xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองท้องถิ่น : โรงสอนประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์  :  คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย

 
 

ประเทศไทยแบ่งส่วนราชการทางการเมืองการปกครองออกเป็น ๓ ประเภทคือ  “ส่วนกลาง”  ประกอบด้วย  กระทรวง ทบวง กรม  “ส่วนภูมิภาค”  ประกอบด้วย  จังหวัด  อำเภอ  ตำบลและหมู่บ้าน  “ส่วนท้องถิ่น”  ประกอบด้วย  เทศบาล  องค์การบริหารส่วนจังหวัด  กรุงเทพมหานคร  เมืองพัทยาและองค์การบริหารส่วนตำบล
 
ในบรรดาส่วนราชการในทางการเมืองการปกครองทั้งสาม  มีเพียงส่วนท้องถิ่นประเภทเดียวที่มีประชากร  ดินแดนและอธิปไตยหรือกฎหมายที่เป็นของตนเอง  โดยส่วนกลางทำหน้าที่กำกับ และส่วนภูมิภาคทำหน้าที่ประสานงานจากส่วนกลางสู่ส่วนท้องถิ่น
 
ดังนั้น  การเมืองการปกครองส่วนท้องถิ่น  จึงเป็นพื้นที่ที่มีอยู่จริงในทางปฏิบัติและเหมาะสมที่จะเป็น “โรงสอน” ประชาธิปไตย  โดยเฉพาะ “ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมของประชาชน” เพราะเป็นพื้นที่ที่มีพร้อมทั้งประชากร  ดินแดนและอธิปไตย  เป็นแบบจำลองของประเทศ  ผู้บริหารและนิติบัญญัติของส่วนท้องถิ่นจึงเหมือนรัฐบาล หรือสภานิติบัญญัติของประเทศๆ หนึ่งโดยปริยาย
 
“หลักการปกครองตนเอง” ตามหลักปรัชญาประชาธิปไตยที่ว่า “การปกครองของประชาชน  โดยประชาชนและเพื่อประชาชน”  สามารถจะเกิดและเป็นจริงได้ในการเมืองการปกครองส่วนท้องถิ่น  แล้วค่อยขยายอาณาเขตปริมณฑลไปยังทั่วทั้งประเทศ
 
แต่น่าเสียดายที่การเมืองการปกครองในประเทศด้อยพัฒนาแบบไทยทำให้ “การเมืองการปกครองส่วนท้องถิ่น” ตกเป็นเบี้ยล่างให้กับการปกครองส่วนภูมิภาค  โดยออกบทบัญญัติในอดีตให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอกำกับดูแลการปกครองส่วนท้องถิ่น  โดยผู้ว่าราชการจังหวัดดำรงตำแหน่งหัวหน้าของการปกครองส่วนท้องถิ่นควบอีกตำแหน่ง  และนายอำเภอสามารถจะแทรกแซงอำนาจของส่วนท้องถิ่นในรูปแบบต่างๆ ทั้งโดยลับและโดยแจ้ง
 
หลังจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐  มีผลบังคับใช้  ทำให้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.กระจายอำนาจฯ ๒๕๔๒ การเมืองการปกครองส่วนท้องถิ่นเริ่มมีความสำคัญในการบริหารจัดการชุมชนท้องถิ่น โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ “ฉบับประชาชน” แม้ว่าจะมีปัญหาอุปสรรคอยู่บ้าง  เพราะข้อความในรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เป็นประโยชน์กับประชาชน  แต่ถูกละเลยเพราะข้อความที่ว่า “…ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ” และผู้มีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญไม่ยอมบัญญัติ (ทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนาก็ตาม)
 
แต่จะอย่างไรก็ตาม  ในการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐  หลังจากมีการยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง  รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็พยายามปิดช่องว่าง “ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ” ไปได้บ้างตามสมควร  แต่ก็ยังไม่เป็นไปตามความต้องการของประชาชน
 
การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของการเมืองไทยคือ  การมี พ.ร.บ.กระจายอำนาจฯ ยกระดับการปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นมามีฐานะเทียบเท่าการปกครองส่วนภูมิภาค  และที่สำคัญแยกตัวเป็นอิสระจากการปกครองส่วนภูมิภาค มีเกียรติภูมิ  มีศักดิ์ศรีสมฐานะการเป็นตัวแทนของประชาชน  ทำให้นักการเมืองระดับชาติหลายคนหันมาสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้นำส่วนท้องถิ่นในระดับต่างๆ และตัวแทนของพรรคการเมืองใหญ่ในภูมิภาคต่างๆ ต่างแย่งชิงกันลงแข่งขันเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดในหลายพื้นที่  ด้วยแนวคิดที่ว่า “เป็นหัวหมา ดีกว่าหางราชสีห์”  หมายถึง การเป็นนายกเทศมนตรี หรือนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด แม้จะดูว่าไม่สูงเท่าการเป็น ส.ส. นักการเมืองระดับชาติ  แต่ก็มีพื้นที่ให้บริหาร  มีงบประมาณให้ดูแล  และมีบุคลากรในความรับผิดชอบที่ชัดเจนกว่านั่นเอง
 
นับจากวันนี้เป็นต้นไป “เมืองหาดใหญ่” ของเรากำลังจะเปิดศักราชของการแย่งชิงพื้นที่ของการเมืองส่วนท้องถิ่นที่สำคัญคือ  “นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่” ที่ตกอยู่ในการบริหารจัดการของอดีต ส.ส.ปชป. มาหลายสมัย  หลังจากถูกยึดครองโดยอดีตนายกฯ ตลอดกาลตระกูลดังของเมืองหาดใหญ่มายาวนาน  ข่าวคราวที่แพร่กระจายออกมาตอนนี้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า  สมัยหน้าจะมีผู้อาสาสมัครลงแข่งขันให้ประชาชนในเขตเทศบาลเลือกตั้งอย่างน้อย ๓ คนคือ  ๑. นพ.เกรียงศักดิ์  หลิวจันทร์พัฒนา  ๒. นายพฤกษ์  พัฒโน  ๓. พล.ต.ท.สาคร  ทองมุนี ส่วน  ปลัดอ๋อย-ประสงค์  สุวรรณวงศ์  ล่าสุดยังไม่มีความคืบหน้าว่าจะยังสนใจอยู่หรือไม่
 
“นครหาดใหญ่” ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงของภาคใต้มายาวนาน  แต่หลังๆ มานี่ไม่แน่ใจว่าจะยังเป็นอยู่หรือไม่  เมื่อเทียบกับการขยายตัวและพัฒนาของเมืองหลักหลายๆ เมือง  เช่น  สุราษฎร์ธานี  ภูเก็ต  กระบี่  และเมื่อเทียบกับเมืองใหญ่ในระดับเดียวกันมาก่อน  เช่น  เชียงใหม่  ขอนแก่น  นครราชสีมา  อุบลราชธานี  บุรีรัมย์  ฯลฯ
 
มีหลายสิ่งหลายอย่างในนครหาดใหญ่ที่น่าจะพัฒนาไปได้มากกว่านี้  เช่น  ระบบขนส่งมวลชน  ระบบการจัดการจราจร  ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน  ภูมินิทัศน์ของเมือง  กิจกรรมทางวัฒนธรรม  ปอดของเมือง  ฯลฯ  เมื่อสถานภาพของสินค้าหนีภาษีและอื่นๆ ของเมืองหาดใหญ่เปลี่ยนแปลงไป  หาดใหญ่จึงต้องสร้างจุดขายใหม่ๆ ที่เป็นอัตลักษณ์และศักยภาพของเมือง  เช่น  ตลาดสีเขียว  อาหารเพื่อสุขภาพ  ผักปลอดสารพิษ  งานส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย  ศูนย์กลางของการคมนาคมขนส่งและการสื่อสาร  แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมย่านชุมชนเมือง ฯลฯ
 
การเมืองท้องถิ่นหาดใหญ่ต้องตอบสนองความต้องการของสังคมสมัยใหม่ที่ปรับปรนให้สมสมัยจากวิถีดั้งเดิม  โดยต่อยอดด้วยการบริหารจัดการที่มีศักยภาพ  เป็นจริง  มองเมืองทั้งระบบ  ไม่ใช่เฉพาะเศรษฐกิจหรือการค้าขาย  แต่ต้องรวมไปถึงสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ  วัฒนธรรม  การศึกษา  สังคม  สุขภาพหรือวิถีของคนในสังคมเป็นสำคัญ
 
อย่าเผลอให้ความเป็น “พรรคพวกนิยม” ครอบงำ  จนมองไม่เห็นความจริงที่กำลังเผชิญกันอีกเลย.
  


กำลังโหลดความคิดเห็น