ศูนย์ข่าวภาคใต้ - นายอำเภอบ้านนาเดิมกร่างชี้หน้าชาวบ้านถาม "แล้วพ่อเฒ่ามึงอยู่รึปล่าว" หลังชาวบ้านยืนยันอยู่อาศัยในบริเวณที่ดินที่ทางอำเภอนำเครื่องจักรกลหนักเข้าไปขุดเป็นแก้มลิงรับน้ำแห่งนี้มาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ด้านประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินกลุ่มชาติพันธุ์ ติงบริหารราชการแผ่นดินควรคำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก แนะยุติโครงการจนกว่าการตรวจสอบขั้นตอนต่างๆ จะมีความชัดเจน
วันนี้ (13 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่อำเภอบ้านนาเดิม จ.สุราษฎร์ธานี มีโครงการขุดแก้มลิง ในพื้นที่ ม.1 ต.ทรัพย์ทวี อซบ้านนาเดิม โดยนายจักรกฤษณ์ ฝั่งชลจิตร์ นายอำเภอบ้านนาเดิม คุมกำลังอาสาสมัครพร้อมอาวุธสวครามใช้เครื่องจักรไถทำลายสวนปาล์มของชาวชุมชนไทดำ โดยอ้างว่าจะใช้พื้นที่เพื่อทำโครงการแก้มลิงทุ่งปากขอ ล่าสุดมีการไถสวนปาล์มและพื้นที่ทำกินของประชาชนไปแล้วนับ 1,000 ไร่
นายนิวัตร์ โฮ้เต้กิ้ม ที่ปรึกษาชาวชุมชนไทดำ กล่าวถึงโครงการแก้มลิงทุ่งปากขอ ว่า จากข้อมูลของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร แสดงให้เห็นปริมาณน้ำสะสมในลุ่มน้ำตาปี ซึ่งมีปริมาณสูงที่สุดในเดือนตุลาคม อยู่ที่ประมาณ 10,500 ล้านลูกบาตรเมตร ทั้งนี้นายช่างชลประธานจังหวัดสุราษฎรธานีได้ให้ข้อมูลว่า ปริมาณน้ำไหลผ่านลุ่มน้ำตาปีตอนกลางในช่วงน้ำหลาก ประมาณ 1,000 -1,200 ล้านลูกบาตรเมตรต่อวัน
ดังนั้น โครงการก่อสร้างแก้มลิงทุ่งปากขอ ที่จะสามารถรองรับปริมาณน้ำได้สูงสุดเพียง 15 ล้านลูกบาตร จะสามารถแก้ปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มตาปีได้จริงหรือ เป็นโครงการที่ใช้งบประมาณสามร้อยกว่าล้านบาท ยังไม่รวมความเสียหายที่เกิดต่อระบบนิเวศ และที่สำคัญต้องทำลายแปลงเกษตรแหล่งทำมาหากินของพี่น้องเกษตรกรที่ไม่มีการเวนคืนชดเชยค่าเสียหาย
นอกจากคำถามต่อความคุ้มค่าของงบประมาณในการดำเนินโครงการแล้ว คำถามต่อมาคือกระบวนการในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่มีความถูกต้องชอบธรรมมากน้อยเพียงใด ทั้งการวิเคราะห์เชิงยุทธศาสตร์ การออกแบบ การศึกษาผลกระทบ การสร้างการมีส่วนร่วม และการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อีกทั้งไปคุกคามทำลายทรัพย์สินของชาวบ้าน ขัดกับหลักการที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญปี 2560
นอกจากคนในพื้นที่ที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากโครงการแล้ว คนไทยเจ้าของภาษี เจ้าของงบประมาณก็ต้องออกมาตั้งคำถาม ถึงความคุ้มค่าโปร่งใสของการใช้งบประมาณแผ่นดิน การกล่าวอ้างของข้าราชการในพื้นที่ ที่บอกว่าโครงการนี้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้สั่งการ ซึ่งจากการตรวจสอบแล้ว พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมตรี เพียงได้ให้นโยบายแนวทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำตาปีเท่านั้น โดยให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษา ออกแบบ หามาตรการที่เหมาะสม คุ้มค่า และส่งผลกระทบกับราษฎรให้น้อยที่สุด หาใช่ได้ฟันธงว่าต้องก่อสร้างแก้มลิงทุ่งปากขอไม่
"การกล่าวอ้างคำสั่งของนายกฯ แล้วนำเครื่องจักรกลนับสิบๆคันลงไปไถทำลายสวนเกษตรชาวบ้าน เอาเข้าจริงๆ ถ้าเรื่องนี้ถูกเปิดประเด็นขึ้นมา ข้าราชการในพื้นที่จะรับผิดชอบต่อคำพูดที่กล่าวอ้างถึงผู้นำประเทศอย่างไร ถ้าสาวลึกลงไปจริงๆ ถึงอีกหลากหลายประเด็นแง่มุมในการใช้งบประมาณภาษีของแผ่นดินงานนี้ยิ่งสาวยิ่งน่าสนใจ เพราะผิดขั้นตอนมีเงื่อนงำชวนน่าสงสัย" นายนิวัตร์ กล่าว
พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินกลุ่มชาติพันธุ์ กล่าวว่า ทุกอย่างสามารถทำให้จบลงที่อำเภอได้ ถ้านายอำเภอเป็นนายอำเภอแบบท่านพระยาดำรงฯ นายอำเภอแบบพระยาดำรงเป็นอย่างไร ในความทรงจำจากที่ได้อ่านผ่านมา ท่านพระยาดำรงราชานุภาพท่านบริหาราชการแผ่นดินด้วยความรักใคร่ผูกพันกับราษฎร ปฏิบัติหน้าที่ทั้งด้วยภูมิรู้ และภูมิธรรมควบคู่กันไปในเมื่อเห็นแล้วว่าโครงการนี้มีปัญหา นายอำเภอก็สรุปเรื่องราวทั้งหมด ทุกๆ ด้าน
"ที่ได้มารับฟังข้อมูลที่ชาวบ้านเขาร้องเรียนมา โดยเสนอยุติโครงการไปจากทางอำเภอเลย เสนอต่อไปยังท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งนายอำเภอทำได้เนื่องจากมีปัญหาทั้งข้อที่ไม่แน่ชัดเรื่องที่ดิน โครงการขาดการมีส่วนร่วม มีแนวโน้มที่จะก่อผลเสียหายต่อระบบนิเวศน์โดยรวมแบบนี้"
จันทรัตน์ รู้พันธ์ ชาวชุมชนไทดำ กล่าวว่า ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบให้ดีเพราะส่วนใหญ่แล้วพื้นที่ทุ่งสงวนเลี้ยงสัตว์จะไม่อยู่ริมคลอง พื้นที่สงวนเลี้ยงสัตว์ส่วนมากจะอยู่ในที่ดอนห่างไกลแม่น้ำ แต่หลายแห่งมักจะประสบปัญหาเมื่อพื้นที่สงวนเดิมถูกนำไปออกเอกสารสิทธิ์ก็มีการเลื่อนที่สงวนลงมาทับที่ของชาวบ้าน ซึ่งที่ผ่านมาทางสำนักงานโฉนดชุมชนได้ลงมาตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมข้อมูลหลักฐาน ก็เจอข้อเท็จจริง จึงมีมติให้ตรวจสอบ นสล. ปี ๒๕๒๙ กับทะเบียนหวงห้ามเดิม ปี ๒๔๗๕ ว่าออกถูกต้องตามตำแห่นงตามทะเบียนเดิมหรือไม่
ในการนี้ กระบวนการอยู่ในขั้นดำเนินการตรวจสอบและสอบสวนตามระเบียบกรมที่ดินว่าด้วยการเพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงซึ่งทางชุมชนมีหลักฐานประกอบกันหลายด้านว่าการออกเอกสารสำคัญที่หลวงแปลง ๓๐๙๙๗ (ทุ่งปากขอ) ออกไม่ตรงตำแหน่งเดิมที่เคยได้ประกาศสงวนหวงห้ามไว้เมื่อปี ๒๔๗๕ ซึ่งพื้นที่บริเวณดังกล่าวได้มีราษฎรอาศัย ทำมาหากินมาแล้วเป็นเวลานาน มีหลักฐานการออกเอกสารสำนักทะเบียนราษฎร์ บัตรประชาชน การออกหนังสือสำรวจที่ดินเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่
"แต่แค่วันที่กระบวนการได้เริ่มต้นตรวจสอบ ก็มีการนำกำลัง อส. คุมรถแบ๊คโฮลด์บุกเข้าไถทำลายต้นปาล์มของพี่น้องชาวไทดำ ทางชุมชนจึงขอให้ยุติโครงการแก้มลิงทุ่งปากขอไว้ก่อนจนกว่าจะมีการแก้ไขปัญหา การศึกษาผลกระทบ ความคุ้มค่าสร้างการมีส่วนร่วม ความเข้าใจกับคนสุราษฎร์และขอให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง"
น.ส.ภัสรา รู้พันธ์ ชาวบ้านชุมชนไทดำ กล่าวว่า กรณีโครงการแก้มลิงทับที่ชุมชนไทดำและนายอำเภอบ้านนาเดิมนำกำลัง อส คุมเครื่องจักรกลเข้าไถทำลายต้นปาล์มราษฎรโดยเริ่มไถตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมาล่าสุดเครื่องจักรยังไม่หยุดทำงาน พื้นที่ถูกไถเปลี่ยนแปลงสภาพไปแล้วนับ 1,000ไร่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าชุมชนไทดำ ได้เข้ามาตั้งชุมชนอยู่ที่บริเวณสองฝั่งแม่น้ำตาปี อำเภอพุนพิน และอำเภอบ้านนาเดิม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ เป็นต้นมานับเวลาล่วงมากว่า ๖๐ ปีแล้ว ที่ชุมชนได้ประกอบอาชีพ ปลูกผักพืชและทำการเกษตi
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าขณะที่เดินทางเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่านายจักรกฤษณ์ ฝั่งชลจิตร์ นายอำเภอบ้านนาเดิม ซึ่งคุมกำลัง อส.นำเครื่องจักรกลหนักเข้าขุดปรับพื้นที่ ได้เกิดการโต้เถียงกับชาวบ้านถึงขั้นพูดจามึง-กู ทำให้บรรยากาศในพื้นที่ยังคงมีแต่ความตึงเครียด