xs
xsm
sm
md
lg

โลกได้ก้าวหน้าขึ้นอีกขั้นหนึ่งแล้ว! / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 
คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
----------------------------------------------------------------------------------
 
ญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งของผมเคยยกเอาคำพูดของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีมาเล่าให้ฟังว่า “ประเทศไทยเรามีความอุดมสมบูรณ์มาก มีทรัพย์ในดิน สินในน้ำ จำนวนมาก หากไม่มีการคอร์รัปชันเสียอย่างเดียว เราสามารถเอาทองคำมาทำถนนยังได้เลย” 

ย้อนไปประมาณปี 2518 ประเทศไทยเคยส่งออกแร่ดีบุกมากเป็นอันดับสองของโลก ในแร่ดังกล่าวมีแร่แทนทาลัมซึ่งเป็นแร่หายากและมีราคาแพงมากปนอยู่โดยที่เราไม่รู้ (เขาว่าอย่างนั้น) และหากย้อนไปถึงสมัยพระนารายณ์มหาราช เราก็ส่งออกหนังสัตว์และของป่านานาชนิด (จากละครบุพเพสันนิวาส)

ปัจจุบันนี้ ทรัพย์ในดินและสินในน้ำของเราได้ร่อยหรอไปจำนวนมาก แต่เราก็มีทรัพย์ที่คนรุ่นก่อนอาจจะคิดไม่ถึง เช่น คลื่นความถี่ซึ่งอยู่ในอากาศที่ใช้ในการสื่อสารที่สามารถสร้างรายได้ให้รัฐนับแสนล้านบาทต่อปี นอกจากนี้เรายังมีสายลมและแสงแดดที่สามารถนำมาใช้เป็นแหล่งพลังงานได้จำนวนมหาศาล ในบทความนี้จะขยายความเรื่องพลังงานจากกังหันลมและแสงแดดครับ

เมื่อพูดถึงพลังงานจากสายลมและแสงแดดก็มักจะได้รับการปฏิเสธจากพวกขุนนางพลังงานด้วยเหตุผล 5 ข้อว่า (1) มีน้อย (2) แพง (3) ไม่เสถียร (4) เวลาที่แดดไม่มี ลมไม่มาจะเอาไฟฟ้าที่ไหนใช้ และ (5) เป็นโรงไฟฟ้าหลักและเป็นตัวตอบสนองในช่วงความต้องการสูงหรือ peak ไม่ได้

แต่ปัจจุบันนี้ เหตุผลทั้ง 5 ข้อนี้ได้กลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัยไปหมดแล้ว และขอย้ำว่าทุกข้อครับ

ล่าสุด พบว่า ในรัฐแคลิฟอร์เนีย (มีประชากร 40 ล้านคน แต่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลก) ได้มีการนำแบตเตอรี่มาใช้ในระบบไฟฟ้าแรงสูงของทั้งรัฐและรัฐข้างเคียงด้วย โดยมีการแสดงข้อมูลเป็น Real Time ทุกนาทีน่าสนใจมาก ลองเข้าไปดูได้ครับ ที่ http://www.caiso.com/TodaysOutlook/Pages/supply.aspx

คำว่า “caiso” มาจาก “California Independent System Operator” ซึ่งเขาอธิบายตนเองว่า “การบริหารสายส่ง (grid) และการตลาดซื้อขายไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมงตลอด7 วัน” 

เราทราบกันมานานแล้วว่า ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีพลังงาน จึงได้มีการเก็บไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์และกังหันลมเพื่อนำมาใช้ในช่วงเวลาที่จำเป็นในระดับครัวเรือนหรือสำนักงาน แต่ในกรณีรัฐแคลิฟอร์เนียนี้ได้นำแบตเตอรี่มาทำหน้าที่เสมือนกับโรงไฟฟ้า ข้ามรัฐข้ามประเทศกันเลยทีเดียว 

จากเอกสารซึ่งอธิบายด้วยการยกตัวอย่างว่า “นำไฟฟ้าที่ผลิตจากแสงแดดได้มากเกินในตอนกลางวันในรัฐแคลิฟอร์เนียไปใช้ในตอนบ่ายของรัฐยูทาห์ (ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของแคลิฟอร์เนีย) และในทำนองเดียวกัน ก็นำไฟฟ้าจากกังหันลม (ซึ่งพัดแรงในตอนกลางคืน) ของรัฐหนึ่งไปใช้ในอีกเวลาของอีกรัฐหนึ่ง”

