นครศรีธรรมราช - สำรวจอาคารอุบัติเหตุ และฉุกเฉิน 5 ชั้น รพ.ปากพนัง มูลค่ากว่า 80 ล้านบาท หลังถูกผู้รับเหมาร้องเรียนกรรมการตรวจการจ้างไม่ตรวจรับงาน แถมยังเรียกรับผลประโยชน์อีกทอด พบอาคารใช้งานได้ชั่วคราวเพียงชั้น 1 เท่านั้น ส่วนอีก 4 ชั้นยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ และยังไม่สามารถใช้การได้
นี่คือภาพอาคารอุบัติเหตุ และฉุกเฉิน ขนาดความสูง 5 ชั้น ตามแบบของกระทรวงสาธารณสุข ก่อสร้างให้แก่โรงพยาบาลปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ในวงเงินกว่า 80 ล้านบาท ซึ่งเป็นอาคารที่ผู้รับเหมาอ้างว่าได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ และได้ทำหนังสือส่งมอบโครงการให้แก่คณะกรรมการตรวจการจ้าง แต่ไม่มีการตรวจรับงาน ทั้งยังมีการเรียกรับผลประโยชน์จากข้าราชการระดับสูงที่เกี่ยวข้อง 2 ราย โดยรายแรกเรียกรับเงิน จำนวน 2 ล้านบาท ส่วนอีกรายนั้นเรียกรับรถยนต์ปาเจโร 1 คัน จนเป็นที่สนใจอย่างกว้างขวาง
ล่าสุด วันนี้ (14 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวได้เข้าประสานกับ นายแพทย์ธรรมสถิต พิบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปากพนัง เพื่อขออนุญาตบันทึกภาพรายละเอียดของโครงการ โดยได้นำเข้าตรวจสอบตัวอาคารด้วยตัวเอง และเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร แต่ของดการให้สัมภาษณ์ เนื่องจากไม่มีอำนาจ กรณีการให้สัมภาษณ์ต้องเป็นนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเท่านั้น และเมื่อเข้าตรวจสอบชั้น 1 ซึ่งเปิดให้บริการเพียงชั้นเดียวสำหรับผู้ป่วยนอก และงานอุบัติเหตุฉุกเฉิน พบว่า ห้องจ่ายยา ห้องทะเบียนไม่มีรายการก่อสร้างตามแบบโดยเฉพาะ ส่วนครุภัณฑ์เสริม เช่น เคาน์เตอร์ ตู้เก็บเอกสาร และเวชภัณฑ์ เจ้าหน้าที่ต้องย้ายอุปกรณ์จากอาคารหลังเก่ามาใช้ พื้นไม่ได้ระดับ ขณะที่ห้องตรวจของแพทย์ 7 ห้อง พบว่า แพทย์ต้องใช้พัดลมในการระบายอากาศทุกห้อง ไม่ได้ติดตั้งเครื่องปรับอากาศตามแบบ ไม่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกทางการแพทย์ และครุภัณฑ์ติดตั้งตามแบบพิมพ์เขียว
ขณะที่การตรวจสอบชั้น 2 ไปจนถึงชั้น 5 พบว่า การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ ทุกห้องอยู่ในสภาพไม่มีความสมบูรณ์ พื้นปูนหลายจุดยังเป็นโพรง และช่องโหว่ที่อาจเกิดอันตรายได้ตลอดเวลา การวางระบบสายไฟไม่สมบูรณ์ ระบบที่เกี่ยวข้องไม่แล้วเสร็จ ห้องสุขายังไม่มีการติดตั้งเครื่องสุขภัณฑ์ ห้องประชุมขาดอุปกรณ์ตามแบบจำนวนหลายรายการ พื้นไม่ได้ระดับ หลายจุด พื้นกระเบื้องหลุดร่อน โดยเฉพาะห้องที่ใช้เทคนิคทางการแพทย์ชั้นสูงในการรักษาผู้ป่วย เช่น ห้องผ่าตัด ห้องเอกซเรย์ ห้องเตรียมผ่าตัด ห้องแล็บ การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จทุกห้อง เครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ถูกยกมาตั้งไว้โดยไม่ได้ติดตั้งเดินระบบท่อจึงไม่สามารถใช้การได้
เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ระบุว่า จากสภาพตึกทั้งหมดสามารถอธิบายได้ในตัวเอง เหตุใดจึงไม่มีการตรวจรับงานจ้าง ข้อเท็จจริงสำหรับวงเงิน 17 ล้านบาท ที่ผู้รับเหมาอ้างว่าไม่สามารถเบิกได้นั้น จริงๆ แล้วพบว่า วงเงินค่าปรับล่าช้า มียอดสะสมไปถึงกว่า 15 ล้านบาทแล้ว เกือบหมดทั้งยอด หลังจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะส่งคณะกรรมการเข้ามาประเมินเนื้องานส่วนที่ยังไม่แล้วเสร็จทั้งหมด เพื่อกำหนดการจ้างใหม่จากวงเงินที่เหลืออยู่ เพื่อให้ตึกนี้สามารถใช้การได้อย่างสมบูรณ์
สำหรับเงินงบประมาณโครงการนี้ ประกอบไปด้วย ปี 2553 ไทยเข้มแข็ง จำนวน 60 ล้านบาท เขตสมทบ จำนวน 10 ล้านบาท เงินบำรุงโรงพยาบาล จำนวน 10 ล้านบาท ใช้แบบก่อสร้างจากกระทรวงสาธารณสุข ประมูลครั้งแรก บริษัทวงศ์พรหม ชนะการประมูล ก่อสร้างไปได้ราว 25 เปอร์เซ็นต์ เบิกงบประมาณไปราวเกือบ 30 ล้านบาท จากนั้นได้ทิ้งงานไป เหลืองบประมาณอีกกว่า 50 ล้านบาท กระทรวงสาธารณสุข ปล่อยทิ้งไว้อีก 6 ปี ในปี 2558 บริษัทไกรสุ เข้าประมูลต่อ จำนวน 50 ล้านเศษ และเกิดปัญหาขึ้นในกรณีการเบิกจ่าย และการส่งมอบงานในงวดสุดท้าย รวมทั้งการกล่าวหาเรียกรับผลประโยชน์จากข้าราชการระดับสูงที่เกี่ยวข้องดังกล่าว