xs
xsm
sm
md
lg

“มะม่วงหิมพานต์” หลากสรรพคุณทางยา หลายประโยชน์ใช้สอย โทษช่างน้อยนิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

1
 
คอลัมน์ : ดูรูปสวยแถมด้วยเกร็ดความรู้  /  โดย...สกนธ์  รัตนโกศล
 
2
 
“มะม่วงหิมพานต์” ชื่อท้องถิ่นในภาคใต้เรียกว่า ม่วงเล็ดล่อ, ยาโงย, ยาร่วง, กาหยู, กาหยี, หัวครก, ท้ายล่อ ภาคอีสานเรียก หมากม่วงหิมพานต์ ภาคเหนือ มะม่วงสิโห, มะโห, มะม่วงกาสอ, มะม่วงกุลา, มะม่วงลังกา, มะม่วงหยอด, มะม่วงสินหน
 
ปี พ.ศ.2444 พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) ได้นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยเป็นครั้งแรกที่ภาคใต้ในจังหวัดตรัง โดยมะม่วงหิมพานต์มีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศอเมริกาใต้ บริเวณแถบประเทศบราซิล มีชื่อวิทยาศาสตร์: Anacardium occidentale
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ลำต้น เป็นไม้ยืนต้นไม่พลัดใบขนาดกลาง มีลำต้นสูงประมาณ 6-12 เมตร แตกกิ่งแขนงหลักปานกลาง แต่มีกิ่งย่อยมาก กิ่งแขนงหลักแตกออกเป็นแนวขนานกับพื้นดิน ทำให้รูปทรงพุ่มเป็นรูปร่ม กว้างประมาณ 4-10 เมตร เปลือกลำต้นค่อนข้างหนาและเรียบ มีสีเทาอมน้ำตาล
 
ใบ มีขนาดค่อนข้างใหญ่ โคนใบสอบแคบ และค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้นจนถึงปลายใบ โดยปลายใบค่อนข้างมนหรือเป็นป้าน ขนาดใบยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ขนาดกว้างสูงสุดที่ปลายใบประมาณ 5-8 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบ และเกลี้ยงเป็นมัน แผ่นใบมีสีเขียวสด มีเส้นกลางใบสีเขียวอ่อนขนาดใหญ่ พร้อมแตกเส้นแขนงใบออกในแนวตรงจากกลางใบ
 
ดอก จะประกอบด้วยกลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อนหุ้มบริเวณโคนดอก ถัดมาเป็นกลีบดอกที่มีสีเหลืองอมขาว จำนวน 5 กลีบ เมื่อบานเต็มที่กลีบดอกจะมีสีอมแดงเรื่อบริเวณโคนกลีบ กลีบดอกมีลักษณะเรียว ปลายกลีบแหลม ถัดมากลางดอกเป็นเกสรตัวผู้ 7-10 อัน และเกสรตัวเมีย ออกเป็นช่อตรงซอกใบบริเวณปลายกิ่ง แต่ละช่อจะมีก้านช่อย่อย 5-10 ก้าน เรียงสลับกันบนก้านช่อหลัก ก้านดอกอ่อนมีสีชมพู แล้วค่อยเปลี่ยนเป็นสีขาว และสีเขียวเมื่อแก่ขึ้น แต่ละก้านช่อจะมีดอก 10-30 ดอก
 
ทั้งนี้ ในก้านดอกหลักจะมีดอก 3 ประเภท คือ ดอกตัวผู้ มีประมาณร้อยละ 96 ดอกตัวเมีย และดอกสมบูรณ์เพศ ซึ่งดอก 2 ชนิดหลัง จะรวมกันแล้วประมาณร้อยละ 4 ซึ่งดอกจะสามารถผสมเกสรได้เองภายในช่อดอกเดียวกัน และจะติดผลเพียงไม่กี่ผลต่อช่อเท่านั้น
 
