ได้รับงบประมาณใหม่ แต่ถ้าใครจะทำต่อก็ขอให้ทำด้วยจิตอาสา ครูอัตราจ้างบางคนจึงถอดใจไม่มาทำ แต่ความผูกพันกับเด็กๆ ทำให้ครูนิงจึงยังไปทำงานทุกวัน โดยไม่สนใจว่าตัวเองจะได้รับเงินหรือไม่
 
สุดท้ายอานิสงค์จากความเพียรและความเสียสละก็เห็นผล เมื่อศูนย์การศึกษาฯ ยะลา มีงบประมาณก้อนใหม่ ครูนิงจึงได้รับการจ้างงานต่อ และเมื่อมีการเปิดสอบเป็นพนักงานราชการก็สามารถสอบได้ ต่อมาในปี 2552 ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดนราธิวาส เปิดสอบบรรจุครูสาขาเอกบัญชี เธอจึงตัดสินใจสอบดู เนื่องจากต้องการกลับมาอยู่ใกล้ชิดกับบุพการี และก็สามารถสอบเป็นข้าราชการได้สำเร็จ
 

 
แม้ที่ทำงานใหม่ครูนิงจะมีหน้าที่ด้านบัญชีและงานเอกสารอื่นๆ แต่ความรับผิดชอบของการเป็นครูสอนเด็กพิเศษก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง ทุกๆ เช้าครูนิงต้องออกมายืนรอรับเด็กที่มาโรงเรียน สอนการวางกระเป๋า สอนการถอดการสวมรองเท้า พาเด็กๆ ไปเข้าแถว สอนให้ยืนตัวตรงขณะเคารพธงชาติ ต้องคอยจับมือทำทุกขั้นตอน สอนกล่าวดุอาร์ตามหลักศาสนาอิสลาม นำการออกกำลังกาย แล้วพาเข้าชั้นเรียน
 
เมื่ออยู่ในชั้นเรียนครูนิงต้องสอนให้เด็กๆ รู้จักชื่อตัวเอง สอนให้รู้จักชื่อครู สอนเรื่องการใส่เสื้อผ้า การรับประทานอาหาร สอนทุกอย่างที่คิดว่าต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ทำแบบนี้ซ้ำๆ เพื่อให้เด็กเหล่านี้จดจำได้และสามารถใช้ชีวิตเองได้อย่างปกติมากที่สุด ขณะเดียวกันผู้บริหารก็มองเห็นว่า ครูนิงนั้นมีความคล่องแคล่วในการทำงาน มีวาทะศิลป์ในการพูดเพื่อให้กำลังใจคน รวมทั้งมีทักษะในการถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้อื่นได้ดี จึงมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่รองผู้อำนวยการ ดูแลเรื่องการดูแลรับผิดชอบงานหน่วยบริการทั้ง 13 อำเภอ เพื่อลงไปให้กำลังใจเด็กและครูพี่เลี้ยงคนอื่นๆ
 
สิ่งที่ได้หลังจากการทำหน้าที่ดังกล่าวก็คือ การได้รับทราบปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในหน่วยบริการฯ ทุกแห่ง ครูนิงจึงนำมาสะท้อนให้ฝ่ายบริหารรับทราบ อย่างไรก็ตามปัญหาบางอย่างก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้ แม้ว่าจะทำตามข้อเสนอแนะจากฝ่ายบริหารแล้ว ครูนิงจึงเสนอตัวขอลงมาแก้ปัญหาที่หน่วยบริการยี่งอ เพื่อใช้เป็นตัวอย่างนำร่องให้กับหน่วยบริการฯ อื่นๆ เนื่องจากครูนิงเชื่อว่าประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา ทำให้ตนเองมีศักยภาพเพียงพอที่จะแก้ปัญหาได้ แม้ว่าการอาสาในครั้งนี้จะต้องแลกกับการเดินทางจากบ้านมาทำงานเพิ่มขึ้นอีก 17 กม. โดยที่เธอเองก็ไม่ขอเบิกค่าน้ำมันในการเดินทางแต่อย่างใด
 
