รายงานพิเศษ..ศูนย์ข่าวภาคใต้
เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยิ้มแป้นขณะรับมอบเกียรติบัตรประกาศการขึ้นทะเบียนแหล่งธรณีวิทยา เนื้อที่เกือบ 3,000 ไร่ใน จ.สตูล เป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก้ จากผู้แทนยูเนสโก ประจำประเทศไทย ที่เดินทางมามอบให้ถึงทําเนียบรัฐบาล
อุทยานธรณีโลกของยูเนสโก้ใน จ.สตูล ครอบคลุม 4 อำเภอ คือ อ.ทุ่งหว้า, อ.ละงู, อ.มะนัง และ อ.เมืองสตูล ที่กรมทรัพยากรธรณี เริ่มส่งเสริมการพัฒนาอทุยานธรณีสตูล มาตั้งแต่ปี 53 โดยจัดตั้งเป็นอุทยานธรณีสตูล เมื่อ 14 ส.ค.57 ต่อมา 6 ธ.ค.59 ได้รับการประกาศเป็นอุทยานธรณีระดับประเทศ ซึ่งก่อนหน้านั้นในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ 8 พ.ย.59 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้เสนออุทยานธรณีสตูลเข้าเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก
จนกระทั่ง 17 เม.ย.61 ที่ผ่านมายูเนสโก้ได้ประกาศผลการพิจารณารับรองอุทยานธรณีสตลู เป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก อย่างเป็นทางการ ผ่านหน้าเว็บไซต์ www.unesco.org โดยใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “Satun UNESCO Global Geoparks” จัดเป็นอุทยานธรณีระดับโลกแห่งแรกของประเทศไทย อยู่ในลำดับที่ 38 ของโลก และเป็นประเทศที่ 5 ของอาเซียนที่ได้รับการขึ้นทะเบียน
ต่อจากนี้เชื่อว่าอุทยานธรณีโลกสตูล จะเป็นที่รู้จักในระดับโลกมากยิ่งขึ้น จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเยี่ยมชมมากขึ้น เป็นการสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้ชุมชน เป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ตามแบบวิถีชุมชน ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสได้ ตลอดจนก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสบการณ์ระหว่างสมาชิกเครือข่ายของอุทยานธรณีโลกต่อไป ซึ่งในวันเดียวกันมีการประชุม ครม. ซึ่ง ครม. มีมติรับทราบเรื่องนี้และระบุว่าจะต้องจัดทำแผนการดำเนินงาน 4 ปีเพื่อใช้เตรียมรองรับการประเมินจากยูเนสโก้ใน 4 ปีข้างหน้าด้วย
จนถึงขณะนี้เชื่อว่าประชาชนจำนวนมากที่ติดตามข่าวโครงการแผนพัฒนา จ.สตูล มาโดยตลอด อาจจะมีความงุนงงสงสัยในความย้อนแย้งของนโยบายรัฐบาล ที่ด้านหนึ่งไม่หยุดผลักดันโครงการระดับเมกกะโปรเจ็กค์ตามแผนยุทธศาสตร์สะพานเศรษฐกิจเชื่อมอันดามัน - อ่าวไทย
ที่จะเริ่มขึ้นด้วยการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา, ถนนมอร์เตอร์เวย์, รถไฟบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ บนชายฝั่งอันดามัน ที่หาดปากบารา อ.ละงู จ.สตูล ไปเชื่อมกับท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 ซึ่งกำหนดจะสร้างที่่บ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา ท่ามกลางการคัดค้านของประชาชนทั่วประเทศ ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ผ่านโครงการจัดตั้งอุทยานธรณีโลกขึ้นในพื้นที่เดียวกันด้วย ซึ่งหากย้อนกลับไปฟังคำพูดของนายกฯ ในรายการคืนความสุขให้ประชาชน เมื่อ 17 เม.ย.58 พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงโครงการนี้ว่า
“...ยังมีอีกหลายโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล อันนี้ก็ขอความกรุณาว่าอย่าขัดแย้งกันมากเลย เราพยายามที่จะดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบ เยียวยาให้สบายใจ ถ้าเราไม่สร้างตรงนี้ก็เป็นปัญหาอีก ประตูการค้าฝั่งอันดามันเราจะไม่มี แล้วก็เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าสู่ทวีปยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกาไม่ได้...”
