โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
“ชกหมัดตรง” วันนี้มีประเด็นข่าวสำคัญที่เกิดขึ้นที่ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส เมื่อวานนี้ (1 พ.ค.) อันตรงกับวันแรงงานแห่งชาติ โดยชาวบ้านในที่นั่นไม่ต่ำกว่า 500 คนได้นัดประชุมกันที่ห้องประชุมในค่ายจุฬาภรณ์ ไม่ใช่เพื่อต้องการแสดงพลังแบบผู้ใช้แรงงานทำอะไรกันในวันนี้อะไรหรอก แต่เพื่อคัดค้านการที่ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” จะนำผู้เข้าร่วม “โครงการพาคนกลับบ้าน” จำนวน 105 คนให้ไปปักหลักอาศัยอยู่ในพื้นที่ อ.สุคิริน อันเป็นที่ดินที่ “รัฐจัดสรร” ให้จำนวน 600 ไร่
แม้ชาวสุคิรินที่ร่วมกันคัดค้านจะอ้างถึงผลกระทบต่อป่าไม้บ้าง สิ่งแวดล้อมบ้าง หรือกระทั่งเรื่องการท่องเที่ยว แต่ที่ชาวบ้านเห็นว่าสำคัญที่สุดและรู้สึกได้คือ “ความหวาดระแวง” ที่มีต่อ “ผู้ที่เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน” กลุ่มนี้
ย้ำชัดๆ คือ บทสรุปของกลุ่มชาวบ้านที่ชุมนุมกันกว่า 500 คนนั้น ทุกคนมีมติร่วมเป็นเอกฉันท์ว่า ไม่ต้องการให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า นำคนที่เข้าร่วมโครงการของกองทัพที่ “ชาวไทยพุทธ” ในพื้นที่เรียกขานกันว่า “พาโจรกลับบ้าน” ไว้อยู่ร่วมกันชุมชนที่นั่น เพราะหวาดหวั่นว่าจะมีผลกระทบมากมายตามมา
“เราไม่คัดค้านโครงการพาคนกลับบ้าน แต่เราไม่ต้องการอยู่ร่วมกับคนเหล่านี้”
นี่น่าจะเป็นความคิดเห็นที่เพียงพอกับการที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องรับฟังไว้หรือไม่
ซึ่งก็คงแค่ “รับฟัง” แต่ “ไม่น่าจะได้ยิน” เพราะหลังการชุมนุมคัดค้าของชาวบ้านดังกล่าว บรรดา “ผู้ใหญ่ในกองทัพ” ก็เดินหน้าเรียกประชุมหัวหน้าส่วนราชการใน อ.สุริคิริน เพื่อเดินหน้าตามแผนจัดจัดสรรที่ทำกินให้กับคนที่ “ถูกพากลับบ้าน” ทั้ง 105 คน รวมจำนวน 23 ครอบครัว และมีคนที่ไม่มีครอบครัวอีก 12 คนร่วมอยู่ด้วย
มีการบอกกับกลุ่มผู้ที่คัดค้านเพื่อให้สบายใจว่า ทั้ง 105 คนที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า นำเข้าสู่โครงการพาคนกลับบ้าน โดยรับกลับจาก “ประเทศมาเลเซีย” เมื่อหลายเดือนก่อนนั้น พวกเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งนั้นก็แสดงว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่ “โจรใต้” ไม่ใช่ “แนวร่วม” ที่ก่อเหตุยิงคน วางระเบิด วางเพลิง หรือก่อวินาศกรรมต่างๆ แต่อย่างใด
ความจริงแล้วเรื่องนี้ก็เป็นไปตามที่ “จุดคบไฟใต้” คอลัมน์ประจำใน “MGR Online ภาคใต้” เคยนำเสนอข้อมูลไว้ว่า โครงการพาคนกลับบ้านไม่ได้ทำให้สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ลดลง เพราะกลุ่มคนพวกนี้เป็นคนละส่วนกับแนวร่วมของขบวนการแบ่งแยกดินแดน อีกทั้งยังบอกไว้ด้วยว่า การที่มี “นายพลบางคน” ระบุว่าการพาคนกลับบ้านจะสร้าง “ความระส่ำ” หรือก่อ “ความหวาดระแวง” ให้กับขบวนการแบ่งแยกดินแดนนั้น เรื่องนี้ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า น่าเป็นได้แค่ “โกหกคำโต” นั่นเอง
