ปัตตานี - ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลเปิดกิจกรรมโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างความเข้าใจแก่เครือข่ายชุมชนสองวิถี เพื่อแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ พร้อมเผยสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ออกกฎหมายตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน 300 ฉบับ ภายในเวลา 3 ปี
วันนี้ (1 เม.ย.) ที่ห้องประชุมพญาตานี โรงแรมเซาท์เทิร์นวิว จ.ปัตตานี นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธานเปิดกิจกรรมโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างความเข้าใจแก่เครือข่ายชุมชนสองวิถี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้ และสร้างความเข้าใจในแนวนโยบายแห่งรัฐต่อการแก้ไขปัญหา และพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างปฏิสัมพันธ์ต่อกันระหว่างชุมชนสองวิถีพุทธและมุสลิม พร้อมกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนชุมชนสันติสุขพหุวัฒนธรรมในระดับพื้นที่ โดยมีประชาชนจากชุมชน 2 วิถี ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เข้าร่วมกว่า 500 คน
นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล และสมาชิก สนช. กล่าวถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม ว่า เป็นการแสดงถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ วันนี้ระดับความเข้าอกเข้าใจมีสิ่งที่แทรกเข้ามา ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจกัน แต่เชื่อว่าความรักฉันพี่น้องที่อยู่ร่วมกันมาเป็นระยะเวลา 20 ปี ของชุมชนสองวิถีจะมั่นคง ซึ่งปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ หากตั้งคำถามว่ามีกำหนดยุติหรือไม่ ตอบว่ายังไม่ยุติ และรัฐบาลกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหา
วันนี้เราเหมือนคนเจ็บป่วยที่แพทย์ต้องวินิจฉัยโรค จำเป็นต้องรู้อาการที่มา จึงจะนำสู่การรักษาตามแนวทางยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และข่าวดีคือ เราสามารถตอบได้แล้วว่า ปัญหาแก่นแท้ คือ การแยกดินแดน ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย และสามารถทราบได้จากการสำรวจความเห็นปี 2558 ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งใช้วิธีสำรวจเปิดใจคุยกันกับประชาชน ซึ่งพี่น้องในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยในการใช้ความรุนแรง พร้อมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธีตามแนวนโยบายของรัฐบาล
ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล กล่าวอีกว่า ระยะเวลาจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จนถึงรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาตินั้น ตนซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิก สนช.มีหน้าที่เป็นสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ขณะนี้สามารถออกกฎหมายกว่า 300 ฉบับ ภายในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา สามารถเทียบกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ 3 รัฐบาล ยืนยันว่า แต่ละฉบับเป็นกฎหมายที่ตอบโจทย์ปัญหา และความต้องการของประชาชนได้เป็นอย่างดี เช่น กฎหมายทวงหนี้ กฎหมายกองทุนเสมอภาคทางการศึกษา เป็นต้น
สำหรับโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างความเข้าใจแก่เครือข่ายชุมชนสองวิถี มีจุดหมายมุ่งให้สังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความปลอดภัย ปราศจากเงื่อนไขความรุนแรง มีการพัฒนาบนพื้นฐานสังคมพหุวัฒนธรรม และทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในกระบวนการเสริมสร้างสันติสุขอย่างยั่งยืนต่อไป