ขณะที่ต่อมาในปี 59 การประชุมคณะรัฐมนตรี 8 พ.ย.คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้เสนออุทยานธรณีสตูล เข้าเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก และต่อมาในปี 60 บริษัทที่ปรึกษาซึ่งว่าจ้างโดยกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ภายใต้การอำนวยการของนายทหาร กอ.รมน.จ.สตูล (ในขณะนั้น) พร้อมด้วยกองกำลังอาสาสมัครต่างๆ ในนามของหน่วยงานภาครัฐได้พยายามที่จะผ่านพิธีกรรมการรับฟังความคิดเห็นโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ท่ามกลางการคัดค้านของประชาชนจำนวนมาก ต่อมามีผู้ถูกดำเนินคดีจำนวนหนึ่งจากกรณีล้มเวที ค.1 ท่าเรือน้ำลึกปากบารา เมื่อ 16 มี.ค.60 ที่ผ่านมา
โครงการพัฒนาของรัฐบาลทั้ง 2 ด้านที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วนั้นถูกกำหนดให้อยู่ในโซนพื้นที่เดียวกันคือในอ่าวปากบารา แต่แตกต่างกันตรงที่ว่าโครงการส่งเสริมและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ทางธรณีวิทยาโลกและแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่บริหารจัดการโดยชุมชน รัฐบาลไม่ต้องยกเลิกเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา-ตะรุเตา เนื้อที่เกือบ 5,000 ไร่เพื่อถมทะเลก่อสร้างท่าเรือ ในตรงกันข้ามกลับยิ่งต้องเข้มงวดดูแลรักษา “มรดกของอาเซี่ยน” แห่งนี้ให้คงคุณค่าสืบไป
การส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวศึกษาเรียนรู้อุทยานธรณีโลกยูเนสโก้ จ.สตูล รัฐบาลไม่ต้องใช้งบประมาณสูงถึง 12,000 ล้านบาท ที่ 4,000 ล้านบาทหมดไปกับค่าใช้จ่ายสำหรับจัดหาแหล่งหินและทรายมาถมทะเล ไม่ต้องสูญเสียชายหาดปากบารา, หาดราไว, หาดบ่อเจ็ดลูก แหล่งปะการังเจ็ดสี ฯลฯ ที่เป็นมรดกทางธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ตามมติคณะรัฐมนตรีที่ประกาศไว้ตั้งแต่ปี 2532 ไม่ต้องสูญเสียภูเขาที่เป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญของโลกเกือบ 10 แห่งให้กับสัมปทานระเบิดหิน ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมประกาศเป็นแหล่งหินเพื่ออุตสาหกรรมไว้แล้วในขณะนี้ พูดให้ชัดๆ คือเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลจะเอาโครงการท่าเรือน้ำลึกอุตสาหกรรมปากบารา มาอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับอุทยานธรณีโลก แม้ที่ผ่านมานายกฯ จะย้ำว่า
“...โครงการเหล่านี้ทั้งหมดเป็นเสมือน ‘เส้นเลือด’ ที่หล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจของเรา ทั้งภายในและระหว่างประเทศ รัฐบาลนี้ได้ริเริ่ม เร่งรัด ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในอนาคตอันใกล้ คือต้องบอกประชาชนให้ทราบไว้ก่อน ไม่มาบอกทีหลัง ทำอะไรต้องบอกก่อน แล้วก็มั่นใจว่าถ้าทำสำเร็จก็จะเป็นสิ่งที่ดี ถ้ามาบอกทีหลังก็เหมือนเราไปงุบงิบๆ ทำ ไม่ใช่ ผมก็บอกมาตลอด ก็ขอให้เข้าใจด้วย เราจะต้องยกฐานะขีดความสามารถในการแข่งขันของเรา ให้เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจในภูมิภาค ในเวทีโลกให้ได้…”
