คอลัมน์ : ดูรูปสวยแถมด้วยเกร็ดความรู้
โดย...สกนธ์ รัตนโกศล
ในช่วงเวลาของเดือนมีนาคม-เมษายนของทุกๆ ปี นั่นเป็นเวลาที่ “เหลืองอินเดีย” จะชูดอกออกมาอวดโฉมให้ชื่อชมความสวยงามกันอย่างไม่เอียงอาย
“เหลืองอินเดีย” มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบพื้นแผ่นดินเวสต์อินดีส โคลัมเบีย ถึงตอนเหนือของเวเนซูเอลา ในทวีปอเมริกาใต้
“เหลืองอินเดีย” มีชื่อวิทยาศาสตร์ Tabebuia chrysantha Nichols ชื่อสามัญ Golden Tree, Tallow Pui ชื่อวงศ์ BIGNONIACEAE
“เหลืองอินเดีย” เป็นไม้ต้นขนาดกลางสูง 5-9 เมตร ผลัดใบเรือนยอดทึบ
“ใบ” เป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ ซึ่งประกอบด้วยใบย่อย 5 ใบ มีขนอ่อนนุ่มๆ ด้านล่างมีขนรูปดาว
“ดอก” สีเหลืองสดติดกันเป็นหลอดรูปแตรยาว 4-7 เซนติเมตร ปลายแฉกมี 5 กลีบ เมื่อบานเส้นผ่านศูนย์กลาง 3-4 เซนติเมตร เกสรผู้ 4 อัน สั้น 2 ยาว 2 โคนก้านมีขน ผลเป็นฝักแคบยาว 10-15 เซนติเมตร
สำหรับในไทยเรา “เหลืองอินเดีย” นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ
ณ ห้วงเวลานี้ “เหลืองอินเดีย” ออกดอกอวดโฉมให้ชื่นชมคลายร้อนกันแล้วนะขอรับ
บรรณานุกรม
- หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 1
- www.qsbg.org/database/botanic_book%20full%20option/search_detail.asp?botanic..