xs
xsm
sm
md
lg

คุ้มไหม! ถ้าจะต้องปล่อย “7 อาชญากรมือพระกาฬ” กลับสู่อ้อมอก BRN / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.อักษรา เกิดผล พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช, มะสุกรี ฮารี
 
คอลัมน์  :  จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์  มณีพิลึก 
   
 
 
ประเด็น “วิวาทะ” ระหว่าง 3 ฝ่าย หนึ่งคือ ฝ่ายกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐไทย มะสุกรี ฮารี หัวหน้ากลุ่มมาราปาตานี สองคือ พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายรัฐไทย และสามคือ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐไทย พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
 
โดยเฉพาะ 2 ประเด็นสำคัญ หนึ่งคือ กรณีการกำหนดพื้นที่ “เซฟตี้โซน” และสองคือ เรื่องของ “โครงการพาคนกลับบ้าน” โดยทั้ง 2 ประเด็นอาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับคนทั้ง 77 จังหวัดบนแผ่นดินไทย
 
แต่สำหรับผู้คนในแผ่นดินจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งที่เป็นภาคประชาชนและในสังกัดหน่วยงานรัฐแล้ว นั่นจัดว่าเป็นเรื่องใหญ่และมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด 
 
เนื่องเพราะบุคคลทั้ง 3 ฝ่ายต่างมีความสำคัญในการที่จะสร้าง “สันติสุข” ให้เกิดขึ้นได้จริงบนแผ่นดินปลายด้ามขวาน
 
แต่ถ้าคนทั้ง 3 ฝ่ายเกิด “ขัดแย้ง” และยัง “เห็นต่าง” กันอยู่ นั่นหมายความว่ากระบวนการสร้างสันติสุขที่เกิดจากการ “พุดคุย” อาจจะต้องหยุดชะงัก และอาจจะนำไปสู่การโหม “ไฟใต้” ให้ลุกโชนและสถานการณ์ยิ่งจะรุนแรงกว่าเดิม
 
ล่าสุด พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. ซึ่งเป็นคนที่มีบุคลิก “พูดน้อย” แต่ “ต่อยหนัก” ตามสไตล์ของ “หมวกแดง” ต้องออกมามาสยบปัญหาความร้าวฉานที่เกิดขึ้น ด้วยการขอให้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะแม่ทัพภาคที่ 4 พูดให้น้อยลงและพูดในประเด็นที่เป็นงานของตนเองเท่านั้น
 
นั่นย่อมแสดงว่าเรื่องของการวิวาทะของคน 3 ฝ่ายไม่ใช่เรื่อง “ลมพัดชายเขา” อย่างแน่นอน เนื่องจากผู้ที่เป็นถึงหมายเลข 1 ของกองทัพต้องออกมา “ปราม” ด้วยตนเอง
 
ก็หวังว่าหลังจากนี้ไป “สงครามคารม” ระหว่าง “คนกันเอง” ที่มียศเป็นถึง “พลเอก” และ “พลโท” ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็มี “หลังพิง” ที่มั่นคง เรื่องราวความไม่ลงรอยคงจะจบได้ด้วยดี
 
นั่นหมายความว่า ต่างฝ่ายต่างก็ไปทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด โดยทั้ง 2 ฝ่ายนั้นยังมีงานหนักรออยู่เบื้องหน้า เพราะยังต้องตอบคำถามของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มคนส่วนน้อยหรือ “ไทยพุทธ” ที่แสดงออกถึงการไม่เห็นด้วย และยังคง “ข้องใจ” กับกระบวนการพูดคุยสันติสุขและโครงการพาคนกลับบ้าน
 
โดยเฉพาะในส่วนของกระบวนการพูดคุยสันติสุขนั้น ถ้อยแถลงของฝ่ายเราที่เรียกว่า “ปาร์ตี้เอ” กับฝ่ายมาลาปาตานีที่เรียกว่า “ปาร์ตี้บี” นั้น ทำไมจึงมีสำเนียงที่ “แปลกแปร่ง” ฟังแล้วขัดหู
 
เพราะฝ่ายปาร์ตี้เอบอกกับคนทั้งโลกว่า ได้บรรลุข้อตกลงระหว่างกันแล้ว เพื่อเตรียมประกาศพื้นที่ปลอดภัยหรือเซฟตี้โซนในช่วงเดือน เม.ย.นี้
 
ในขณะที่ปาร์ตี้บีโดย อุสตาส มะสุกรี ฮารี แถลงว่าขั้นตอนการพูดคุยยังอยู่ในคณะของ “ฝ่ายเทคนิค” ยังไม่ได้กำหนดพื้นที่ปลอดภัยหรือเซฟตี้โซนแต่อย่างใด
 
นั่นย่อมส่อแสดงให้เห็นว่า ฝ่ายมาราปาตานีหรือปาร์ตี้บียังไม่แน่ใจว่า หากมีการประกาศพื้นที่ปลอดภัยหรือเซฟตี้โซนแล้ว ฝ่ายตนจะ “เอาอยู่” หรือไม่
 
