xs
xsm
sm
md
lg

คุณค่าที่ควรคำนึงของการเฉลิมฉลองครบรอบปีต่างๆ ของสถาบันทางสังคม / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์  :  คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
 
ศ.พันตรีอาคม พัฒิยะ อดีตที่ปรึกษาสถาบันทักษิณคดีศึกษา อาจารย์ที่ข้าพเจ้าเคารพรักและนับถือมากที่สุดท่านหนึ่ง เคยย้ำเตือนกับข้าพเจ้า และเขียนเป็นบทร้อยกรองเพื่อเผยแพร่ในงานศพของท่านเองว่า ให้พยายามทำความดีไว้บ้าง เพื่อพระจะได้ไม่จนปัญญาบนธรรมาสน์ในการเทศน์ปรารภงานศพของผู้ตาย เพราะหาคุณความดีของผู้ตายมาสาธยายเป็นตัวอย่างไม่ได้เลย จนต้องผิดศีลมุสาวาทว่า ผู้ตายทำความดีอย่างนั้นอย่างนี้
 
“ยังห่วงเรื่องงานศพ
เคยประสพมาแต่ก่อน
พระเทศน์เคยเดือดร้อน
เสาะความดีมายกยอ
บางรายง่ายกับพระ
เพราะเคยสะสมมากพอ
บางรายร้ายจริงหนอ
พระลำบากยากเกือบตาย
ท่านอยากยกความดี
พอเป็นที่อภิปราย
มีแต่เรื่องเลวร้าย
หาความดีไม่มีเลย
จงขอฝากญาติมิตร
เพื่อนสนิทอย่าเพิกเฉย
ปล่อยตัวกันตามเคย
ขอให้ตั้งระวังตน
ทำความดีไว้บ้าง
เมื่อพระอ้างเป็นมรรคผล
อย่าให้ท่านอับจน
กลางธรรมาสน์อนาถครัน.
(จรูญ หยูทอง. เรื่องเล่าจากบ้านอ่าวทราย. 2555 : 91)
 
ในวาระที่สถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ในประเทศไทย ต่างจัดงานรำลึกเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีบ้าง 101 ปีบ้างในปีนี้ ทำให้ข้าพเจ้าหวนนึกถึงคำกล่าวอันแหลมคมและลุ่มลึกของอาจารย์ขึ้นมาโดยปริยายว่า
 
สถาบันอุดมศึกษาเหล่านี้ ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค-ท้องถิ่น ก็ไม่ค่อยแตกต่างจากปัจเจกบุคคล ในเรื่องที่จะถูกรำลึกนึกถึงในด้านคุณงามความดีในอดีตและปัจจุบัน หากสถาบันนั้นไม่เคยสร้าง หรือคิดจะสร้างคุณงามความดีใดๆ อันควรค่าแก่การรับรู้ของสังคม เมื่อยืนยาวมาถึงวันนี้ บางสถาบันก็คงจะประสบชะตากรรมตกอยู่ในภาวะที่ว่า คณะกรรมการจัดงานครบรอบจนปัญญาที่จะสาธยายถึงคุณงามความดีของสถาบันต่อสาธารณชน เลยต้องผิดศีล มุสาวาท เช่นเดียวกับพระบนธรรมาสน์ในงานศพ

คุณงามความดี ความมีคุณค่าของสถาบันการศึกษาดูได้จากตรงไหน ถ้าไม่ดูจากบทบาท พันธกิจทางสังคมของสถาบันนั้นๆ และคุณภาพ จิตสำนึกสาธารณะของบัณฑิตอันเป็นผลิตผลของสถาบันที่ถูกปลูกฝัง สร้างสมมายาวนานว่า สถาบันนั้นเกิดขึ้น-ดำรงอยู่อย่างมีคุณค่า มีความหมายต่อสังคมรอบข้างและสังคมโลกมากน้อยเพียงใด แค่ไหน แม้จะมีหรือไม่มีวาทกรรมว่า “มหาวิทยาลัยรับใช้สังคม” “มหาวิทยาลัยชี้นำสังคม” “มหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น” ฯลฯ ก็ตามที
 
ก็ต้องถามประชาสังคมว่า พวกเขาเห็นด้วยกับมอตโตโก้หรู หรือโอ้อวดเหล่านี้หรือไม่ มากน้อยแค่ไหน อย่างไร ทำไม และเพราะอะไร อันนี้ประชาคมของมหาวิทยาลัยเหล่านั้นย่อมรู้แก่ใจดี โดยเฉพาะผู้บริหารและสภามหาวิทยาลัยที่นำพามหาวิทยาลัยทั้งในอดีตและปัจจุบัน โดยมีประชาสังคมเป็นดัชนีชี้วัดสถานภาพทางสังคม
 