แต่ที่ผ่านมา ผศ.ประสาท มีแต้ม อดีตอนุกรรมการสิทธิชุมชน (กสม.) เคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่าวัตถุประสงค์โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ที่บอกว่าจะเป็นประตูของอันดามันเป็นท่าเรือหลักที่จะส่งสินค้าไปยุโรป แอฟริกา ปรากฏว่าคำพูดคำนี้เป็นคำพูดเดียวกันกับโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกระนอง ที่สร้างเสร็จก็ถูกทิ้งให้รกร้างมาตั้งแต่ปี 2546 ทั้งที่ใช้งบประมาณลงทุนนับพันล้านบาท
“พูดไว้อย่างนี้เลย จะสร้างขนส่งสินค้าเป็นท่าเรือหลัก แต่วันนี้ท่าเรือระนองร้างแล้ว ลงทุนไปพันกว่าล้าน สร้างพร้อมกับท่าเรือภูเก็ต ตอนนี้ ปตท.สผ.เช่าอยู่ มีการขนส่งสินปีหนึ่งไม่ถึง 200 เที่ยว ส่วนท่าเรือภูเก็ต กลายเป็นท่าเรือขนนักท่องเที่ยวไปแล้ว ไม่ได้ส่งสินค้าแต่อย่างใด คนไทยเราได้สูญเสียเงินภาษีไปกับโครงการที่ไม่ค่อยได้เรื่องมามากแล้ว ปากบาราเองก็อยู่ห่างจากระนองประมาณ 350 กิโลเมตรเท่านั้น ถ้าจำเป็นจริงๆ ก็ไปใช้ที่ระนองซิครับ”
หลังการประกาศอย่างเป็นทางการของยูเนสโก เชื่อว่ายังมีหลายคนที่อาจจะยังไม่ทราบและอาจจะนึกไม่ถึงว่าการผลักดันอุทยานธรณีสตูล เป็นอุทยานธรณีโลก ความจริงแล้วไม่ได้เริ่มขึ้นจากรัฐบาลโดยตรง แต่ในทางตรงกันข้ามรัฐบาลกลับเสนอโครงการพัฒนาที่หากจะกล่าวให้ถึงที่สุดแล้วล้วนเป็นโครงการที่เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการดูแลรักษาอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก จ.สตูล ซึ่งจะมีการประเมินผลทุกๆ 4 ปีด้วยซ้ำ
อุทยานธรณีโลกของยูเนสโก จ.สตูล เริ่มขึ้นจากกลุ่มคนตัวเล็กๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกอุตสาหกรรมปากบารา กล่าวให้ถึงที่สุดก็คือว่าอุทยานธรณีโลก จ.สตูล เป็นยุทธศาสตร์ที่ภาคประชาชนเสนอขึ้นมาเป็น “ไม้ซีก” เพื่อนำไปงัด “ไม้ซุง” ของภาครัฐให้พ้นไปจากพื้นที่นี้นั่นเอง
เรื่องมันเริ่มต้นขึ้นที่ใต้ถุนอาคารเรียนของโรงเรียนกำแพงวิทยา ต.ตะโละใส อ.ละงู จ.สตูล ที่มุมหนึ่งของใต้ถุนอาคารเรียนได้ถูกกั้นเพื่อจัดเป็นพื้นที่แสดงของ “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา” โดยมีนักเรียนในโรงเรียนกำแพงวิทยา ทำหน้าที่เป็นวิทยากรให้ความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับก้อนหินหลากหลายรูปแบบที่นำมาจัดแสดงไว้ในฐานะหลักฐานทางธรณีวิทยาที่สำคัญต่อประวัติศาสตร์โลกและประวัติศาสตร์ของ จ.สตูล จนเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาระดับประเทศชุมนุมกันอยู่ที่นี่ ทุกคนยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาเท่านั้นเอง
