โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
.
เริ่มมีเสียงชาวบ้านบ่นหนาหูขึ้นทุกขณะเกี่ยวกับราคา “น้ำมันดีเซล” ที่ทะยานขึ้นไปสูงสุดที่ลิตรละ 30 บาท ในขณะที่ “แก๊สโซฮอลล์” ทั้ง 91 และ 95 ก็ไม่น้อยหน้า เพราะราคาวิ่งไล่น้ำมันดีเซลไปติดๆ ลิตรละกว่า 29 บาทแล้ว
ในขณะที่ราคา “ยางพารา” ภายใต้การบริหารจัดการของนายกฤษฎา บุญราช รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับบอร์ดและผู้บริหารการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ยังคลานต้วมเตี้ยมอยู่ที่กิโลกรัมละ 48 บาท ทั้งที่เคยประกาศว่าหลังนั่งบัลลังก์รัฐมนตรีครบ 3 เดือนจะทำให้ราคายางแพงขึ้นถึงกิโลกรัมละ 65 บาท นี่เป็น รมว.เกษตรฯ มานานนับปีแล้ว แต่ราคายางยังไม่ขยับไปไหน
ในขณะราคา “ปาล์ม” เจ้าของสวนก็ “เจ๊กอัก” ไม่แพ้ชาวสวนยาง เพราะเก็บลูกปาล์มขายได้แค่กิโลกรัมละ 2.60-3.00 บาท ในขณะที่ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 3.60 บาท/กิโลกรัม ก็จนกันได้ที่จนแทบจะ “กิมดุม” ตามภาษาของชาวสงขลา
กลับมาดูที่ “มะพร้าว” ที่เคยมีราคาสูงลูกละ 20 บาท วันนี้รัฐบาลปล่อยให้มีการนำมะพร้าวจากอินโดนีเซียเข้ามาตีตลาด สุดท้ายมะพร้าวในประเทศเหลือราคาลูกละ 2 บาท เป็นเรื่องสนุกของรัฐบาลกับโรงงานทำกะทิกล่อง แต่ไม่สนุกสำหรับชาวสวนมะพร้าว และต้องรวมถึง “ลิง” ขึ้นมะพร้าวอย่างแน่นอน
จึงอย่าได้แปลกใจที่คนไทยจำนวนมากจะแห่ข้ามฝั่งไปเติมน้ำมันที่ประเทศมาเลเซีย เพราะราคาน้ำมันที่นั่นแพงสูงสุดก็ไม่เกินลิตรละ 22 บาท ทั้งดีเซลและเบนซิน ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติและถือเป็นโชคดีของคนเมืองชายแดนอย่างชาวสงขลา ชาวสตูลและชาวนราธิวาส ที่สามารถใช้ของถูกจากประเทศมาเลเซีย ทำให้ประหยัดค่าครองชีพแบบไม่ต้องรัดเข็มขัดจนเอวกิ่ว
แต่ในขณะเดียวกันเมื่อราคาน้ำมันในไทยพุ่งสูงขึ้นมาก แต่ในประเทศเพื่อนบ้านกลับถูกลงมากๆ ก็เกิด “ขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน” ซึ่งที่แล้วๆ มาจนถึงวันนี้บอกได้เลยว่า “เชื้อชั่วที่ไม่เคยตาย” สำหรับเมืองชายแดนทั้งที่ จ.สงขลา จ.สตูล และ จ.นราธิวาส
ดังนั้น ณ เวลานี้จึงมีการลักลอบขนน้ำมันจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งทางบกโดยรถยนต์ และทางน้ำผ่านเรือประมง นำเข้ามาขายในแผ่นดินภาคใต้ของกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน
สวนทางกับคำประกาศของ พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ที่เคยประกาศไว้เมื่อครั้งรับตำแหน่งว่า “น้ำมันเถื่อนต้องไม่มีสักหยด ยาบ้าต้องไม่มีสักเม็ด บ่อนการพนันต้องไม่มีสักบ่อน”
ถึงตอนนี้ พล.ท.ปิยวัฒน์เป็นแม่ทัพมาจะครบ 2 ปีในวันที่ 30 ก.ย.2561 ที่จะถึงนี้แล้ว แต่ขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนก็ยัง “อยู่ยั้งยืนยง” สามารถนำน้ำมันเถื่อนจากประเทศมาเลเซียเล็ดลอดผ่านแนวชายแดนชนิดที่ต้องเรียกว่า “ข้ามหัวด่านศุลกากร” อีกทั้ง “ข้ามจมูกสรรพสามิต” และ “เหยียบหน้าตำรวจ” ทุกโรงพักนำไปส่งขายได้ทั่วทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้
ดังนี้แล้วทั้งนโยบายและคำประกาศของ “ท่านแม่ทัพ” จึงเป็นได้เพียงแค่ “ผายลม” เพราะประกาศแล้วทำไม่ได้ หรือไม่ได้ทำก็ตามแต่
ในขณะที่ทั้งในพื้นที่ อ.สะเดา อ.คลองหอยโข่ง และ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เวลานี้ก็ผุดพรายไปด้วย “ปั้มน้ำมันเถื่อน” และ “คอกเก็บน้ำมันเถื่อน” รวมถึงมี “แผงขายน้ำมันเถื่อน” กันเกลื่อนกลาด โดยที่เจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่รับผิดชอบอย่าง “ตำรวจท้องที่” “ตำรวจ ปนม.” หรือ “หน่วยปราบปรามน้ำมันเถื่อน” กลับมองไม่เคยเห็น เพราะไม่เคยมีการจับกุม แต่ชุดจับกุมกลายเป็นกลับกลายเป็น “ทหาร” จาก “ชุดปราบปรามภัยแทรกซ้อน”
ซึ่งก็น่าเห็นใจทหารจากชุดปราบปรามภัยแทรกซ้อนที่จับได้เฉพาะบาง “ปั้มเถื่อน” และบาง “คอกเถื่อน” ในพื้นที่เท่านั้น ส่วนที่เป็นรายใหญ่ที่ทำกันแบบเป็น “ขบวนการ” ยังสามารถที่จะ “บินข้ามหัว” ของทหารชุดปราบปรามภัยแทรกซ้อนนี้ไปได้ตลอดเวลา หรือเพราะมี “ม่านบังตาสีเขียว” ตามที่เขาพูดถึงกันไหมก็ไม่ทราบได้
ส่วนปั๊มเถื่อนในพื้นที่ที่ชุดปราบปรามภัยแทรกซ้อนจับกุมได้นั้น ต้องนับว่าบรรดา “เจ้าของปั๊มเถื่อน” ก็ไม่ได้เกรงกลัวอะไรมากมายนัก เพราะจับวันนี้แล้วอีกไม่เกิน 2 วันพวกเขาก็เปิดขายกันใหม่ ไม่เห็นมีใครเข็ดหลาบ
เนื่องจากส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจะส่งผู้ต้องหาพร้อมของกลางให้ “สรรพสามิต” เพื่อใช้กฎหมายเฉพาะของหน่วยงานนั้นดำเนินการกับผู้กระทำผิด ซึ่งโทษมีเพียงการ “เปรียบเทียบปรับ” และต้อง “คืนของกลาง” ให้ผู้ทำผิดไปด้วย โดยเฉพาะยานพาหนะที่ใช้ขนถ่ายก็ยังต้องคืนให้ นั่นอาจจะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ผู้กระทำผิดไม่เกรงกลัว