ในความเห็นของผม นี่คือความก้าวหน้าของโลกที่ได้ยกระดับไปอีกขั้นหนึ่งแล้วครับ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการลดโลกร้อนและความเหลื่อมล้ำซึ่งกำลังคุกคามโลกอย่างรุนแรง


ผมได้นำข้อมูลบางส่วนมาแสดงในภาพด้วยครับในด้านล่างของภาพแสดงการใช้แบตเตอรี่ในช่วงเวลาต่างๆ ตลอด 24 ชั่วโมง (ในรัฐแคลิฟอร์เนีย) ถ้าพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ในระบบมีน้อยกว่าความต้องการ แบตเตอรี่ก็จะปล่อยพลังงานออกมาเสริมจนพอ แต่ถ้าพลังงานไฟฟ้าในระบบมีมากกว่าความต้องการใช้ ไฟฟ้าที่เหลือก็จะถูกชาร์จเก็บไว้ในแบตเตอรี่ 

ในภาพที่แสดง มีการนำไฟฟ้าจากแบตเตอรี่มาใช้ถึงประมาณ 50 เมกะวัตต์ (หมายเหตุ โครงการแลกเปลี่ยนไฟฟ้าระหว่างไทยกับมาเลเซียมีขนาด 300 เมกะวัตต์ แต่ตลอดเวลามีการแลกเปลี่ยนกันประมาณ 30 เมกะวัตต์เท่านั้น น้อยกว่าที่รัฐแคลิฟอร์เนียเสียอีก

 
ถ้าเป็นเช่นนี้ แบตเตอรี่ก็สามารถทำหน้าที่เป็นตัวตอบสนองในช่วงที่มีความต้องการไฟฟ้าสูง (หรือ peak) ได้อย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าที่ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ 

ดังนั้น ครึ่งหนึ่งของข้ออ้างที่ (5) และ (4) จึงเป็นสิ่งที่ล้าสมัย (สำหรับข้ออื่นๆ ผมได้อธิบายมาหลายครั้งแล้ว)

จากข้อมูลในวิกิพีเดียพบว่า ในสิ้นปี 2016 รัฐแคลิฟอร์เนียได้ติดตั้งกังหันลมแล้วจำนวน 5,662 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าได้ทั้งปีรวม 13,698 ล้านหน่วย (เฉลี่ยวันละ 37.5 ล้านหน่วย) และการติดตั้งโซลาร์เซลล์รวมจำนวน 18,920 เมกะวัตต์ผลิตไฟฟ้าทั้งปีได้ 19,783 ล้านหน่วย (ในเดือนเมษายนผลิตได้เฉลี่ยวันละ 47 ล้านหน่วย) เมื่อรวม 2 รายการก็จะได้พลังงานไฟฟ้าประมาณวันละ 85 ล้านหน่วย 

แต่นั่นเป็นตัวเลขเมื่อเกือบ 2 ปีที่แล้ว เรามาดูข้อมูลแบบ (เกือบจะ) Real Time กันบ้าง คือเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2018 กันดีกว่าครับดังรูป
 

 
เรามาดูกราฟบนในรูป (อย่าเพิ่งตกใจนะ ไม่มีอะไรยุ่งยากครับ) เส้นโค้ง AAA คือความต้องการไฟฟ้าในช่วง 24 ชั่วโมง แต่เนื่องจากมีการติดตั้งกังหันลมและโซลาร์เซลล์กันเป็นจำนวนมาก การผลิตไฟฟ้าทั้งระบบจึงได้ลดลงมาอยู่ที่ระดับเส้นโค้ง BBB 

จากการคำนวณโดยคร่าวๆ พบว่า พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากกังหันลมและโซลาร์เซลล์ (ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่ไม่ต้องซื้อ) รวมกันประมาณ 130 ล้านหน่วยในหนึ่งวัน ถ้าคิดเป็นมูลค่าเชื้อเพลิงที่ประหยัดได้หน่วยละ 2 บาท ในหนึ่งเดือนก็มีมูลค่าถึงเกือบ 8 พันล้านบาท

