ตรัง - เทศบาลนครตรัง บินสำรวจคลองห้วยยาง สายน้ำหลักที่ไหลผ่านตัวเมือง เพื่อหามาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหาน้ำท่วมตั้งแต่เนิ่นๆ โดยพบคลองบางจุดมีความกว้างที่แคบ ตื้นเขิน เป็นคอขวด และมีขยะเพียบ
วันนี้ (16 พ.ค.) นายแพทย์รักษ์ บุญเจริญ รองนายกเทศมนตรี รักษาราชการแทนนายกเทศมนตรีนครตรัง พร้อมด้วย นางกรรณิการ์ บัวเลิศ รองนายกเทศมนตรีนครตรัง นายพิมล ณ นคร ที่ปรึกษานายกเทศมนตรีนครตรัง และเจ้าหน้าที่สำนักการช่าง ได้ลงพื้นที่สำรวจคลองห้วยยาง สายน้ำหลักที่ไหลผ่านตัวเมืองตรัง เพื่อหามาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขตเทศบาลนครตรัง
เนื่องจากขณะนี้ในประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการแล้ว และในพื้นที่จังหวัดตรัง ก็มีฝนตกเกือบทุกวัน ทำให้ประชาชนกังวล และหวั่นว่าจะเกิดน้ำท่วมขึ้น โดยเฉพาะในเขตเทศบาลนครตรัง ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำจากพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งนี้ หากการระบายน้ำไม่สามารถระบายได้อย่างรวดเร็ว อาจทำให้น้ำเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนของประชาชนได้ ดังนั้น เทศบาลนครตรัง จึงต้องเร่งดำเนินการหาทางป้องกันปัญหาดังกล่าวตั้งแต่เนิ่นๆ
สำหรับการสำรวจคลองห้วยยาง ในครั้งนี้ ได้แบ่งชุดออกเป็น 2 ชุด คือ ภาคพื้นดิน (เดินสำรวจ) และทางอากาศ โดยนำโดรนขึ้นบินเพื่อสำรวจภาพมุมสูงของคลอง เริ่มจากจุดสะพานหลังโรงแรมธรรมรินทร์ ธนา ไปสิ้นสุดบริเวณโรงพระท้ายแป๊ะกง โดยพบว่า ลำคลองในบางบริเวณจะมีพื้นที่กว้าง แคบ ตื้นเขิน และเป็นคอขวด
โดยเฉพาะช่วงลอดใต้สะพาน จะมีลักษณะเป็นคอขวดจากกว้างมาแคบ ทำให้การระบายน้ำในช่วงฝนตกหนักเกิดปัญหา เนื่องจากน้ำที่ไหลมาจากคลองที่กว้าง จะถูกบีบอัดให้แคบลงในช่วงลอดสะพาน แต่เมื่อไม่สามารถระบายได้อย่างรวดเร็ว น้ำจึงเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือน นอกจากนี้ยังมีการทิ้งขยะ เช่น วัสดุก่อสร้าง ซากเครื่องใช้ไฟฟ้า ซากอะไหล่รถลงในคลอง และมีวัชพืชกีดขวางทางน้ำ ทำให้บางช่วงตื้นเขิน น้ำระบายได้ช้า อย่างไรก็ตาม จะมีการสำรวจอีกครั้งไปจนถึงบริเวณพื้นที่รับน้ำสุดปลายสาย และอาจจะเชื่อมโยงไปถึงพื้นที่ของท้องถิ่นใกล้เคียง
ด้านการดำเนินงานเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมในเขตเทศบาลนครตรัง ขณะนี้ได้สั่งการให้สำนักการช่าง ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ขุดลอกคลองห้วยยางในบริเวณที่ตื้นเขิน เพื่อให้สามารถรองรับน้ำได้มากยิ่งขึ้น แต่ด้วยปัญหาไม่สามารถนำเครื่องจักรหนัก เช่น รถแบ็กโฮลงปฏิบัติงานได้ จึงต้องอาศัยกำลังคนที่มีอยู่ แต่ก็ไม่เพียงพอต่อการทำงานครอบคลุมทั้งแนวคลอง จึงดำเนินการได้เพียงบางส่วนเท่านั้น
เบื้องต้น ได้วางแนวทาง คือ ดำเนินการกำจัดวัชพืช และขุดลอกตะกอนดินทรายเพื่อขยายคลอง และหากฝนตกหนัก หรือมีปริมาณน้ำมากจะติดตั้งเครื่องสูบน้ำในบริเวณหัวสะพานที่เป็นคอขวด เช่น สะพานโรงรับจำนำ สะพานโรงพยาบาลตรังชาตะ เพื่อให้น้ำสามารถระบายได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งนี้ หลังจากสำรวจคลองตลอดสายแล้วจะประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหามาตรการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในระยะยาวร่วมกันต่อไป