อาทิตย์แรกในการทำงานที่หน่วยบริการยี่งอ ของครูนิงหมดไปกับการสังเกตกิจวัตรประจำวัน ดูการสอน และสังเกตชุมชน เพื่อวิเคราะห์ถึงสาเหตุของปัญหา พออาทิตย์ที่สองครูนิงจึงเริ่มปรับภูมิทัศน์ของห้องเรียน ปรับกระบวนการเรียนการสอน เริ่มเดินเข้าหาชุมชน เพื่อให้ชุมชนรับรู้ว่าหน่วยบริการยี่งอกำลังพัฒนาลูกหลานของพวกเขา
 

 
"เราทำงานตรงนี้ทำให้เราเข้าใจหัวอกคนเป็นแม่ว่า ทุกข์ขนาดไหนเวลามีลูกพิการ หน้าที่เราจึงไม่ใช่ดูแลช่วยเหลือฟื้นฟูลูกเขาเท่านั้น แต่เราเป็นกำลังใจให้ผู้ปกครองด้วย บางคนเราต้องเขาไปพูดว่า ให้ส่งลูกมาเรียน ลูกจะได้มีพัฒนาการที่ดีขึ้น พ่อแม่ก็จะได้ไปทำงานหาเลี้ยงครอบครัวได้ สร้างความเชื่อมั่นว่าลูกของคุณพัฒนาได้ แต่ต้องร่วมมือกัน ฝึกไปพร้อมกัน ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน เราบอกผู้ปกครองให้คิดเสมอว่า ถ้าวันหนึ่งเราตายไป ลูกก็ต้องช่วยเหลือตัวเองได้ อย่าทำทุกอย่างให้ลูก แต่ต้องหัดให้ลูกทำเอง เขาถึงจะอยู่รอดบนโลกใบนี้” 
 
เวลาต่อมาครูนิงจึงเริ่มปรับปรุงอาคารเรียนและสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับการฟื้นฟูเด็กพิการ แต่เนื่องจากงบประมาณมีจำกัด เธอจึงต้องใช้เงินส่วนตัวในการปรับปรุง ซื้อเตาแก๊ส ทำป้ายและทาสี เมื่อเพื่อนฝูงและญาติพี่น้องทราบเรื่องจึงช่วยบริจาคกันเข้ามา และได้ช่วยกันระดมทุนในการทาสีอาคาร การสร้างห้องน้ำ พร้อมทั้งบริจาคเครื่องกรองน้ำ ของเล่น กระบอกน้ำ กระปุกออมสิน และอีกหลายอย่าง ถือเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งที่ครูนิงภูมิใจ ที่เห็นสังคมช่วยเหลือกันมากขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณจากภาครัฐ
 
แม้จะสามารถปรับปรุงหน่วยบริการยี่งอให้เอื้อต่อการพัฒนาเด็กพิเศษมากขึ้น แต่ที่นี่ก็ยังมีขีดจำกัดอยู่บ้าง โดยเฉพาะในด้านบุคลากรที่มีเจ้าหน้าที่รวมทั้งครูนิงด้วยเพียง 4 คนเท่านั้น นอกจากจะต้องทำหน้าที่สอนเด็กพิเศษ 62 คนแล้ว พวกเธอยังต้องทำความสะอาดอาคารและบริเวณโดยรอบด้วยตนเอง เนื่องจากไม่มีงบประมาณจ้างนักการ ต้องผลัดกันไปซื้อวัตถุดิบเพื่อประกอบอาหารกลางวัน เพราะไม่มีแม่ครัว
 