นี่คือทรัพย์ที่อยู่ในอากาศที่ขุนนางพลังงานของไทยมองไม่เห็นหรือแกล้งมองไม่เห็น แต่ผู้บริหารและประชาชนของรัฐแคลิฟอร์เนียมองเห็นและนำไปเป็นนโยบาย

รัฐแคลิฟอร์เนียได้มีนโยบายว่าจะใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้ 33% ภายในปี 2020 และจะเพิ่มเป็น 50% ภายในปี 2030 แต่เมื่อสิ้นปี 2016 เฉพาะที่ผลิตจากกังหันลมและโซลาร์เซลล์ได้รวมกัน 16.8% (ยังไม่รวมจากชีวมวลและพลังน้ำ) และจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ตามข้อตกลงปารีส) ลงมาเหลือระดับก่อนปี 1995 ภายในปี 2030

ผมเริ่มต้นด้วยเรื่องการคอร์รัปชันกรณีทรัพย์ในดิน สินในน้ำ แต่เมื่อเราทราบว่าประเทศเรามีทรัพย์จากแสงแดดและสายลมจำนวนมหาศาล ซึ่งเป็นทรัพย์ในอากาศที่ธรรมชาติได้จัดสรรมาให้ ไม่มีวันหมดแต่พวกขุนนางพลังงานกลับพยายามใช้แหล่งพลังงานที่บ้านเราไม่มี ผมคิดว่าน่าจะเป็นการคอร์รัปชันเชิงนโยบายนะครับ

ประเด็นเรื่องราคาแพง 

เนื่องในวันคุ้มครองโลก (Earth Day-22 เมษายน) ผมได้นำข้อมูลจากเว็บไซต์ Think Progress มาโพสต์อย่างสั้นๆ เพื่อฉลองวันคุ้มครองโลกในเฟซบุ๊กของผม เกี่ยวกับการใช้พลังงานหมุนเวียนจำนวนมากถึง 50% ในวันหยุดและอากาศไม่ร้อน ในรัฐแคลิฟอร์เนีย รวมทั้งข่าวดีอื่นๆ อีก 4 ข่าว

ต่อมา ว่าที่พันตรีอนุชาต ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการชุมชนสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อมโครงการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้นำไปแสดงความเห็นและกล่าวหาในเฟซบุ๊กของเขาว่า ผมให้ความจริงกับสังคมไม่ครบถ้วน (บางครั้งก็บอกว่าผมมั่ว) พร้อมกับแสดงหลักฐานว่า ค่าไฟฟ้าในรัฐแคลิฟอร์เนียสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศสหรัฐฯ ถึง 1.91 บาทต่อหน่วย

ความจริงผมได้นำเรียนต่อสาธารณะบ่อยครั้งว่า ราคาไฟฟ้าของแต่ละประเทศไม่ได้ขึ้นอยู่กับต้นทุนการผลิตเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละประเทศด้วย เช่น นโยบายเรื่องภาษี

ภาษีคือเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลในการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขระหว่างประชาชน หากไม่มีการคอร์รัปชันเสียอย่างเดียวภาษีจะเป็นเครื่องมืออันวิเศษในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้

รูปข้างล่างนี้แสดงอัตราค่าไฟฟ้า (และภาษี) สำหรับผู้อยู่อาศัยของประเทศต่างๆ ของยุโรป
 

 
กล่าวเฉพาะประเทศเยอรมนี (ซึ่งมักจะถูกโจมตีว่าค่าไฟฟ้าแพงเพราะใช้พลังงานหมุนเวียนเยอะ) แต่ความจริงในรูปนี้พบว่าค่าไฟฟ้าขายปลีกเมื่อต้นปี 2017 เท่ากับ 11.66 บาทต่อหน่วย ในจำนวนนี้เป็นภาษีถึง 6.5 บาทต่อหน่วย หรือ 66% ของราคาไฟฟ้า และในจำนวนค่าไฟฟ้าที่ไม่รวมภาษีนี้ประมาณเกือบครึ่งหนึ่งจะเป็นค่าสายส่ง 