“ตอนเริ่มกันใหม่ๆ แรกๆ ก็เก็บซากสัตว์มาผ่าเอาเนื้อออกมาสตัฟฟ์ มาดองน้ำยา เริ่มสตัฟฟ์งูจงอางเป็นตัวแรก เก็บไว้ในห้องพักครู ครูคนอื่นๆ กลัว สั่งให้เด็กนักเรียนเอาไปเผา ผมเสียใจมาก เพราะใช้เวลาสตัฟฟ์นานถึง 2 วัน 2 คืน”
“ครูนก” นายธรรมรัตน์ นุตะธีระ ครูผู้ริเริ่มก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา โรงเรียนกำแพงวิทยา ย้อนนึกถึงที่มาที่ไปของการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ฯ ที่เป็นตัวจุดประกายการศึกษาซากดึกดำบรรพ์ซึ่งมีอยู่เต็มพื้นที่ อ.ละงู จ.สตูล
“ต้องเข้าใจก่อนว่าเด็กอำเภอละงู เป็นเด็กต่างจังหวัด การจะมาจูงใจให้นั่งท่องศัพท์วิทยาศาสตร์มันค่อนข้างยาก แต่หลังจากที่ผมทำพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา เด็กๆ ก็ช่วยกันวาดภาพการจำแนกหมวดหมู่สัตว์และพืช ที่ผนังด้านหน้าห้องพิพิธภัณฑ์ ทำให้เป็นเรื่องง่ายที่เด็กจะจดจำ กลายเป็นบรรยากาศการเรียนรู้ใหม่ในโรงเรียน การไล่ต้อนไล่ตีเด็กให้เข้าห้องเรียน เป็นการแก้ที่ปลายเหตุ การสร้างบรรยากาศในการสอน ให้เด็กสนุกกับการเรียน วันไหนผมสอนในห้องเรียน เด็กจะท้วงว่าทำไมไม่สอนที่ห้องพิพิธภัณฑ์ แม้จะไม่มีเก้าอี้ต้องนั่งกับพื้น มีแต่ฝุ่น แต่นักเรียนก็สนุก”
“ครูนก” บอกว่า ห้องพิพิธภัณฑ์ของโรงเรียนมีการบูรณาการการเรียนรู้ พัฒนานักเรียนเป็นวิทยากรประจำฐานตัวอย่างสัตว์แต่ละฐาน นักเรียนจะช่วยอธิบายและกระตุ้นให้เกิดความสนใจ เข้าใจตัวอย่างที่นำมาจัดแสดงในห้องพิพิธภัณฑ์ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละฐาน เป็นการจัดการเรียนแบบมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
จากนั้นมีการถ่ายทอดการเรียนรู้จากรุ่นสู่รุ่น จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง ครูแทบไม่ต้องแนะนำอีกเลย เพราะเด็กวิทยากรชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เรียนกับเด็กวิทยากรชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เด็กวิทยากรชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เรียนกับเด็กวิทยากรชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ครูแค่คอยบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ ถ้ามีคณะนักเรียนนักศึกษา จากโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยต่างๆ มาทัศนศึกษาดูงาน ก็คอยจัดการหานักเรียนที่ว่างมาช่วยบรรยายให้ความรู้กับผู้ที่มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์
"สุดท้าย นักเรียนที่สนใจศึกษาฟอสซิลไทรโลไบต์เป็นการเฉพาะ ก็ต้องไปศึกษาฟอสซิลกลุ่มอื่นด้วย เผื่อกลุ่มที่สนใจฟอสซิลกลุ่มอื่นไม่มา ตัวเองต้องพร้อมที่จะไปบรรยายแทน เป็นกระบวนการทำให้เด็กนักเรียนเกิดการพัฒนา ส่งเสริมให้เด็กแสดงออก รู้จักพูด รู้จักสืบค้นหาความรู้ ตรงนี้เป็นผลมาจากการมีพิพิธภัณฑ์ ทำให้พิพิธภัณฑ์มีชีวิต มีกิจกรรม มีการเคลื่อนไหว สืบค้นและให้บริการอย่างต่อเนื่อง”