"เรามีเจ้าหน้าที่น้อย เราจึงต้องฝึกเด็กให้ช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะในเรื่องขับถ่ายและชำระร่างกาย เราไม่เรียกที่นี่ว่าเป็นโรงเรียน แต่เราเรียกที่นี้ว่า ‘บ้าน’ เราคือพ่อแม่เด็ก เด็กคือลูกของเรา สอนทุกอย่างที่เด็กต้องใช้ในชีวิตประจำวัน จนตอนนี้คิดว่าเราเดินมาได้ 70% แล้ว แต่ก็จะยังไม่หยุดการพัฒนาต่อยอดให้ดีขึ้นไปกว่านี้"
 

 
นอกจากการฝึกเด็กให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในชีวิตประจำวันแล้ว ครูนิงยังประสานขอความร่วมมือจากหน่วยงานภายนอกในการอบรมเพิ่มศักยภาพให้กับบุคลากรของหน่วยบริการยี่งอและผู้ปกครองอย่างต่อเนื่อง โดยเดือนกันยายน 2560 องค์การช่วยเหลือเด็ก (Save the Children) ได้เข้ามาอบรมเรื่องการจัดการภัยพิบัติ (DRR) ให้กับหน่วยบริการยี่งอ เพราะแม้ในพื้นที่จะไม่เคยมีภัยพิบัติขนาดใหญ่เกิดขึ้น แต่ครูนิงก็มองว่า การฝึกให้ทุกคนคุ้นเคยกับแผนเผชิญเหตุเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะอย่างน้อยเมื่อเกิดเหตุการณ์จริงขึ้นมาทุกคนก็จะไม่ตื่นตระหนก
 
เห็นครูนิงทำงานได้คล่องแคล้วเช่นนี้ ไม่ใช่ว่าเธอจะไม่เคยเจออุปสรรคหรือท้อแท้เลย แต่เพราะครูนิงเป็นคนมีอุดมการณ์ มีความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ เธอคิดอยู่เสมอว่า “เด็กทุกคนพัฒนาได้” และบอกกับตัวเองอยู่บ่อยๆ ว่า “จงทำในสิ่งที่รัก จงรักในสิ่งที่ทำ” สิ่งเหล่านี้เอง เป็นเหมือนดังเข็มทิศที่นำทางให้ครูนิง เดินฝ่าออกมาจากสารพัดปัญหาที่รอคอยอยู่เบื้องหน้าตลอดเวลา
 
"ถามว่าเจอปัญหาบางครั้งก็รู้สึกท้อนะ เหนื่อยกับภาระหน้าที่ แต่พอหันมามองหน้าเด็ก เจอแววตา เจอรอยยิ้ม ความท้อมันหมดไปเลยนะ แถมเป็นกำลังใจให้ดิ้นรนหาหนทางที่จะพัฒนาบ้านหลังนี้ และพัฒนาเด็กเหล่านี้ แล้วเราก็แก้ปัญหาได้ทุกครั้ง ถือเป็นเรื่องมหัศจรรย์เหมือนกันนะ บางคนบอกว่าเหนื่อยก็ลาออกมาเถอะ จะไปทนอยู่ทำไม เราก็มานั่งคิดว่าเราเกิดมาสมบูรณ์พร้อมทุกอย่าง มีสติปัญญาในการทำงานเลี้ยงชีพได้ แต่เด็กเหล่านี้ไม่สมบูรณ์ ไม่พร้อมเหมือนเรา เราทิ้งไม่ได้หรอก เราต้องช่วยให้เขาอยู่ในสังคมให้ได้"
 
"เราไม่ได้จบศาสตร์นี้โดยตรงก็จริง แต่ประสบการณ์ในการลองผิดลองถูก จากการอ่านตำรา จากการเข้าอบรม จากการศึกษา ทำให้เราสามารถช่วยเหลือเขาได้ และต้องเป็นคนที่ขยายให้คนอื่นได้ตระหนักและช่วยเหลือคนเหล่านี้มากขึ้น เพื่อให้เด็กๆ อยู่ได้อย่างมีความสุขในโลกใบนี้ ข้อสำคัญคือสังคมไม่รังเกียจเขา"
 


กำลังโหลดความคิดเห็น