หลายสถาบันมีมอตโตเป็นจุดขาย บ่งบอกถึงบุคลิกของสถาบันที่มีต่อสังคม และผู้สนใจจะเข้าไปศึกษาเล่าเรียนเป็นบัณฑิตของสถาบันนั้นๆ เช่น “เปลวเทียนให้แสง รามคำแหงให้ทาง” “ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน” “ธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว” “ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่งฯ” เป็นต้น
 
ความมีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยไม่ได้อยู่ที่ปรัชญา วาทกรรม มอตโต แผ่นพับ สื่อประชาสัมพันธ์ วิดีโอพรีเซ็นเตชัน ฯลฯ แต่อยู่ที่คุณภาพของบุคลากร จิตสำนึกสาธารณะของบัณฑิต และบทบาทของสถาบันต่อสังคม โดยเฉพาะในยามที่สังคมประเทศชาติประสบวิกฤตในด้านต่างๆ ทั้งโดยธรรมชาติและวิกฤตทางสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม

อ.ธีรวุฒิ ประทุมนพรัตน์ อาจารย์ที่ปรึกษาชั้น กศ.บ.1/3 สมัยข้าพเจ้าเรียน มศว.สงขลา เมื่อกว่า 3 ทศวรรษที่แล้ว เคยให้ความเห็นกับข้าพเจ้าในวันที่ข้าพเจ้าหวนกลับมาเป็นบุคลากรของ มศว.สงขลา และ ม.ทักษิณว่า
 
“ถ้าจรูญจะประเมินคุณภาพของมหาวิทยาลัยใด มหาวิทยาลัยหนึ่ง ไม่ต้องดูอะไรมาก ให้ดูที่ 2 อย่างนี้พอ คือ 1) ดูว่าบุคลากรของมหาวิทยาลัยนั้นแย่งกันให้ลูกหลานของตนเองเรียนต่อที่นั่นหรือไม่ และ 2) เวลาบุคลากรของที่นั่นไปร่วมสัมมนาทางวิชาการ คนเหล่านั้นไปพูดให้คนอื่นฟัง หรือว่าไปฟังคนอื่นพูด”
 
อย่างน้อยๆ ข้าพเจ้าก็ภูมิใจได้ครึ่งหนึ่ง เพราะข้าพเจ้าไม่ได้ทำตามข้อ 1 เนื่องจากลูกชายของข้าพเจ้าเขาสนใจเข้าเรียน ม.อ. มากกว่าสถาบันที่พ่อกับแม่ของเขาจบมา แต่ข้าพเจ้าภาคภูมิใจตามข้อ 2 เพราะส่วนใหญ่เวลาไปร่วมสัมมนา ข้าพเจ้ามักไปพูดให้เขาฟัง มากกว่าไปฟังเขาพูด (ยกเว้นงานสัมมนาในมหาวิทยาลัยต้นสังกัดของข้าพเจ้าเอง ข้าพเจ้าไม่ค่อยได้รับเกียรตินี้มากนัก)
 
ในวาระครบรอบ 50 ปีของ ม.อ. ข้าพเจ้าแม้ไม่ได้เป็นศิษย์เก่า แต่ภูมิใจที่ได้แต่งเนื้อหาเพลงให้ เก่ง-ธชย ประทุมวรรณ ขับร้องประกอบจินตลีลาบนเวทีรายการแรกวันเปิดงาน
 
ส่วน 50 ปีของ ม.ทักษิณ ข้าพเจ้าเพิ่งได้รับเกียรติเชิญเข้าร่วมประชุมปรึกษาหารือจากสมาคมศิษย์เก่าในวันที่ 29 มีนาคม 2561 ท่ามกลางความครุ่นคำนึงว่า ข้าพเจ้าจะนำเสนออะไรต่อที่ประชุมได้บ้าง ในฐานะศิษย์เก่าที่มีความคิดจะเชิดชูเกียรติสถาบันที่ตนเองจบมา ทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโท และเป็นบุคลากรจนครบวาระเกษียณมาเมื่อไม่นานมานี้
 
ข้าพเจ้าไม่อยากจะบอกว่า ข้าพเจ้าวิตก เพราะเกรงว่าจะตกอยู่ในภาวะเดียวกับพระบนธรรมาสน์อย่างที่อาจารย์อาคมว่าหรือไม่ ภาวนาว่าคงจะไม่เป็นเช่นนั้น.
 


กำลังโหลดความคิดเห็น