“ครูนก” กล่าวถึงคุณค่าของซากฟอสซิลว่าในภาคอีสานเคยมีนักล่าฟอสซิลชาวเกาหลี มาขอซื้อฟอสซิลจากชาวบ้าน เป็นชิ้นส่วนกระดูกไดโนเสาร์ ซื้อไปในราคาชิ้นละ 1-3 พันบาท แต่มาเสนอขายคืนกลับให้รัฐบาลไทยถึง 3,000 ล้านบาท ซึ่งแม้ใน จ.สตูล ยังไม่มีการพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์ แต่ซากฟอสซิลที่พบใน จ.สตูล ขณะนี้มีอายุเก่าแก่กว่าฟอสซิลไดโนเสาร์หลายร้อยล้านปี บ่งบอกว่าแผ่นดินสตูลมีความเก่าแก่และเป็นหนึ่งในแผ่นดินที่ให้กำเนิดสรรรพชีวิตต่างๆ บนโลกนี้รวมทั้งสัตว์มีกระดูกสันหลังอย่างไดโนเสาร์ด้วย
ประมาณปี 2546-2547 “ครูนก” เริ่มค้นพบและเริ่มสนใจศึกษาเรื่องฟอสซิล แต่มีความรู้แค่พื้นฐานที่ได้มาตอนเป็นนักศึกษา หลังจากศึกษาเกี่ยวกับฟอสซิลอยู่ 6 -7 ปี สืบค้นข้อมูลเพิ่มขึ้น ทำให้มีองค์ความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นกับตัวเอง การได้เรียนรู้พร้อมกับนักเรียน จากการลงสำรวจพื้นที่ต่างๆ เรียนรู้จากนักศึกษาและอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เข้ามาทัศนศึกษาดูงานพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาที่โรงเรียนกำแพงฯ มีโอกาสได้แนะนำในส่วนที่ตนเองค้นพบ นำมาแลกเปลี่ยนกับความรู้จากผู้ศึกษาค้นคว้าโดยตรง เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกันมากขึ้น
ต่อมา ทางกรมทรัพยากรธรณี ลงพื้นที่มาประสานงานโครงการจัดตั้งอุทยานธรณีศึกษาระดับประเทศไทย และผลักดันเสนอเป็นอุทยานธรณีโลก ตอนแรกกำหนดเฉพาะพื้นที่เกาะตะรุเตา แต่ช่วงปี 2552 หลังจากที่มีพระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2551 กรมทรัพยากรธรณีมีโครงการประกวดซากดึกดำบรรพ์ ครูนกจึงรวบรวมฟอสซิลเด่นๆ ได้หนึ่งคันรถกระบะ นำไปประกวดประเภทฟอสซิลสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง
ในนามโรงเรียนกำแพงวิทยา อ.ละงู จ.สตูล
“ผลการประกวด เรากวาดรางวัลทั้งหมด 4 ประเภท คือ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ฟอสซิล นอติลอยด์ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ไทรโลไบท์ สกุล Dalmanitina รางวัลรางวัลชมเชย 2 รางวัลคือฟอสซิลแกรปโตไลต์ กับนอติลอยด์ ต่อมากรมทรัพยากรธรณีขอชิ้นส่วนฟอสซิลที่ชนะการประกวด ไปจัดแสดงที่กรุงเทพฯ ด้วย”
เมื่อได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกับเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรธรณี ทำให้ทราบว่า กรมทรัพยากรธรณีได้สำรวจฟอสซิลในจังหวัดสตูล คู่ขนานกับครูนกและคณะนักเรียนโรงเรียนกำแพงวิทยามาโดยตลอด แต่การอยู่ในพื้นที่ ทำให้ได้แหล่งฟอสซิลใหม่ๆ เพิ่มเติมอีกหลายแหล่ง กรมทรัพยากรธรณีเล็งเห็นความเป็นไปได้ในการจัดตั้งอุทยานทางธรณี และผลักดันเป็นอุทยานธรณีโลก โดยให้ชาวบ้านในชุมชนและท้องถิ่นมีบทบาทบริหารจัดการกันเอง