ผล และ เมล็ด มะม่วงหิมพานต์เป็นพืชชนิดหนึ่งที่มีลักษณะผลแปลกประลาด กล่าวคือ ส่วนที่อวบ และมีสีเหลืองหรือสีแดง มีลักษณะคล้ายผลชมพู่ ซึ่งเรามักเข้าใจว่าเป็นผลจริง แท้จริงแล้วคือ ผลเทียม ซึ่งเป็นส่วนของก้านผลที่ขยายอวบนูนขึ้น ส่วนผลแท้เป็นส่วนที่มีรูปคล้ายไตห้อยอยู่ด้านล่าง
 
ผลเทียม เป็นส่วนที่เป็นก้านผล แต่มีการพองขยายตัวจนมีรูปร่างคล้ายผลจริง เหมือนกับผลไม้ทั่วไป ผลเทียมจะมีรูปร่างคล้ายผลชมพู่ แต่ตรงขั้วผลจะไม่สอบแคบเหมือนผลชมพู่ ขนาดผลยาวประมาณ 5-12 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่หรือสุกจะมีสีแดงเรื่อหรือสีชมพูหรือสีเหลืองตามสายพันธุ์ ภายในผลประกอบด้วยเนื้อผลที่ฉ่ำด้วยน้ำ ให้รสหวานอมฝาด หากสุกน้อยจะฝาดมาก หากสุกมากจะมีรสหวานเพิ่มขึ้น แต่ยังคงรสฝาดไว้เหมือนเดิม ทั้งนี้ ที่ปลายผลจะห้อยด้วยผลแท้ที่มีรูปร่างคล้ายไต
 
ผลแท้ เป็นส่วนที่มีรูปร่างคล้ายไต ห้อยติดด้านล่างของผลเทียม ผลเมื่ออ่อนจะมีสีเขียว เมื่อแก่จะมีสีเทาหรือสีน้ำตาล ยาวประมาณ 3 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2.5 เซนติเมตร ประกอบด้วยเปลือกหุ้มผลที่หนาประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ด้านในเป็นที่อยู่ของเมล็ดที่มีรูปคล้ายไตเช่นกัน แบ่งออกเป็น 2 ซีก ประกบกันอยู่ เนื้อเมล็ดนี้มีสีขาว เมื่อนำมาคั่วไฟจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้รับประทาน เนื้อเมล็ดมีความกรอบ มีกลิ่นหอม ให้รสมันอร่อย ทั้งนี้ เมื่อปอกเปลือกแล้วจะเหลือเนื้อเมล็ดประมาณ 25% ส่วนอีกประมาณ 75% จะเป็นเปลือกที่หุ้มด้านนอก
 
สรรพคุณของมะม่วงหิมพานต์ มีมากมาย ประกอบด้วย


ผลเทียม ช่วยบำรุงสมองและกระตุ้นความจำ, แก้โรคกระเพาะอาหาร รักษาแผลในกระเพาะอาหาร, ช่วยแก้อาเจียน ลดอาการเจ็บคอ ช่วยให้ชุ่มคอ, ช่วยขับเหงื่อ, ใช้เป็นยาขับปัสสาวะอย่างแรง
 
เปลือกเมล็ด มีกรดน้ำมันจำนวนมาก นิยมใช้เป็นยาภายนอก ได้แก่ ใช้แก้อาการเหน็บชา, ใช้ถอนหูด ตาปลาและใช้รักษาส้นเท้าแตก, ใช้เป็นส่วนผสมของยำจัดเซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพ, ใช้รักษาโรคผิวหนัง อาทิ กลาก เกลื้อนและโรคผิวหนังจากเชื้อราอื่นๆ, ใช้เป็นส่วนประกอบของยาสำหรับแก้โรคมะเร็ง
 
เมล็ด อุดมด้วยสารอาหารหลายชนิดที่ช่วยส่งเสริมร่างกายในหลายด้าน ได้แก่ กรดไลโนเลอิก ช่วยป้องกันไขมันอุดตันในเส้นเลือดและไขมันอุดตันในตับ รวมถึงลดความเสี่ยงการเกิดโรคในระบบเส้นเลือดและหัวใจ, แมกนีเซียมในเมล็ดช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น รวมถึงช่วยลดความเครียดและทำให้ผ่อนคลาย, แคลเซียมช่วยเสริมสร้างกระบวนการสร้างกระดูก, กรดอะมิโนและกรดไขมันหลายชนิด ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโต ช่วยให้ร่างกายทำงานปกติ
 