ไม่เหมือนกับการจับผู้กระทำผิดที่ต้องส่งต่อให้ “ศุลกากร” หรือ “ตำรวจ” ซึ่งจะต้องมีการริบของกลางและส่งฟ้องศาล ผู้กระทำผิดจึงเข็ดหลาบและไม่กล้ากลับมากระทำผิดอีก
สำหรับเจ้าหน้าที่ชุด “ปนม.” หรือ “ปราบปรามน้ำมันเถื่อน” ซึ่งมีอยู่หลายชุดใน จ.สงขลา ทั้งที่เป็นของ “ภ.จว.สงขลา” และเป็นของ “ภาค 9” ภายใต้การบังคับบัญชาของ พล.ต.ต.สมเกียรติ ฤทธิ์เลื่อน ผบก.สืบสวนสอบสวน ภ.9 กลายเป็นหน่วยงานที่แทบจะไม่เคยมีผลงานปรากฏในการจับกุมน้ำมันเถื่อน
ทั้งที่ในพื้นที่มีทั้ง “คอก” ทั้ง “ปั๊ม” และทั้ง “ขบวนการ” ทำการขนน้ำมันเถื่อนทั้งทางเรือและทางรถยนต์ให้ชาวบ้านชาวเมืองเห็นอยู่ตำตา
ปนม. ในปัจจุบันจะเน้นที่ตรวจเอกสารของรถบรรทุกน้ำมันจากคลังน้ำมันที่ถูกต้อง และตรวจเอกสารของปั๊มน้ำมัน โดยเฉพาะปั๊มเล็กปั๊มน้อยที่เป็นธุรกิจของชาวบ้าน หากพบว่าเอกสารไม่ครบ ไม่ถูกต้อง เจ้าของปั๊มไม่มีความรู้ คนขับสะเพร่า ซึ่งเป็นความผิดเล็กๆ น้อยๆ ก็จะ “ออกแอ็คชั่น” ทันที ทั้งที่หน้าที่นั้นควรเป็นของ “ลังงาน” และ “ท้องถิ่น” ซึ่งเขาก็ทำอยู่แล้ว นั่นจึงเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ที่ทำธุรกิจถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะกับคนที่เป็นแค่ชาวบ้านเป็นอย่างยิ่ง
การที่ ปนม. ไม่จับกุมปั้มเถื่อน คอกน้ำมันเถื่อน และขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนทั้งทางทะเลและทางบก สามารถมองได้ 2 มุม กล่าวคือ มุมหนึ่งเป็นเพราะ “กลัวอิทธิพล” และอีกมุมหนึ่งเป็นเพราะมี “ผลประโยชน์” หรือที่นิยมเรียกกันว่า “ส่วย” ไม่ว่าจะในรูปแบบประจำหรือไม่ประจำเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่
และแม้แต่การ “รับของโจร” รายใหญ่ ซึ่งรู้กันดีว่าแต่ละวันจะมีการขนส่งน้ำมันจากคลังน้ำมันที่ อ.สิงหนคร จ.สงขลา มาลงเรือที่ท่าเรือในเขตเทศบาลนครสงขลาวันละ 3-5 แสนลิตร ในการขนส่งน้ำมันให้เรือมักจะมีการทุจริตระหว่างตัวแทนผู้รับน้ำมันกับตัวแทนผู้ขนส่ง โดยการ “ขายคืนน้ำมัน” ให้กับ “ผู้รับจ้างบรรทุก” ในราคา “ของโจร” เช่นซื้อมาลิตละ 25 บาท ขายคืนในราคา 15 บาท เป็นต้น
วิธีการอย่างนี้คือการ “ซื้อของโจร” หรือ “รับของโจร” ซึ่งในแต่ละครั้งที่มีการส่งน้ำมันลงเรือ ก็มักจะมีการรับซื้อของโจรหลายหมื่นลิตร จนอาจจะถึงแสนลิตร แต่เจ้าหน้าที่ไมว่าจะเป็นศุลกากร สรรพสามิต ตำรวจท้องที่และ ปนม.ก็แทบไม่เคยที่จะจับกุม