ในเรื่องค่าไฟฟ้าในรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งแพงกว่าเฉลี่ยของประเทศ จากรายงานเรื่อง “State and Trends of Carbon Pricing2017”(โดย The World Bank, Ecofys and Vivid Economics.) ก็พบว่ามีการเก็บภาษีคล้ายๆ กับในยุโรป แต่เรียกว่า “Carbon Tax” มีการเก็บเพียง 2-3 รัฐเท่านั้น โดยรัฐแคลิฟอร์เนียเก็บในอัตรา 15 ดอลลาร์ต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1 ตัน (ฟินแลนด์เก็บ 73 ดอลลาร์)

แต่จะคิดเป็นมูลค่ากี่เซนต์ต่อหน่วยไฟฟ้านั้นค่อยว่ากันในโอกาสอื่นครับ เพราะมีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ

ถ้าสาเหตุของค่าไฟฟ้าขึ้นอยู่กับการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นหลักตามที่ ว่าที่พันตรีอนุชาต ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ตั้งข้อสังเกตจริง แล้วทำไมราคาไฟฟ้าในรัฐแมสซาชูเซตส์ซึ่งใช้พลังงานหมุนเวียนน้อยกว่ารัฐแคลิฟอร์เนียจึงแพงกว่าในรัฐแคลิฟอร์เนีย(https://www.eia.gov/electricity/monthly/epm_table_grapher.php?t=epmt_5_6_a) (หมายเหตุ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2018 ราคาไฟฟ้าในบ้านพักอาศัยของรัฐแมสซาซูเซตส์ และรัฐแคลิฟอร์เนียเท่ากับ 22.23 และ 19.15 เซนต์ตามลำดับ โดยทั้งสองรัฐมีการเก็บ Carbon Tax ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อลดผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชน) 

เพื่อเป็นการยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า พลังงานจากสายลมและแสงแดดไม่ได้มีราคาแพงตามที่ถูกกล่าวหา ผมได้นำผลงานวิจัยขององค์กรระหว่างรัฐบาลที่มีชื่อย่อว่า IRENA (ซึ่งรัฐบาลไทยเป็นสมาชิกด้วย) ว่าด้วยผลการประมูลค่าไฟฟ้าจากพลังงานดังกล่าว ดังภาพประกอบ
 

  
โปรดสังเกตว่า ราคาไฟฟ้าจากกังหันลมที่โมร็อกโก เท่ากับ 0.94 บาทต่อหน่วย ราคาโซลาร์เซลล์ในเยอรมนี (ซึ่งถูกอ้างว่าแพงๆๆ) มีราคาเพียง 2.55 บาทต่อหน่วยเท่านั้น และมีแนวโน้มจะลดลงอีกตามรูปเล็กซ้ายมือ

ในขณะที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานของไทยรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มในช่วงเวลาใกล้เคียงกันในราคา 4.12 บาทต่อหน่วย

ตกลงพลังงานหมุนเวียนในบ้านเราแพงเพราะอะไรครับ

มีเสียงแว่วจากผู้บริหารบางองค์กรมาถึงผมว่า “ไม่รู้อาจารย์ประสาทคิดอะไร อยากคุยด้วย” ผมเขียนบทความอย่างต่อเนื่องมาทุกสัปดาห์เกือบหนึ่งพันชิ้นแล้ว ท่านยังไม่รู้อีกหรือว่าผมคิดอะไร

สิ่งที่ผมคิดไม่มีอะไรมาก ผมเป็นลูกชาวนา มีวันนี้ได้เพราะเงินภาษีของประชาชน มหาวิทยาลัยของผมสอนผมว่า “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นกิจที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง” ผมศึกษาและค้นคว้าปัญหาและสาเหตุของโลกร้อนมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน โดยไม่ได้รับเงินเพิ่มเติมจากใครอื่น นอกเหนือจากภาษีของประชาชน สิ่งที่ผมปฏิบัติบังเอิญไปสอดคล้องกับคำพูดของศาสตราจารย์นอม ชอมสกี้ แห่งเอ็มไอที ว่า “หน้าที่ของปัญญาชนมี 2 อย่างคือ พูดความจริงกับชี้ให้เห็นการโกหก”

ผมกำลังทำหน้าที่ตามที่ได้รับการอบรมสั่งสอนมา ไม่มีอะไรอื่น ขอบคุณครับ

 


กำลังโหลดความคิดเห็น