ต่อมาในพื้นที่ ต.ทุ่งหว้า อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล ซึ่งอาณาเขตติดกับ อ.ละงู วันหนึ่งในเดือนเมษายน 2551นายยุทธนันท์ แก้วพิทักษ์ ชาวบ้านหมู่ 6 ต.ลิพัง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง กับเพื่อนอีก 3 คนเข้าไปจับกุ้งก้ามกรามในถ้ำวังกล้วย บ้านคีรีวง ม.7 ต.ทุ่งหว้า อ.ทุ่งหว้า ขณะดำน้ำจับกุ้งอยู่นั้นได้พบฟอสซิล ลักษณะเป็นหินสีน้ำตาลไหม้ น้ำหนักประมาณ 5.3 กิโลกรัม บริเวณห่างจากปากทางเข้าถ้ำประมาณ 1.6 กิโลเมตร
ต่อมานักธรณีวิทยา ระบุว่า เป็นฟอสซิลกระดูกกรามช้างสเตโกดอน อายุประมาณ 1.8 - 0.01 ล้านปีมาแล้ว โดยมีชีวิตอยู่ในยุคไพลสโตซีน นับเป็นการค้นพบฟอสซิลสัตว์ประเภทงวงแห่งแรกของภาคใต้ ต่อมา “ถ้ำวังกล้วย” ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “ถ้ำเล-สเตโกดอน” แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของ อ.ทุ่งหว้า ซึ่งในพื้นที่ อ.ทุ่งหว้า มีการค้นพบฟอสซิลช้างโบราณ 2 สกุล คือ สเตโกดอนและเอลลิฟาส และยังพบฟอสซิลแรดโบราณอีก 2 สกุล คือ เกนดาธิเรียมและคิโลธิเรียม จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์อุทยานธรณีโลกสตูล ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งหว้า และกรมทรัพยากรธรณี
หลายคนอาจจะยังไม่ทราบอีกว่าในความเป็นจริง จ.สตูล ได้ถูกล้อมกรอบเอาไว้หมดแล้วในทุกๆ ด้าน เรียกว่าแทบจะไม่มีโอกาสเบียดขึ้นมาเป็นอุทยานธรณีโลกได้อีก ซึ่งหนึ่งในอุปสรรคสำคัญของการขอขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานธรณีโลกของ จ.สตูล ก็คือในบริเวณไม่ไกลกันมี “อุทยานธรณีโลก ลังกาวี” (Langkawi UNESCO Global Geopark) ประเทศมาเลเซีย ที่อยู่ประชิดชายแดน จ.สตูล ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานธรณีโลกอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งที่ผ่านมายูเนสโกจะไม่ประกาศพื้นที่อุทยานธรณีโลกแห่งใหม่ ห่างจากแหล่งที่มีอุทยานธรณีโลกอยู่แล้วเกิน (รัศมี) 200 กิโลเมตร (เกาะลังกาวีอยู่ห่างเกาะตะรุเตา และฝั่งจังหวัดสตูลเพียงไม่กี่กิโลเมตร)
แต่ทางคณะกรรมการผู้ยื่นขอให้อุทยานธรณีสตูลเป็นอุทยานธรณีโลก ได้นำเสนอให้เห็นถึงความแตกต่างของอุทยานธรณีสตูล กับอุทยานธรณีลังกาวี โดยชี้ว่าอุทยานธรณีลังกาวี ที่มาเลเซีย เด่นในเรื่องของความเป็นเกาะแก่งและชั้นหิน แต่อุทยานธรณีของไทย มีเทือกเขาหินปูนบนแผ่นดินที่เด่นในเรื่องของฟอสซิล
โดยเฉพาะฟอสซิลในมหายุคพาลีโอโซอิก ที่ จ.สตูล พบซากฟอสซิลครบทั้ง 6 ยุคย่อย ยังไม่มีที่ไหนในโลกที่มีความโดดเด่นเช่นนี้ นอกจากนี้ยังมีถ้ำ แหล่งน้ำ สายน้ำ ภูเขา ป่าไม้ เกาะแก่ง รวมถึงการมีส่วนร่วมของชุมชน ส่งผลให้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานธรณีโลกในที่สุด
ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรี 1 พ.ค.61 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นยกรัฐมนตรี เป็นผู้รับมอบใบประกาศอุทยานธรณีโลกสตูล จากผู้แทนยูเนสโกประจำประเทศไทย ด้วยใบหน้าที่แสดงถึงความอิ่มเอิบอยู่ในหัวใจ ขณะที่ในการประชุม ครม.ก็ได้มีการแสดงความเป็นห่วงการบริหารจัดการอุทยานธรณีโลกสตูลของยูเนสโก ที่จะส่งคณะกรรมการลงมาประเมินผลทุกๆ 4 ปี
หากการพัฒนาไม่เป็นไปตามหลักการที่สากลให้การยอมรับ ก็อาจถูกใบเหลือง ใบแดง หรือถูกถอดจากความเป็นอุทยานธรณีโลกได้ น้ำเสียงของนายกรัฐมนตรีที่พูดผ่านรายการศาสตร์พระราชาฯ เมื่อเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา ฟังดูเหมือนรู้สึกมีความเป็นกังวลว่าชาวบ้านในพื้นที่จะดูแลรักษาทรัพยากรเหล่านี้ได้ตลอดรอดฝั่งหรือเปล่า
ทั้งที่คำตอบทั้งหมดขึ้นอยู่กับรัฐบาลเองว่าจะเอาอย่างไร หากรัฐบาลมีความจริงใจในการสนับสนุนอุทยานธรณีโลกสตูลของยูเนสโกจริง มติ ครม. 1 พ.ค.61 ที่ผ่านมาเหตุใดรัฐบาลจึงไม่ทบทวนหรือสั่งยุติโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา เพื่อเปิดทางให้มีการส่งเสริมอุทยานธรณีโลกสตูลของยูเนสโกซึ่งอยู่ในพื้นที่เดียวกันอย่างจริงจังและมีความชัดเจนในทางนโยบาย
หากรัฐบาลเลือกที่จะยุติโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราเท่ากับว่ารัฐบาลไม่ต้องระเบิดภูเขาในอุทยานธรณีโลกสตูลของยูเนสโก และหากรัฐบาลเลือกสนับสนุนอุทยานธรณีโลกสตูลของยูเนสโก รัฐบาลแทบจะไม่ต้องเหนื่อยอะไรเลย แผนการบริหารจัดการดูแลพื้นที่ให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่ยูเนสโกกำหนด เรื่องเหล่านี้ประชาชนช่วยคิดและช่วยวางแผนและลงมือปฏิบัติกันมาตั้งนานแล้ว
สิ่งที่รัฐบาลต้องรีบทำนอกเหนือจากยกเลิกโครงการที่ประชาชนไม่ต้องการแล้ว หากเห็นในคุณค่าของหลักฐานทางธรณีวิทยาที่ค้นพบในประเทศไทย รัฐบาลควรรีบเจรจากับรัฐบาลเกาหลีใต้ เพื่อนำซากไดโนเสาร์ที่นักธุรกิจเกาหลีหลอกซื้อไปจากชาวบ้านภาคอีสานในราคาถูกๆ หลักพันบาทแต่นำมาเสนอขายกลับให้กับรัฐบาลไทยในราคาสูงถึง 3,000 ล้านบาท โชคดีที่หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้ไม่ได้มีงบประมาณมากมายขนาดนั้น นี่ขนาดฟอสซิลโครงกระดูกสัตว์อายุไม่ถึง 100 ล้านปี ในตลาดโลกกลับมีมูลค่าสูงกว่างบประมาณบางโครงการของภาครัฐด้วยซ้ำ ถ้าหากเป็นซากฟอสซิลสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่่ผ่านกาลเวลามามากกว่า 500 ล้านปี ดังที่พบอยู่ดาษดื่นใน จ.สตูล จะมีมูลค่ามหาศาลขนาดไหนลองคิดดู
หากรัฐบาลยังตัดสินใจไม่ถูก เพราะอยากได้ทั้งท่าเรือน้ำลึกทั้งซากดึกดำบรรพ์ “ท่าเรือน้ำลึกระนอง” ที่ ผศ.ประสาท มีแต้ม เสนอ น่าจะเป็นอะไรที่ตอบโจทย์ที่สุด เพราะเป็นท่าเรือน้ำลึกที่กำลังจะกลายเป็นซากดึกดำบรรพ์หลังจากลงทุนสร้างไปได้ไม่นาน.
(อ่านต่อตอนที่ 5)