xs
xsm
sm
md
lg

สังคมที่ขับเคลื่อนด้วย “ความรู้สึก” / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์  :  คนคาบสมุทรมลายู  /  โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
 
แม้ว่าโลกปัจจุบันจะก้าวสู่ยุคความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการสื่อสาร ซึ่งได้พัฒนามาไกลมากแล้วจากยุคอนารยะ  แต่สังคมและวัฒนธรรมไทยยังพัฒนาไปไม่ถึงไหน  โดยเฉพาะวัฒนธรรมในการเรียนรู้และสังคมแห่งข้อมูลข่าวสาร  การตัดสินใจรับรู้และเชื่อในสรรพสิ่ง
 
สังคมไทยยังคงขับเคลื่อนสังคมด้วย “ความรู้สึกเอาเอง” มากกว่าการใช้ข้อมูล  ประสบการณ์และการเรียนรู้ในการตัดสินใจเชื่อ หรือทำอย่างใดอย่างหนึ่งในสถานการณ์สำคัญๆ ที่ต้องตัดสินใจ  บนความเป็นความตายและความเป็นไปของสังคม
 
ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของปรากฏการณ์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว  ได้แก่  พอกลุ่มคนที่สถาปนาตัวเองว่าเป็น “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” ออกมาเคลื่อนไหวกดดันให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้งในปลายปี ๒๕๖๑ แทนที่จะเป็นต้นปี ๒๕๖๒ ซึ่งห่างกันไม่กี่เดือน  แต่การกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายหลายกระทง  กลุ่มคนดังกล่าวจึงถูกจับกุมและตั้งข้อหาตามที่ทุกฝ่ายคาดคิด  คนในสังคมกลุ่มหนึ่งก็ออกมาตำหนิรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจ และสร้างวาทกรรมต่างๆ นานา เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับกลุ่มที่ถูกจับกุม
 
วาทกรรมสำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่า คนเหล่านี้ใช้ความรู้สึกเอาเอง โดยไม่คำถึงถึงข้อมูลคือ  “การเคลื่อนไหวนี้เป็นสิทธิ เสรีภาพตามกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ” เพราะในความเป็นจริงกฎหมายของ รสช.ยังมีผลบังคับใช้ กฎหมายว่าด้วยการชุมนุมก็ยังใช้กันอยู่  ดังนั้น  เจ้าหน้าที่บ้านเมืองจึงต้องดำเนินการไปตามกฎหมาย  โดยยึดหลักที่ว่า “ไม่มีกฎหมาย ก็ไม่มีความผิด  ไม่มีความผิด ก็ย่อมไม่มีโทษ”
 
อีกวาทกรรมหนึ่งซึ่งน่ากลัวกว่าวาทกรรมแรกคือ “คนขัดขวางการเลือกตั้งไม่ผิด  แต่คนอยากเลือกตั้งกลับผิด”  วาทกรรมนี้สะท้อนให้เห็นว่า เจ้าของวาทกรรมและสาวกคิดเอาแต่ได้ โดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริง  เพราะความจริงคนที่ขัดขวางการเลือกตั้งในสมัยรัฐบาลก่อน  ปัจจุบันคดีของพวกเขายังอยู่ในศาล  พวกเขาต้องไปศาลอยู่เป็นระยะๆ และบางคนก็ถูกพิพากษาให้ได้รับโทษทั้งทางแพ่งและอาญาสถานหนัก
 
เช่นเดียวกับวาทกรรม “สองมาตรฐาน” ที่คนไทยกลุ่มหนึ่งอ้างอิงและสร้างความไม่ชอบธรรมให้กับฝ่ายที่มีอำนาจ และพวกเขาไม่นิยมชมชอบมาโดยตลอด  ที่เห็นชัดเจนคือกรณี “ธรรมกาย” กับ “หลวงปู่พุทธะอิสระ”  ในวันเวลาก่อนหน้านี้ที่เจ้าหน้าบ้านเมืองเข้าดำเนินการจับกุมธรรมชโย  เจ้าสำนักธรรมกาย  และหลวงปู่พุทธะอิสระออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองและถูกครหาว่ากระทำความผิดหลายกรณี  คนไทยกลุ่มนี้ก็ใช้วาทกรรม “สองมาตรฐาน” นี้จ้ำจี้จ้ำไชทุกเมื่อเชื่อวัน  และก่อนหน้านั้นอดีตนายกฯ ที่หลบหนีการจับกุมอยู่ต่างประเทศก็เป็นผู้นำในการใช้วาทกรรมนี้ทุกครั้งที่ถูกดำเนินคดี หรือถูกตัดสินให้มีความผิดในทุกกรรมทุกวาระ
 
แต่พอหลวงปู่พุทธะอิสระถูกเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการจับกุมอย่างน่าเกลียดอุจาดตาเมื่อไม่นานมานี้  คนกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งก็เงียบเหมือนถูกตบปาก  บางคนก็ออกมาแสดงความสะใจและพูดในทำนองว่า “สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม”  และบางคนก็กลับบอกว่า “ปาหี่”
 
สรุปแล้วเราต่างใช้ความรู้สึก  ความอคติที่เรามีต่อสรรพสิ่ง  เป็นเครื่องมือสำคัญในการตัดสินใจในทุกเรื่อง  โดยเฉพาะการตัดสินใจว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อบุคคล  กลุ่มบุคคล  องค์กร  สถาบันต่างๆ  เราไม่ได้ใช้ข้อมูล  ข้อเท็จจริง  สถานการณ์แวดล้อม  ทั้งปรากฏการณ์และธาตุแท้ในการขับเคลื่อนสถานการณ์ทางสังคม
 
เมื่อสภาพการณ์เป็นเช่นนี้  ก็ป่วยการที่จะถามหาความสมานฉันท์  ปรองดอง  การปฏิรูป  และที่สำคัญคือ  กระบวนการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยร่วมกันของคนในชาติ 
 
นักการเมืองอันเป็นกลุ่มคนสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมในทุกมิติ  ก็ใช้ความรู้สึกในการเชื่อหรือไม่เชื่อประชาชนของตนเองแต่ละกลุ่ม  ไม่ได้ใช้ข้อมูล  ข้อเท็จจริง  ในการตัดสินใจสนับสนุนหรือโต้แย้ง  ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงก็มีสถานภาพ  วุฒิภาวะทางการเมืองและสังคมไม่แตกต่างจากนักการเมืองของเขา
 
ทั้งๆ ที่หลักธรรมคำสอนในทุกศาสนาต่างเน้นให้ศาสนิกชนของตนดำเนินชีวิตอยู่ในโลกนี้อย่างรู้เท่าทันโลก  รู้เท่าทันสังคม และมีหลักแห่งความเชื่อให้ยึดถือปฏิบัติ  เช่น หลักกาลามสูตของพุทธศาสนิกชน เป็นต้น  แต่ทำไมคนไทยและสังคมไทยยังไปไม่ถึงไหน
 
เมื่อเป็นเช่นนี้  สังคมประชาธิปไตยที่ทุกฝ่ายฝันอยากเห็นก็เป็นได้แค่ “เรื่องราวในนิทานหลอกเด็ก” อยู่ตลอดไปอย่างแน่นอน-เอวัง.
 


กำลังโหลดความคิดเห็น