รวมทั้งการที่ฝ่ายมาราปาตานีออกมา “ฟาดวงฟาดงา” ใส่ พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เรื่องโครงการพาคนกลับบ้าน นั่นก็มีนัยสำคัญแอบแฝงอยู่ ซึ่งอาจะใช้เป็น “ข้ออ้าง” ของการ “เลื่อน” การทำข้อตกลงในการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยหรือเซฟตี้โซนนั่นเอง
 
สำหรับคนในพื้นที่ โดยเฉพาะคนไทยพุทธ ซึ่งไม่เห็นด้วยทั้งเรื่อง “พูดคุยกับโจร” และไม่เห็นด้วยในเรื่อง “พาโจรกลับบ้าน” วันนี้จะต้องรับรู้เพิ่มเติมในกรณีการขับเคลื่อนเซฟตี้โซนว่า เราจะต้อง “จ่ายค่าตอบแทน” ที่ “สุ่มเสี่ยง” และอาจจะ “ไม่คุ้มค่า” ใช่หรือไม่

ประเด็นที่ 1 เมื่อมีการจัดตั้ง “เซฟเฮาส์” หรือ “สำนักงาน” ในบริเวณที่ตั้งของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานีแล้ว
 
สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ อาจจะมีการขอให้ “ปล่อยตัวอาชญากร” ที่เป็นสมาชิกขบวนการบีอาร์เอ็นฯ 7 คนออกจากเรือนจำในลักษณะของการ “พักโทษ” เพื่อให้มาเป็น “ผู้ปฏิบัติงาน” ในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยหรือเซฟตี้โซนใช่หรือไม่
 
ทั้งนี้สมาชิกขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ทั้ง 7 คนถือเป็น “นักโทษเด็ดขาด” ที่ศาลฎีกาได้พิพากษาความผิดไปแล้ว และแต่ละคนก็มีโทษหนักเอาการด้วย เพราะก่อคดีอุกฉกรรจ์คนละหลายต่อหลายคดี ทั้งการฆ่าพระ ฆ่าเจ้าหน้าที่ ฆ่าประชาชน วางระเบิดและก่อการร้ายในรูปแบบต่างๆ ยกตัวอย่าง 2 ใน 7 คนกลุ่มนี้คือ
 
หนึ่งนั้น มะนาเซ ยา ซึ่งเป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการที่ถูกจับใน “โรงเรียนบูรพาวิทยา” พร้อมวัตถุระเบิดจำนวนมาก และมีหมายจับติดตัวหลายหมาย รวมหลายความผิดด้วยกัน ปัจจุบันถูกควบคุมตัวที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส
 
และอีกหนึ่งนั้น มะดอรี สือแม ซึ่งเคยใช้อุบายหนีการควบคุมตัวในขั้นตอนของโรงพักในชายแดนใต้ แล้วข้ามพรมแดนเข้าไปอยู่ในรัฐกลันตันของประเทศมาเลเซีย แต่ภายหลังถูกเจ้าหน้าที่มาเลเซียจับกุมตัวพร้อมกับอาวุธปืนและวัตถุระเบิดที่เตรียมเพื่อก่อการร้ายใน จ.นราธิวาส ซึ่งถูกมาเลเซียควบคุมตัวอยู่ แต่เจ้าหน้าที่ไทยก็ไม่ได้ขอตัวกลับมาดำเนินคดี
 
ประเด็นที่เป็นคำถามประการหนึ่งคือ การที่กระบวนการพูดคุยสันติสุขต้องมีการสร้างพื้นที่ปลอดภัยหรือเซฟตี้โซน นั่นถือว่ามีความ “คุ้มค่า” หรือไม่กับการลงทุนทีต้องจ่ายค่าตอบแทนด้วยการปล่อยตัว “7 อาชญากร” คนสำคัญ
 
และประเด็นคำถามอีกประการหนึ่งคือ อีกทั้งยังต้องตามมาด้วยการอนุญาตให้ “ผู้ต้องหาหลบหนีคดี” อีกจำนวนหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มมาราปาตานีสามารถ “เดินทางเข้า-ออก” ระหว่างประเทศไทยและมาเลเซียได้โดยไม่ต้องถูกจับกุม
 
เรื่องราวเหล่านี้มีการถามถึงความรู้สึกของคนไทยพุทธในพื้นที่ ซึ่งหลายครอบครัวเคยตกเป็นเหยื่อและพบกับความสูญเสียจากการกระทำของเหล่าอาชญากรเหล่านี้มาแล้ว นี่ยังไม่นับความสูญเสียโดยรวมของประเทศชาติและประชาชนที่เกิดจากน้ำมือของขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ผู้อยู่เบื้องหลัง
 
