คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
สัปดาห์ที่ผ่านมามีคนตายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หลายรายด้วยกัน โดยเฉพาะ “รองสารวัตรสอบสวน สภ.สุไหงปาดี” จ.นราธิวาส ซึ่งคงจะชัดเจนว่าเป็นการปฏิบัติการของ “โจรใต้” ส่วนผู้ตายรายอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่เป็น “มุสลิม” ยังไม่ชัดว่าสาเหตุการถูกฆ่ามาจากเรื่องความมั่นคงหรือเรื่องส่วนตัว
แต่ไม่ว่าจะถูกฆ่าจากสาเหตุอะไร สิ่งที่บอกกับสังคมได้ดีที่สุดคือ “ที่นี่ยังมีคนตาย” และ “ที่นี่ยังมีความรุนแรง” โดยความรุนแรงส่วนหนึ่งมาจาก “ขบวนการแบ่งแยกดินแดน” ที่มีขบวนการชื่อว่า “บีอาร์เอ็นฯ” เป็นแกนนำ
ในขณะที่ในกระบวนการ “พูดคุยสันติสุข” นั้น ฝ่าย “ปาร์ตี้เอ” ที่มี พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะฝ่ายรัฐบาลไทยยืนยันว่า เดือน เม.ย.นี้จะมีการแถลงในเรื่องของ “อำเภอ” ที่ถูกประกาศให้เป็น “พื้นที่ปลอดภัย” หรือ” “เซฟตี้โซน” แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้ประกาศว่าเซฟตี้โซนคืออำเภอใดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
อย่างไรก็ตามมีข่าวแพลมๆ ออกมาว่าจะเป็น “อ.เจาะไอร้อง” ใน จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ “วันเสียงปืนแตก” จากการที่โจรใต้บุกเข้าปล้นค่ายปิเหล็ง และสามารถปล้นเอาปืนไปกว่า 400 กระบอกเมื่อวันที่ 3 ม.ค.ปี 2547
ทว่าแค่มีข่าวแพลๆ ออกมาเท่านั้นว่า อ.เจาะไอร้อง จะถูกเลือกเป็นพื้นที่เซฟตี้โซน ขบวนรถไฟสายใต้ก็ถูกโจมตีจากโจรใต้ในทันทีทันใด
แต่อ้าว!..ถ้าจะเถียงว่าเป็นเรื่องประจอบเหมาะ ที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องของกระบวนการพูดคุยสันติสุข หรือเรื่องของโซฟตี้โซนก็ไม่ว่ากัน
ในฐานะของคนที่ “คลุกวงใน” กับข่าวความมั่นคงมานานขอยืนยันว่า สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ “ยังไม่คลี่คลาย”
เพราะในขณะที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า วุ่นวายอยู่กับเรื่อง “พาคนกลับบ้าน” และสารวนอยู่กับเรื่องของการแปลงร่างเป็น “หมอผี” ที่อาสาปราบ “เด็กผี” ในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ซึ่งกลายเป็นแหล่งทุจริตที่แอบ “กินนิ่ม” มาเป็นเวลานานนั้น
เวลานี้บีอาร์เอ็นฯ ก็มีความก้าวหน้าทั้งในเรื่องของ “การทหาร” และ “การเมือง” ไปแล้วหลายขั้นตอน โดยแบ่งการปฏิบัติการในพื้นที่ของทั้ง 3 จังหวัดที่ไม่เหมือนกัน
สำหรับในพื้นที่ จ.ปัตตานี โจรใต้หรือจะเรียกว่า “แนวร่วม” หรือ “จูแว” ก็แล้วแต่ ได้ส่งสมาชิกปฏิบัติการ “หยั่งเชิง” เจ้าหน้าที่รัฐด้วยการยิงก่อกวนฐานปฏิบัติการ วางระเบิดปลอม ยิงคนที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามและ เจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อต้องการทราบว่าเจ้าหน้าที่มียุทธวิธีในการตอบโต้อย่างไร
ขณะที่ในพื้นที่ จ.ยะลา โจรใต้หรือแนวร่วมอยู่ระหว่างการ “สืบสภาพ” ที่ตั้งหน่วยของกองกำลัง และพื้นที่เป้าหมายที่เป็นเป้าหมายในการก่อวินาศกรรม ดังนั้นการปลอดเสียปืน เสียงระเบิด และปราศจากคนตาย จึงไม่ได้หมายความว่า โจรใต้ไม่มี แต่หมายถึงยังไม่ถึงเวลาที่จะปฏิบัติการเท่านั้น
แต่ที่น่าจับตามองคือ การเคลื่อนไหวใน จ.นราธิวาส ซึ่งโจรใต้ระดับ “หัวหน้า” จำนวนหนึ่งเคลื่อนย้ายจากประเทศมาเลเซียเข้ามาในพื้นที่ โดยมีภารกิจในการ “พบปะ” กับบรรดาแนวร่วมระดับปฏิบัติการ เพื่อยืนยันว่าบีอาร์เอ็นฯ ยังคงยุทธศาสตร์เดิมในการปฏิบัติการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเป้าหมายการแบ่งแยกดินแดน
