ศูนย์ข่าวภูเก็ต - สุดยื้อ “โลมาลายแถบ” ถูกคลื่นซัดเกยหาดกมลา ล่าสุด ตายแล้ว สัตวแพทย์เผย ติดเชื้อในกระแสเลือด ไม่พบสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย ขณะที่ผลการผ่าพิสูจน์ซากวาฬหัวทุยแคระเกยตื้นตายบริเวณชายหาดบ้านเกาะมะพร้าว พบติดเชื้อในกระแสเลือด มีหลุมในกระเพาะ มีฟองอากาศในหลอดลมค่อนข้างเยอะ รอตรวจสอบเนื้อเยื่ออีกครั้งตายด้วยโรคอะไร
จากกรณีเจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้รับโลมาลายแถบ เพศผู้ มาอนุบาลในบ่อพัก ของศูนย์วิจัยฯ หลังถูกคลื่นซัดขึ้นมาเกยตื้นหน้าหาดกมลาเมื่อวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา ในสภาพอ่อนแรง โดยเจ้าหน้าที่ต้องใช้เสื้อชูชีพพยุงไว้ตลอดเวลา พร้อมให้น้ำเกลือและเจาะเลือดเพื่อประเมินผลการรักษาและอาการทุก 1 ชั่วโมง
ล่าสุดวันนี้ (11 มิ.ย.) สัตวแพทย์หญิงชวัชญา เจียกวธัญญู และนายสัตวแพทย์ปฐมพงศ์ จงจิตต์ สัตวแพทย์ประจำกลุ่มกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก เปิดเผยว่า โลมาตัวดังกล่าวได้เสียชีวิตแล้วเมื่อวานนี้ (10 มิ.ย.) จากการติดเชื้อในกระแสเลือด ม้ามอักเสบ และมีหลุมในกระเพาะอาหาร และจากการผ่าพิสูจน์ไม่พบสิ่งแปลกปลอมในกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นการป่วยตายตามธรรมชาติ
ส่วนกรณีเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.61 ชาวบ้าน บ้านเกาะมะพร้าว หมู่ที่ 6 ต.เกาะแก้ว อ.เมืองภูเก็ต พบเห็นวาฬหัวทุยแคระพยายามว่ายน้ำเข้าหาฝั่งและได้ช่วยกันผลักดันออกไป แต่วาฬตัวดังกล่าวก็ได้พยายามว่ายน้ำเข้าหาฝั่งอีก และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ชาวบ้านได้ประสานเจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยฯ เข้าตรวจสอบ และนำกลับไปเพื่อผ่าพิสูจน์หาสาเหตุการตาย นั้น
สัตวแพทย์หญิงชวัชญา เผยต่อว่า สำหรับวาฬหัวทุยแคระ เพศผู้ ตัวนี้ มีความยาวลำตัวประมาณ 2.2 เมตร อยู่ในช่วงวัยรุ่น ยังไม่โตเต็มวัย หากโตเต็มที่จะมีความยาวลำตัว ประมาณ 3 เมตร โดยวาฬหัวทุยแคระ พบเห็นไม่บ่อยนัก และนับเป็นตัวแรกของปีที่พบวาฬชนิดดังกล่าว
ผลจากการผ่าพิสูจน์ พบว่าวาฬหัวทุยแคระ ตัวดังกล่าว ป่วยตายตามธรรมชาติ ซึ่งอาการป่วย มีภาวะช็อก สำลักน้ำ มีลักษณะของการติดเชื้อ พบแผลหลุมที่กระเพาะอาหาร มีฟองอากาศในหลอดลมค่อนข้างเยอะ และมีพยาธิมากกว่าปกติ ซึ่งตามธรรมชาติแล้วสามารถเจอได้ แม้ในตัวที่แข็งแรง แต่ในวาฬหัวทุยแคระตัวนี้ พบว่ามีพยาธิอยู่เป็นจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่จะตัดชิ้นเนื้อไปตรวจสอบหาสาเหตุอีกครั้งว่าป่วยตายด้วยโรคใด