โดย...ศิวะ ศรีชาย
“ยางพารา” เป็นพืชเศรษฐกิจและเป็นธุรกิจเคียงคู่กับประเทศไทยและประชาชนคนไทยมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนชาวภาคใต้ได้มีการทำสวนยางพาราเป็นอาชีพรอง หรืออาชีพเสริม นอกเหนือจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรมประเภทอื่นๆ
จนมาถึงยุคสมัยที่โลกของเรามีการพัฒนาในด้านต่างๆ มากขึ้น ทำให้มีความต้องการใช้ยางพารามากขึ้น ทั้งในด้านปริมาณและราคาที่สูงขึ้น ทำให้รายได้จากยางพาราของชาวสวนยางเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว จนกลายเป็นรายได้หลักของชาวสวนยาง สร้างมูลค่านำเงินเข้าประเทศเป็นลำดับต้นๆ
จึงมีการเลิกอาชีพเกษตรกรรมที่ปลูกข้าวและพืชผักอื่นๆ หันมาปลูกยางพารากันเพิ่มมากขึ้น และมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ จนมาถึงยุคสมัยที่มีรัฐบาลหนึ่งมองเห็นช่องทางที่จะช่วยเหลือประชาชนให้พ้นจากสภาพความยากจนได้ ด้วยการส่งเสริมให้ปลูกยางล้านไร่ แต่ในความเป็นจริงมีการปลูกยางเพิ่มขึ้นหลายล้านไร่
ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมายางพาราก็ต้องเผชิญกับ “วิกฤติปัญหาราคาตกต่ำ” มาจนถึงปัจจุบันทุกวันนี้
สถานการณ์ปัจจุบันของธุรกิจยางพาราภาคใต้
ธุรกิจส่งออกยางพาราของประเทศไทยถูกผูกขาดโดยผู้ค้ายางส่งออกรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย โดยอาศัยกลไกและช่องโหว่ของระบบงานราชการ และพระราชบัญญัติควบคุมยาง โดยเน้นส่งออกเป็นยางดิบเป็นส่วนใหญ่ มีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์และใช้ในประเทศในอัตราส่วนที่น้อยมาก
พ.ร.บ.ควบคุมยางถูกนำมาใช้ในเชิงควบคุมปริมาณ (จัดสรรโควต้า) ในการส่งออก และมุ่งเน้นในการกำกับการจัดเก็บเงินค่าเนียมการส่งยางออกนอกราชอาณาจักร (CESS) เสียเป็นส่วนใหญ่
โดยละเลยการควบคุมกลไกทางด้านการตลาด และการสร้างเสถียรภาพทางด้านราคายาง จนเป็นสาเหตุให้เกษตรกรชาวสวนยางพารา ต้องขายยางในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต และต้องรับภาระขาดทุนเพียงฝ่ายเดียวตลอดระยะเวลาหลายๆ ปีที่ผ่านมา
ในขณะที่ความต้องการใช้ยางมีเพิ่มขึ้นพอๆ กับปริมาณผลผลิตที่มีเพิ่มมากขึ้น แต่ราคายางถูกกดทับให้ต่ำลง เพื่อเพิ่มปริมาณการขายและทำกำไรเพิ่มขึ้นโดยพ่อค้าคนกลาง มีการแย่งชิงขายยางในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ในลักษณะที่แย่งกันขายตัดราคา เพื่อเพิ่มยอดขายและกำไร
ส่งผลกระทบต่อราคายางในประเทศให้ตกต่ำลงมาจากการกดราคาในประเทศที่ถูกกำหนดโดยกลุ่มพ่อค้าส่งออกเพียงไม่กี่ราย สร้างความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสให้กับเกษตรกรชาวสวนยางไทย โดยไม่มีการดูแลควบคุมกำกับแก้ไข จากหน่วยงานรัฐและผู้ที่มีหน้าที่ดูแลรับผิด ส่งผลให้ราคายางตกต่ำถึง 4-5 กิโลกรัม/100 บาทในบางช่วงเวลา
จุดแข็งและข้อจำกัดของธุรกิจยางพารา
การเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางรายใหญ่ที่สุดในตลาดโลกของประเทศไทย กลับไม่ได้รับการเอาใจใส่ดูแลจากรัฐบาลไทย และหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบ ทำให้จุดแข็งของยางพาราไทยกลายเป็นจุดอ่อน ด้วยวาทกรรม “ยางพาราล้นโลก” จากปากของนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) และผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ จนนำไปสู่นโยบายลดพื้นที่ปลูกยางพาราต่างๆ และมาตรการของรัฐบาล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการยางแห่งประเทศไทย ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงมากมาย
แล้วยางพาราไทยจากที่มีจุดเด่นและจุดแข็ง จึงกลายเป็นจุดอ่อนด้อย และกลายเป็นปัญหาของประเทศ เป็นปัญหาต่อคนในชาติไปเลย
บทส่งท้าย
อนาคตยางพาราไทยจะอยู่ได้อย่างไร ถ้าสถานการณ์ยังเป็นอยู่อย่างนี้ ชาวสวนยางคงหมดโอกาสที่จะลืมตาอ้าปากได้ ไม่มีความมั่นคงและมั่งคั่งจากอาชีพทำสวนยางพาราได้ ถ้ายังปล่อยให้ราคายางถูกกำหนดโดยพ่อค้าคนกลาง อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้อีกต่อไป
การบริหารจัดการกลไกตลาดค้ายาง จากเกษตรกรผู้ผลิต ถึงผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ผู้แปรรูป ผู้บริโภคที่ใช้ยางจริง โดยกระบวนการจัดการที่ให้มีความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย มีการถ่วงดุลและคานอำนาจในการสร้างตลาดค้าขายอย่างเหมาะสม ไม่ปล่อยให้ตลาดค้ายางตกอยู่ในมือของใครฝ่ายใด กลุ่มหนึ่งกลุ่มใดเพียงฝ่ายเดียว
การดูแล ควบคุม กำกับ ให้มีการผลิตและค้าขายอย่างเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายของรัฐและหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลอย่างจริงจัง และการปฏิบัติตามข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัด จะสามารถแก้ไขสถานการณ์ของปัญหาและหาทางออกได้
และควรเร่งรัดนำยางพาราในสต็อกออกมาใช้โดยเร็ว เพื่อช่วยเหลือชาวสวนยางให้หลุดพ้นจากการต้องรับภาระขาดทุนอยู่เพียงฝ่ายเดียว