ในเรื่องของ “การเมือง” ให้จับตามองการจัด “เข้าค่ายภาคฤดูร้อน” ของสถาบันการศึกษาต่างๆ ในพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า แต่ละค่ายมีวัตถุประสงค์อื่นๆ แอบแฝงอยู่หรือไม่ เนื่องจากมีข่าวว่ากิจกรรมของเด็กหรือเยาวชนในพื้นที่มีการแอบแฝงในเรื่องการจัดตั้ง “กองกำลังทหารเด็ก” อยู่ด้วยส่วนหนึ่ง
สิ่งที่หน่วยข่าวความมั่นคงต้องจับตามองคือ การจัดตั้ง “เยาวชนปฏิวัติ” ขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อการแบ่งเบาหน้าที่ของ “กองกำลังประชาชนปฏิวัติ” ของบีอาร์เอ็นฯ ที่มีภารกิจมากเกินไป และถูกจับตามองจากเจ้าหน้าที่ ทำให้ปฏิบัติการเป็นไปด้วยความลำบากขึ้น รวมทั้งหลายปีที่ผ่านมากำลังประชาชนปฏิวัติในพื้นที่ อ่อนล้า และเริ่มมีการเบื่อหน่ายกับภารกิจที่ไม่รู้ว่าจะจบสิ้นเมื่อไหร่
แต่หน้าที่สำคัญของกองกำลังประชาชนปฏิวัติยังเน้นหนักในการอำนวยความสะดวกให้ที่หลบซ่อนและที่พักพิง รวมถึงเสริมฐานการเงินแก่กำลังที่ปฏิบัติการเป็นด้านหลัก ส่วนงานด้านอื่นๆ จะมีกองกำลังเยาวชนปฏิวัติเข้ามาแบ่งเบาไป
ทั้งนี้ทั้งนั้นการจัดขบวนใหม่ของบีอาร์เอ็นฯ อาจจะไม่ “กระดิกหู” ผู้ที่เชื่อว่าทุกวันนี้ไม่มีแล้วบีอาร์เอ็นฯ โดยการสูญเสียที่เกิดขึ้นเกิดจากเรื่องของภัยแทรกซ้อน หรือไม่ก็ฝีมีของคนในตระกูลใหญ่ 4-5 ตระกูลที่สั่งการอยู่เบื้องหลังเพราะเสียผลประโยชน์
ซึ่งถ้ามีการเชื่ออย่างนี้จริงก็จะทำให้ “หน่วยงานการข่าว” ไม่จำเป็นต้องออกปฏิบัติการสืบสภาพ และหาข่าวความเคลื่อนไหวของบีอาร์เอ็นฯ หรือถ้าหน่วยงานข่าวทั้งหมดเชื่อว่าศัตรูของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หาใช่ บีอาร์เอ็นฯ ก็ไม่ต้องหาข่าวเกี่ยวกับบีอาร์เอ็นฯ สุดท้าย “งานการเมือง” ของบีอาร์เอ็นฯ ก็จะบรรลุเป้าหมาย
ตรงนี้ต่างหากที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับก่อนปี 2547 เจ้าหน้าที่คนไหนพูดถึงขบวนการแบ่งแยกดินแดน เขาคนนั้นก็จะถูกตำหนิจาก “เจ้านาย” แถม “หน่วยเหนือ” ก็จะไม่ปลื้มเอา หรือถึงขั้นบอกว่าเป็นพวก “วิตกจริต” และกลายเป็นคนที่ “ไม่มีอนาคต” ในทางราชการ เนื่องจากเชื่อในสิ่งที่บรรดาท่านๆ ไม่เชื่อ
วันนี้เรากำลังย้อนเส้นทางไปยัง “จุดเก่าๆ” ก่อนที่จะเกิดเหตุไฟใต้ละลอกใหม่ในปี 2547 เมื่อหน่วยเหนือเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในแผ่นดินปลายด้ามขวานไม่ใช่ฝีมือของบีอาร์เอ็นฯ งานการข่าว เจ้าหน้าที่การข่าว ผู้เกาะติดบีอาร์เอ็นฯ ก็ถูกย้ายทิ้ง ส่งผลให้เรื่องราวของงานการข่าวที่เกี่ยวของกับบีอาร์เอ็นฯ ขาดการปะติดปะต่อ
และแล้วเมื่อถึงวันที่บีอาร์เอ็นฯ ปฏิบัติการครั้งใหญ่ ฝ่ายเราก็จะงงเป็น “ไก่ตาแตก” เช่นเดียวกับที่เราเคยเป็นมาแล้วหลังเหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง
โดยเฉพาะข่าวเรื่องการฝึกมือแม่นปืนที่เรียกว่า “สไนเปอร์” ชุดแรกของบีอาร์เอ็นฯ จำนวน 36 คน เพื่อใช้ในการทำ “สงครามจรยุทธ” ในอนาคต เพราะบีอาร์เอ็นฯ มีการปรับเปลี่ยนยุทธวิธีในพื้นที่ตลอดเวลา ดูอย่างการผลิตระเบิดแสวงเครื่องที่มีการพัฒนาตลอดเวลา จนกลายเป็นปัญหาในการตรวจจับของเจ้าหน้าที่รัฐ
อย่ารอให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงหรือข้าราชการผู้ใหญ่ นักการเมืองหรืออดีตนักการเมืองที่เริ่มเคลื่อนไหวเรื่องเลือกตั้งต้อง “ถูกเด็ดชีพ” จากมือสไนเปอร์ของบีอาร์เอ็นฯ เสียก่อน จากนั้นเราจึงค่อยๆ ทำความเข้าใจ ค่อยๆ เชื่อ หรือค่อยๆ ตาสว่าง เพราะเมื่อถึงวันนั้นก็อาจจะ “สายไป” แล้วก็เป็นได้