ใบ และ ยอดอ่อน ช่วยลดกรดและรักษาแผลในกระเพาะอาหาร, ช่วยรักษาโรคริดสีดวงทวาร, แก้อาการท้องร่วง, ใบแก่นำมาบดผสมน้ำเล็กน้อย ก่อนนำมาพอกรักษาแผลไฟไหม้ แผลน้ำร้อนลวก
 
เปลือกลำต้น นำมาสกัดสารสำหรับเป็นส่วนผสมของยาแก้ปวดฟัน, ใช้ต้มน้ำดื่มสำหรับแก้ท้องร่วง, น้ำต้มใช้กลั้วปากและลำคอ เพื่อแก้อาการอักเสบ รักษาแผลในช่องปาก ลดจำนวนแบคทีเรีย, คนไทยใช้เปลือกมาดองเหล้า เรียกว่า หวาก หรือ ตะหวาก ส่วนประเทศบราซิลนำเปลือกมาทำยาดองดื่ม สำหรับช่วยลดความดันเลือด และใช้รักษาไข้มาลาเรีย
 
ประโยชน์มะม่วงหิมพานต์ มีมายมายเช่นกัน ประกอบด้วย
 
ยอดอ่อน  ผลเทียม และ เมล็ด นิยมนำมาใช้รับประทานเป็นอาหาร
 
ผลเทียม ใช้เลี้ยงสัตว์หรือใช้เป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์ และเนื่องจากผลเทียมมีกลิ่นของน้ำมันหอมระเหยกว่า 20 ชนิด จึงนำมาสกัดเป็นหัวน้ำหอมหรือใช้ผสมทำน้ำหอม
 
เปลือกเมล็ด นำมาสกัดกรดน้ำมันที่นำไปใช้ประโยชน์ในหลายด้าน ได้แก่ ใช้ทำหมึกพิมพ์, ใช้ผลิตสีทาบ้าน, ใช้ในกระบวนการทำผ้าเบรก, ใช้เป็นส่วนผสมของน้ำมันขัดโลหะ, ใช้ทาไม้สำหรับป้องกันปลวกและแมลง, ใช้เป็นน้ำมันในอุตสาหกรรมผลิตพลาสติก, ใช้เป็นส่วนผสมของกาว, ใช้ในกระบวนการฟอกย้อม

เนื้อไม้ เป็นไม้เนื้ออ่อนถึงแข็งปานกลาง ซึ่งขึ้นอยู่กับอายุของต้น ต้นอ่อนมักให้สีเหลืองอมน้ำตาล ต้นที่มีอายุมากให้สีแดงหรือน้ำตาลอมแดง สามารถใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ อาทิ โต๊ะ ที่รองนั่ง เก้าอี้ เป็นต้น
 
ครับเมื่อมี “คุณ” ก็ต้องมี “โทษ” ด้วยเป็นของคู่กัน ดังนั้นข้อควรระวังของมะม่วงหิมพานต์ก็คือ เปลือกหุ้มเมล็ดห้ามรับประทานโดยเด็ดขาด เนื่องจากมีน้ำมันกรดจำนวนมาก หากรับประทานจะทำให้ระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร เยื่อบุทางเดินอาหารเปื่อยเป็นแผลได้ เพื่อความปลอดภัยหากต้องการรับประทานเมล็ดมะม่วงหิมพานต์จะต้องกะเทาะเปลือกออกให้หมดทุกครั้งนะขอรับ
 
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
 
 
บรรณานุกรม 
 
- puechkaset.com › ... › มะม่วงหิมพานต์ สรรพคุณ และการปลูกมะม่วงหิมพานต์
- https://th.wikipedia.org/wiki/มะม่วงหิมพานต์
 


กำลังโหลดความคิดเห็น