โดย…ไชยยงค์ มณีพิลึก
.
“ชกหมัดตรง” เมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา ผู้เขียนนำเรื่อง “การค้าน้ำมันเถื่อน” ที่มี “เจ้าหน้าที่เอี่ยว” ในหลายรูปแบบมารายงานให้สังคมและผู้เกี่ยวข้องได้รับรู้ และก็ได้ชี้ให้เห็นว่าบางครั้ง “คำสั่งนาย” นั้นเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติในพื้นที่ก็ไม่ได้ใส่ใจที่จะปฏิบัติตามแต่อย่างใด เนื่องจาก “ผลประโยชน์” ล่อใจให้ยอมที่จะร่วมมือกับผู้ทำผิด หรือทำเป็นตาบอดหูหนวกเสียมากกว่า
ความจริงผู้เขียนไม่ได้คาดหวังว่าการนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้จะสร้าง “ผลสะเทือน” ให้เกิดขึ้นแค่ไหน อย่างไร หรือไม่คาดหวังว่าจะได้รับการ “สนองตอบ” จากหน่วยงานแก้ไขปัญหา “ภัยแทรกซ้อน” ของ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ทำการกวาดล้างปั๊มน้ำมันเถื่อนในหลายอำเภอของ จ.สงขลาอย่างต่อเนื่อง
และที่สำคัญก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะทำให้หน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงอย่าง “สรรพสามิต” มีอาการ “เจ้าเข้า” ชนิดนำกำลังจับกุมผู้ค้าน้ำมันเถื่อนตามลายแทงของนักข่าวอย่างรวดเร็ว ทั้งที่ก่อนหน้าหน่วยงานนี้แทบไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นการกระทำผิดมาก่อน กลับนั่งรอเพียงให้หน่วยอื่นจับมาและรอรับค่าปรับเพียงอย่างเดียว
การปราบปรามน้ำมันเถื่อนในครั้งนี้แม้จะสามารถหยุดปัญหาไปในระยะสั้นๆ แต่ก็ต้องขอบคุณ พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่าวนหน้า ที่สั่งการให้กองกำลังทหารในพื้นที่ปฏิบัติการอย่างเข็มแข็งต่อเนื่อง อีกทั้งยังสามารถ “กระตุ้น” ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอย่าง “สรรพสามิต” สามารถออกมาปฏิบัติการให้ชาวบ้านได้เห็นว่า หน่วยงานนี้ยังมีตัวตน
ทว่าก็ยังเหลือแต่ “ชุดปราบปรามน้ำมันเถื่อน(ปนม.)” ของ “ตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา” และ “กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9” ที่ยังไม่เห็นผลงานอะไรในเรื่องนี้เลย อาจจะเพราะมัวแต่ไปแย่งหน้าที่ของ “พลังงานจังหวัด” ในการ ตรวจเอกสารผู้ค้าน้ำมัน ทั้งปั๊มน้ำมันและรถบรรทุกจากคลังน้ำมัน
แต่ก็ยังมีข้อสังเกตว่าในการปฏิบัติการของสรรพสามิตนั้น ขอบเขตการจับกุมยังแคบอยู่แค่ “ลายแทง” ที่สื่อมีการเสนอข่าวไปแล้วเท่านั้น กล่าวคือ จับกุมแต่ในพื้นที่ อ.สะเดา อ.หาดใหญ่ อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา ในอำเภออื่นๆ ซึ่งมีการค้าขายน้ำมันเถื่อนอยู่จำนวนมาก กลับยังไม่มีการจับกุมแต่อย่างใด หรือต้องรอให้สื่อชี้เป้าก่อนแล้วค่อยดำเนินการตามก้นไปต้อยๆ
ที่สำคัญกลุ่มผู้ใช้น้ำมันเถื่อนใน จ.สงขลา ไม่ได้มีเฉพาะ “ปั๊ม” หรือ “คอก” เท่านั้น แต่กลุ่มใหญ่คือ “โรงงานอุตสาหกรรม” โดยเฉพาะที่ตั้งอยู่แถบชายทะเลในพื้นที่ อ.เมือง จ.สงขลา ซึ่งจะมีขบวนการค้าน้ำมันนำส่งด้วยรถยนต์กระบะดัดแปลงกันอย่างเป็นขบวนการ ซึ่งสรรพสามิตและ ปนม.ไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบหรือเข้าจับกุมแต่อย่างใด