ก็ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องของ “ตาบอดสี” หรือ “หูตึง” หรือไม่ เพราะไม่เคยได้ยินข่าวในเรื่องการซื้อของโจรรายใหญ่ที่นั่น หรืออาจจะเป็นเพราะมี “เบี้ยบ้ายรายทาง” เรียบร้อยแล้วหรืออย่างไร ก็ต้องปล่อยให้ชาวบ้านชาวช่อง ที่รู้เห็นคิดเอาเองว่า เจ้าหน้าที่คงจะ “สมประโยชน์” กับนายทุนแล้วกระมัง
มีเรื่องที่น่าทึ้งคือ วันนี้มีขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนที่แปลกใหม่ ที่ไม่ใช่นำน้ำมันมาจากมาเลเซีย หรือมาจากสิงคโปร์โดยทางทะเล แต่เป็นการนำน้ำมันจาก “ภาคกลาง” อาจจะมาจากแถวๆ “จังหวัดที่ตั้งโรงกลั่น” นั่นเอง
โดยการบรรทุกรถเทรเลอร์คันละ 4-6 หมื่นลิตร นำมาขายให้กับลูกค้าทั้งที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรม เป็นปั๊มขนาดใหญ่ และบรรดาผู้ค้าน้ำมันที่ต้องการซื้อน้ำมันใน “ราคาที่ถูกกว่า” ซื้อจากคลังน้ำมันที่ถูกกฎหมายลิตละ 3-5 บาท ด้วยการดันน้ำมันใส่รถบรรทุกแล้วนำไปขายต่อ
ที่สำคัญ “พ่อค้าน้ำมันเถื่อนรายใหญ่” เหล่านี้มักจะอ้างว่ามีการรับรองว่า น้ำมันที่นำมาขายเป็นน้ำมันที่มาจาก “ปตท.” พร้อมอ้างว่าสามารถตรวจสอบ “สเปค” ของน้ำมันได้
ที่เรื่องเหล่านี้นำมาเล่าให้ฟัง เนื่องเพราะในยามที่ “คนส่วนใหญ่” กลับต้อง “ยากจนลง” เพราะผลผลิตทางการเกษตรที่ตกต่ำ แถมยังต้องเดือดร้อนจากราคาน้ำมันที่แพงหูฉี่ และอาจจะยิ่งแพงกว่านี้ไปเรื่อยๆ จนรัฐบาลต้องใช้เงินกองทุนมาอุดหนุนราคาน้ำมันอีกครั้ง ในขณะที่ “คนส่วนหนึ่ง” ยังตั้งหน้าตั้งตา “กอบโกยกำไร” แบบทำลายชาติ ทำลายเศรษฐกิจ แถมยังไม่ต้องจ่ายภาษีให้รัฐอีกด้วย
อีกทั้งเขาเหล่านั้นสามารถ “อยู่รอดปลอดภัย” แบบไม่เคยถูกจับกุมมาโดยตลอด ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจริงไหมที่มีการร่ำลือกันว่า มีส่วยสะพัดถึงขนาดบางคนมือหนึ่งรับส่วย อีกมือหนึ่งก็รีดนาทาเร้นเจ้าของธุรกิจเล็กในพื้นที่ไปด้วย
ที่เขียนมานี่ก็ไม่ได้หวังว่าปัญหาเหล่านี้จะได้รับการแก้ไข เพียงแต่อยากจะบอกให้สังคมได้รับรู้ว่า บ้านเมืองเรามีเรื่องอย่างนี้เกิดขึ้น และที่แก้ไขไม่ได้เพราะอะไร
และนี่กระมังที่วันนี้ใครต่อใครถึงได้ออกมาพูดถึง “ความล้มเหลว” ของการ “ปฏิรูป” ประเทศไทยในทุกๆ ด้าน ซึ่งเวลานี้ได้กลายเป็น 4 ปีที่ “สูญเปล่า” ของ คสช.และของคนไทยทั้งประเทศไปแล้วหรือไม่?!?!