ในการพูดคุยสันติสุขนั้น เราไม่มีแนวทางอื่นที่ดีกว่านี้แล้วหรือ โดยเฉพาะในการที่จะขับเคลื่อนเวทีแห่งการพูดคุย ด้วยการสร้างพื้นที่ปลอดภัยหรือเซฟตี้โซนโดยไม่ต้องมีการปล่อยตัวอาชญากรออกมา เพื่อปฏิบัติการสร้างพื้นที่ปลอดภัยหรือเซฟตี้โซนให้เกิดขึ้นเพียงแค่ “อำเภอเดียว” เท่านั้น จากพื้นที่ทั้งหมดคือ 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ จะนะ เทพา นาทวีและสะบ้าย้อย
 
เพราะการที่ต้องกระทำถึงขั้นนี้ นอกจากจะ “ไม่คุ้มค่า” แล้วยังเป็นการ “สุ่มเสี่ยง” ชนิดที่ฝ่ายเราต้องแบบรับความ “เสียเปรียบ” ไว้เต็มบ่า และที่น่าเสียใจคือเป็นการแนวทางของการ “ทำร้ายจิตใจ” ของคนไทยพุทธและครอบครัวของผู้ที่ต้องสูญเสียจากการกระทำของอาชญากรเหล่านี้
 
ทั้งหมดทั้งปวงนั่นคงเป็นยากที่จะให้คนไทยพุทธในพื้นที่ “เห็นด้วย” กับ “นโยบาย” เช่นนี้ของรัฐบาลที่แสดงผ่านคณะพูดคุยสันติสุข
 
ที่นี่เห็นเราด้วย และเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ก็เห็นด้วยกับการใช้นโยบาย “แปรศาสตราเป็นแพรพรรณ” เปลี่ยนจากการใช้ “อาวุธ” เป็นการ “พูดคุย” เพื่อสร้างสันติสุข
 
แต่วิธีการพูดคุยที่จะนำมาซึ่งสันติสุขยังมีอีกหลายช่องทาง ไม่ใช่ต้องเดินในช่องทางนี้เพียงช่องทางเดียว ซึ่งคณะพูดคุยรวมทั้งผู้กำหนดนโยบายอย่างรัฐบาลและ คสช.ต้องมองให้ครับทุกมิติ โดยเฉพาะมิติที่ “กระทบความรู้สึก” ของคนไทยพุทธในพื้นที่
 
หรือพวกท่านที่อยู่บน “หอคอยงาช้าง” ยังเห็นว่า “ความขัดแย้ง” และ “ความย้อนแย้ง” ที่เกิดขึ้นในแผ่นดินปลายด้ามขวานแห่งนี้ยังน้อยเกินไป มองเห็นว่าไฟใต้ที่เป็น “ไฟสุมขอน” ต้องรอให้แตกระเบิดเสียก่อนจึงจะ “เข้าใจ” อย่าง “เข้าถึง” ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็ไม่ว่ากัน
 
สุดท้ายสิ่งที่ “ต้องการสื่อ” ให้ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและประชาชนได้รับรู้ก็คือ นโยบายแห่งความย้อนแย้งและมากมายความขัดแย้งของแต่ละฝ่ายที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คือสิ่งที่ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ต้องการ
 
เพราะในขณะที่เราใช้นโยบายย้อนแย้งว่า “ไม่มีบีอาร์เอ็นฯ” แต่เรากลับมีการพูดคุยกับบีอาร์เอ็นฯ และเราก็ “วิวาทะ” กันอย่างถึงพริกถึงขิง อันทำให้บีอาร์เอ็นฯ ฉวยโอกาสนี้ปฏิบัติการสร้าง “งานการเมือง” ให้ไปได้อีกยาวไกลมาก
 
เช่นเดียวกับงานด้านยุทธวิธีของขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ที่มีการฝึกฝน “มือสไนเปอร์” รุ่นแรกสำเร็จแล้ว โดยมีอำเภอละ 1 คน รวม 36 คน เพื่อเตรียมไว้ก่อเหตุ โดยฉกฉวยโอกาสของ “ความแตกแยก” ทั้งทาง “ด้านการเมือง” ในพื้นที่และ “ความเห็นต่าง” ในนโยบายการดับไฟใต้
 
นอกจากนี้แล้วยังมีการเลือกเฟ้นเยาวชนจำนวนหนึ่งเข้าไปเป็น “ทหารเกณฑ์” เพื่อรับการฝึกฝน “ยุทธวิธีทางทหาร” และ “สืบสภาพ” สถานที่ตั้ง นั่นก็ยังเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง
 
ไม่ได้ต้องการที่จะบอกให้เชื่อ แต่เพียงแค่อยากบอกให้รู้ เพื่อให้ทุกฝ่ายช่วยกันตรวจสอบ “หาข่าว” เพื่อให้ช่วยกันยืนยันและหาทาง “จับกุม” และ “ป้องกัน” เพราะข่าวสารที่ถูกมองว่าเป็น “ข่าวตลก” มักจะกลายเป็น “ของจริง” ในภายหลังได้ ซึ่งกว่าเราจะยอมรับได้ก็อาจจะสายเกินแก้
 


กำลังโหลดความคิดเห็น