ประเด็นที่ผู้เขียนให้ความสนใจในเรื่องขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน เป็นเพราะ ประเด็นแรกได้รับการร้องเรียนมาจาก “ผู้ประกอบการปั๊มน้ำมัน” จำนวนมาก พวกเขาลงทุนถูกต้องตามกฎหมายและจ่ายภาษีให้รัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ได้รับผลกระทบจากขบวนการน้ำมันเถื่อน ซึ่งเป็นธุรกิจที่ “เอาเปรียบสังคม” เพราะไม่เคยเสียภาษีให้รัฐ แต่กลับกลายเป็น “คู่แข่ง” ที่ทำให้ผู้ลงทุนถูกต้องตามกฎหมายและจ่ายภาษีได้รับผลกระทบ จนหลายปั๊มต้องปิดกิจการเพราะสู้กับขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนไม่ไหว
ประเด็นที่ 2 ขบวนการน้ำมันเถื่อนมีเจ้าหน้าที่รัฐ “หลายสี” และ “หลายสังกัด” เข้าไปมีผลประโยชน์ในเรื่องของ “ส่วย” ไม่เพียงเท่านั้นยังมี “คนมีสี” จำนวนหนึ่งทำตัวเป็น “นายทุน” ผู้ค้าน้ำมันเถื่อนเสียเองด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เป็นเหมือนมอดไม้ที่นอกจากจะทำลายบ้านช่องของตนเองแล้ว ยังบ่อนทำลายประเทศชาติด้วย เพราะนี่คือการ “คอรัปชั่น” ที่สำคัญ
ทั้งนี้จุดประสงค์ในการนำเสนอมีเพียงเท่านั้นจริงๆ นั่นคือต้องการให้เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการกับขบวนการเอาเปรียบสังคมและบ่อนทำลายประเทศ ส่วนในการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่จะไปกระทบกับ “ผู้ค้ารายย่อย” ที่อ้างว่าหาเช้ากินค่ำในแนวชายแดนหรือไม่ อย่างไร เป็นหน้าที่ของหน่วยราชการที่จะใช้ดุลยพินิจในการปฏิบัติหน้าที่
และที่นำเรื่องนี้มาเขียนก็เนื่องจากเมื่อวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมามี “ผู้ค้าน้ำเถื่อนในตลาดปาดังเบซาร์” อ.สะเดา จ.สงขลา รวมตัวกันจำนวนหนึ่งไป “กดดัน” ให้นายด่านศุลกากรปาดังเบซาร์ให้ “ผ่อนผัน” การขนน้ำมันเถื่อน จากฝั่งประเทศมาเลเซียเข้ามาในฝั่งไทย โดยหยิบยก “ปัญหาปากท้อง” ขึ้นมาอ้าง
ซึ่ง “ศุลกากร” ก็อ้างว่าได้อนุโลมให้ขนน้ำมันเถื่อนจากฝั่งมาเลเซียเข้ามาได้ตาม “ข้อตกลงเดิม” อยู่แล้ว กล่าวคือ ให้อยู่ในถังธรรมดาๆ ของรถยนต์ ไม่ใช่ถังดัดแปลง และให้ผ่านเข้า-ออกได้วันละ 2 เที่ยว ส่วนเรื่องการจับกุมเป็นเรื่องของ “ทหาร” ไม่ใช่ศุลกากร ส่งผลให้กลุ่มชาวบ้านกลุ่มดังกล่าวเดินทางไปพบกับหน่วยงานของทหารที่ “ร้อย ร.ฉก.5201” บ้านทับโกบ อ.สะเดา จ.สงขลา และเจ้าหน้าที่ที่นั่นก็ไม่มีคำตอบให้ชาวบ้านพอใจ สุดท้ายกลุ่มชาวบ้านได้รวมตัวกันเพื่อไปพบกับ “ฝ่ายปกครอง” เพื่อให้เจรจากับทหารให้เลิกปฏิบัติการจับกุมผู้ขนและผู้ค้าน้ำมันเถื่อน
สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นที่ผู้เขียนเห็นว่าไม่ถูกต้องก็คือ ใน “วงสนทนา” ระหว่างกลุ่มชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ ร้อย ร.ฉก.5201 หรือที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ทั้ง 2 หน่วยงานกลับมีการ “โบ้ย” ให้กลุ่มชาวบ้านไปพูดคุยกับ “นักข่าว” ที่นำเสนอข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยอ้างว่าที่ต้องจับกุมเป็นผลจากที่มีการ “เขียนข่าวโจมตี” พร้อมกับย้ำหนักแน่นว่า หากต้องการให้เจ้าหน้าที่ “เลิกจับกุม” ต้องไปคุยกับ “นักข่าวพวกนั้น” ให้หยุดเขียนข่าวเรื่องนี้