แต่ที่แน่นอน ชัดเจนและถูกต้องคือ ได้ละเลงงบประมาณลงไปแล้วสูงถึง “200 ล้านบาท” กับโครงการนี้
ทว่าเชื่อเถอะแม้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จะพยายามบอกกับคนในพื้นที่ว่า คนที่ถูกพากลับบ้านเหล่านี้ไม่ใช่ “เสือ” เป็นแค่ “แมว” เท่านั้น เรื่องนี้ก็ยากที่จะมีใครเชื่อ และคงไม่มีใครอยากใช้ชีวิตร่วมไปกับคนกลุ่มนี้ เนื่องเพราะชาวบ้านทุกคนมีความรู้สึกที่เหมือนกันทั้ง “ไม่เชื่อใจ” และ “เชื่อใจไม่ได้” เพราะประสบการณ์ รวมถึงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาบอกกับผู้เป็นเจ้าของพื้นที่ไว้อย่างนั้น
อีกทั้งได้โปรดอย่าได้นำเรื่องราวของกลุ่มคนที่รัฐไทยตั้งชื่อใหม่ให้เขาว่า “โจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.)” ซึ่งชื่อที่รู้จักในทางสากลคือ “พรรคคอมมิวนิสต์มลายา (พคม.)” มาเป็นกรณีเปรียบเทียบ เพราะเป็นคนละเรื่องเดียวกัน เนื่องจากเรื่องราวของ “โจรจีน” ไม่มีการนำประวัติศาสตร์ ศาสนาและชาติพันธุ์เข้าไปเกี่ยวข้อง และที่พวกเขาสลายพรรคก็เพราะมีปัจจัยไม่เหมือนกัน พวกเขาหมดหนทางสู้ สู้ไม่ได้ อันเกิดจากความเปลี่ยนแปลงของสังคมในประเทศมาเลเซียสมัยนั้น
สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ไม่สนใจที่จะ “เงี่ยหูฟังเสียงคัดค้านของประชาชน” แม้จะจำนวนมากมาย และที่สำคัญประชาชนเหล่านั้นล้วนเป็น “คนในพื้นที่” เสียด้วย
การไม่ฟังเสียงประชาชนจำนวนมากที่รวมตัวกัน และได้ผ่านกระบวนการทำ “ประชาคม” ร่วมกันมาแล้วด้วย เรื่องนี้ต้องนับเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมากที่เดียว
นี่คือการสร้าง “ความแตกแยก” ให้เกิดขึ้นระหว่าง “ฝ่ายปกครอง” กับ “ฝ่ายถูกปกครอง” หรือไม่ นี่คือการไม่เห็นคามสำคัญของ “เสียงประชาชนส่วนใหญ่” ที่คัดค้านในสิ่งที่ “กองทัพ” หรือ “รัฐ” กระทำต่อพวกเขาใช่หรือไม่
ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงเป็นที่ยอมรับกันของผู้คนทั้งโลกมานมนามแล้วว่า รัฐบาลจะแก้ปัญหาได้ทุกปัญหาเพียงแค่ต้อง “เงี่ยหูฟังเสียงประชาชน” ยิ่งการแก้ไขปัญหา “ไฟใต้” ที่เวลานี้ได้กลายเป็น “วิกฤตใหญ่” และต้องถือเป็น “วาระแห่งชาติ” ด้วยแล้ว การจะให้เปลวเพลิงที่คุโชนดับได้ มีแต่จะต้องให้ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมลงไม้ลงมือดับไฟด้วยเท่านั้น
แล้ววันนี้ “เสียง” ที่ประชาชนตะโกนก้องได้ถูกปล่อยให้ “เลือนหาย” ไปกับสายลมกระนั้นหรือ หรือเรื่องราวที่เป็น “ความคิดความอ่าน” ของประชาชนได้ถูกตีค่าให้ไม่เกิน “ศูนย์” ในสายตาของบรรดา “ผู้นำหน่วย” “ผู้นำองค์กร” และ “ผู้บริหารประเทศ” กระนั้นหรือ
“เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ใครเคยประกาศก้องไว้
แต่เวลานี้มีคนๆ หนึ่งที่ใกล้พ้นจากตำแหน่ง เขากำลังสร้างผลงานแห่งความแตกแยกในหมู่ประชาชนชิ้นใหม่ ซึ่งอีกไม่นานจะกลายเป็นอีกปัญหาใหญ่ที่เติมเชื้อไฟเข้าไปในวิกฤตเดิมๆ แล้วอีกไม่นานเขาจะเดินหันหลังจากไป โดยปล่อยให้คนใหม่ที่จะมารับไม้ต่อเป็นผู้รับกรรมที่เขาไม่ได้ก่อ
ถามว่าเรากำลังเร่งมือช่วยกัน “ดับไฟใต้” หรือเรากำลังช่วยกัน “ก่อไฟกองใหม่” ขึ้นกองแล้วกองเล่ากันแน่