คงจะต้องขอบคุณทั้ง “ฝ่ายทหาร” และ “ฝ่ายปกครอง” ที่ให้ความสำคัญกับผู้ประกอบวิชาชีพ “สื่อมวลชน” แต่ก็ต้องขอบอกว่าเป็นการ “สำคัญผิด” อย่างแน่นอน เพราะสื่อมวลชนทำหน้าที่ “สุนัขเฝ้าบ้าน” หรืออย่างผู้เขียนเองก็ไม่มีอำนาจหรือไม่มีหน้าที่ในการที่จะ “อนุญาต” หรือสั่งให้ใคร “ทำผิดกฎหมาย” ได้ รวมถึงสื่อมวลชนเองก็ไม่สามารถที่จะ “อยู่เหนือกฎหมาย” หรือรอ “รับเงิน” เพื่อที่จะได้หยุดการเขียนข่าวอย่างที่เข้าใจ
อาชีพสื่อมวลชนทำหน้าที่ “รายงานปรากฎการณ์” ทางสังคมที่เกิดขึ้น เมื่อพบเห็นสิ่งที่เป็น “อันตราย” ต่อสังคม ต่อส่วนรวม หรือต่อบ้านเมือง พวกเขาก็นำเสนอข่าวที่เพียงต้องการให้สังคมรับรู้ และให้ผู้รับผิดชอบแก้ไขในสิ่งที่ไม่ถูกต้องเท่านั้น
กรณีการค้าน้ำมันเถื่อนก็เช่นกัน เมื่อหน่วยงานทหารและสรรพสามิตดำเนินการจับกุมอย่างต่อเนื่อง สื่อมวลชนก็หมดหน้าที่ ซึ่งก็ต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่รัฐผู้รับผิดชอบและเกี่ยวข้องที่ได้รับฟัง “เสียงนกเสียงกา” อย่างผู้เขียนให้มีส่วนช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือประเทศชาติได้บ้าง แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไม่มีการการค้าน้ำมันเถื่อนแล้ว ผู้เขียนก็หมดหน้าที่ ส่วนใครจะยังเปิดโปงหรือขุดคุ้ยในเรื่องนี้ต่อไปเรื่อยๆ นั่นแสดงว่าสื่อมวลชนคนนั้นมีเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์
สำหรับการที่ฝ่ายปกครอง ทหารและศุลกากรจะไปผ่อนปรนกลับกลุ่มผู้ค้าน้ำมันเถื่อนอย่างไร อย่าได้ให้การกระทำนั้นกลับมายุ่งเกี่ยวกับอะไรผู้เขียนเลย และต้องไม่สร้างความเข้าใจที่ไขว้เขวให้กับกลุ่มคนผู้ทำความผิด เพราะในอดีตหลายปีก่อนเคยมีเรื่องราวลักษณะนี้เกิดขึ้นแล้ว โดยมี “ข้าราชการระดับสูง” ในพื้นที่แนะนำให้แกนนำผู้ค้าน้ำมันเถื่อนในปาดังเบซาร์นำชาวบ้านมากดดันผู้เขียนถึงสำนักงาน พร้อมๆ กับนำเงินห่อใหญ่มามอบให้ ซึ่งผู้เขียนเองก็ได้คืนเงินกลับไปและได้โทรศัพท์เรียนกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ท่านนั้นว่า ได้คืนเงินให้ตัวแทนผู้ค้าน้ำมันเถื่อนไปแล้ว
ผู้เขียนเป็นสื่อมวลชนอาชีพครับ ไม่รวย แต่ก็พอมีกิน ดังนั้นจึงใคร่ขอแจกแจงให้กับทั้งฝ่ายปกครอง ฝ่ายความมั่นคง สรรพสามิตและศุลกากร รวมทั้งกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการจับกุมน้ำมันเถื่อนในครั้งนี้ให้ทราบโดยทั่วกัน
ฉะนั้นอย่าได้แปรเจตนาในการเขียนข่าวเกี่ยวกับขบวนการน้ำมันเถื่อนของผู้เขียนว่ามี “เลศนัย” ที่แอบแฝงหรือทำไปเพื่อ “ผลประโยชน์” แต่อย่างใด และก็คงต้องขอย้ำด้วยการยืนยันไว้ตรงนี้ว่า ผู้เขียนไม่มีหน้าที่และไม่มีอำนาจในการที่จะอนุญาตให้ใครทำผิดกฎหมาย ถ้าท่านต้องการให้เขาทำผิดกฎหมายได้ก็เป็นเรื่องของท่าน หาใช่เรื่องของผู้เขียนไม่