xs
xsm
sm
md
lg

สั่งรื้อ!! “โฮมสเตย์เกาะยอ” รุกทะเลสาบ หันสร้าง “เรือนแพลอยน้ำ” จะเป็นไปได้หรือ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
กระแสการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้กระโจนข้ามทะเลสาบมาถึง “เกาะยอ” อ.เมือง จ.สงขลา นับตั้งแต่มีการก่อสร้างสะพานติณสูลานนท์เชื่อมต่อกับแผ่นดินใหญ่ และทำให้เกาะยอไม่ได้โดดเดี่ยวอีกต่อไป

จากเดิมนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างถิ่น นิยมข้ามสะพานมารับประทานอาหารทะเลสดๆ โดยเฉพาะปลากะพง ที่นี่บรรดานักชิมต่างยกนิ้วให้ว่าอร่อยสุดๆ จากนั้นก็ขับรถวนรอบเกาะชมวัดวาอาราม โบราณสถานเก่าแก่ แวะซื้อของที่ระลึก ทั้งผ้าทอเกาะยอ ผลไม้ประจำถิ่น เช่น จำปะดะ ละมุดหรือที่ชาวบ้านเรียกลูกสวา เป็นต้น ติดไม้ติดมือกลับไปฝากคนที่อยากจะให้

จนเมื่อหลาย 10 ปีที่ผ่านมา การท่องเที่ยวแบบไปเช้าเย็นกลับที่เกาะยอก็เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อมีการสร้างบ้านพักหรือ “โฮมสเตย์” ที่ยื่นออกไปในทะเลสาบ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาพักผ่อนกันเป็นครอบครัว หรือหมู่คณะ จนได้สร้างกระแสตอบรับเป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะมีพื้นที่ส่วนตัวในการทำกิจกรรมแล้ว ยังได้รับบริการเสริมจากเจ้าของโฮมสเตย์ พานั่งเรือล่องชมธรรมชาติ วิถีชีวิต และการทำประมงพื้นบ้านของชาวเกาะยอ
 

 
แต่เดิมชาวบ้านที่นี่ก็ทำการประมงเป็นอาชีพหลักอยู่แล้ว และต่อมาในระยะหลังๆ ก็มีการเลี้ยงปลาในกระชัง โดยเฉพาะ “ปลากะพงสองน้ำ” ของที่นี่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จึงเลี้ยงกันรอบเกาะ ยิ่งปัจจุบันมีการสร้างโฮมสเตย์เข้ามาเสริม ทำให้สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ชาวเกาะยอเพิ่มขึ้นเป็นกอบเป็นกำ โดยผู้ที่เป็นเจ้าของหรือผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ทั้งนั้น

เมื่อมีโฮมสเตย์ผุดขึ้นมากมายเช่นนี้ แน่นอนปัญหาก็ย่อมตามมาด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการบุกรุกที่สาธารณะ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงทำให้เกิดคดีความตามมาจนถึงขั้นฟ้องร้องกันขึ้นระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และผู้ประกอบการ แม้ว่าปัจจุบันศาลจังหวัดสงขลา ได้มีคำสั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ผิดกฎหมายออกจากพื้นที่ ตั้งแต่ปี 2555 แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังพบว่า มีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การบังคับใช้กฎหมายการรื้อถอนโฮมเสตย์บางส่วนที่ยังยืดเยื้อ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากผู้ประกอบการขอความเห็นใจจากคณะกรรมการจัดระเบียบเกาะยอฯ โดยมีการผ่อนผันการรื้อถอนออกไปประมาณ 2-3 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการได้คืนทุนจากเงินที่ลงทุนไปประมาณ 8 แสนบาท ต่อโฮมเสตย์ 1 หลัง
 

 
หากลองมองย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2559 โดยนายเจษฎา จิตรัตน์ นายอำเภอเมืองสงขลา ในสมัยนั้น ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานแก้ไขปัญหาโฮมสเตย์ ต.เกาะยอ ได้ประชุมหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนผู้ประกอบการโฮมสเตย์เกาะยอ ซึ่งจะต้องดำเนินการตามกฎหมายโดยให้รื้อถอนโฮมสเตย์ 19 หลังแรก ที่ศาลตัดสินแล้วออกจากพื้นที่ และดำเนินตามกฎหมายกับผู้ประกอบการรายใหม่ที่ยังไม่มีการแจ้งความดำเนินคดี โดยจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือด้านการปรับโฮมสเตย์เป็น “แพพัก” ที่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งหาแหล่งเงินทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการต่อไป

ผู้ประกอบการโฮมสเตย์เกาะยอรายหนึ่ง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้มีการปรับปรุงมาตรฐานการให้บริการ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชน เพราะผู้ประกอบการทั้งหมดเป็นชาวบ้านในพื้นที่ และเห็นว่าโฮมสเตย์ที่เกิดขึ้นมีผลดีมากกว่าผลเสีย ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างงาน สร้างอาชีพให้กับคนในพื้นที่ และอยากให้ทบทวนมาตรการเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้
 

 
เช่นเดียวกับ นายจำเริญ ปลอดทอง เจ้าของอ่าวทรายโฮมสเตย์ หมู่ที่ 1 บ้านอ่าวทราย ต.เกาะยอ อ.เมืองสงขลา ในฐานะเป็นเจ้าของโฮมสเตย์ ได้เล่าให้ฟังว่า การก่อสร้างโฮมสเตย์ใช้งบหลังละประมาณ 8-9 แสนบาท โดยเฉพาะของตนเอง หากหลังเล็กกว่านี้ก็อาจจะไม่ถึง โฮมสเตย์ของตนสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2553 ประมาณต้นปี และมีทั้งหมด 2 หลังด้วยกัน

ส่วนกำไรต่อปี ลุงจำเริญบอกว่า “ผมไม่เคยคิดนะ ไม่เคยคิดได้มาก็จ่ายไป ผ่อนธนาคารชำระไป ยอดเงินก็ยังคงมีอยู่เหมือนเดิม ไม่หมดสักที”

ในส่วนรายละเอียดของโฮมสเตย์ ลุงจำเริญบอกด้วยว่า ในคืนวันศุกร์กับคืนวันเสาร์ หากมาไม่ถึง 20 คน คิดราคาหลังละ 4 พันบาท แต่หากมาเกิน 20 คน ก็คิดเป็นรายหัวๆ ละ 200 บาท แต่หากเป็นวันอาทิตย์ และวันจันทร์ถึงวันพฤหัสบดี ซึ่งถือว่าเป็นวันธรรมดา หากมาไม่เกิน 20 คน คิดราคาหลังละ 3 พันบาท แต่หากเกิน 20 คน คิดหัวละ 200 บาทเหมือนกัน
 

 
“เขามีนโยบายว่าหากรื้อโฮมสเตย์ของเราซึ่งมันเป็นเสา และให้ไปทำเป็นแพมันจะไม่ผิดกฎหมายเพราะมันลอยน้ำได้ แต่หากจะทำเป็นแพต้องเอาสเปคตามเขา ไม่ใช่เรานึกจะทำยังไงก็ได้ เขาไม่อนุญาต โดยต้องใช้แบบแพขนานยนต์ เป็นเหล็กแท่งสี่เหลี่ยมแบบนั้น” ลุงจำเริญ กล่าว

เฉพาะแพหลังนั้นก็ประมาณเกือบ 2 ล้านบาท แล้วชาวบ้านจะเอาเงินที่ไหนมาทำ เขาว่าไปทำให้เป็นแพ ซึ่งก็พูดง่าย ส่วนตัวหากให้ทำเป็นแพจริงๆ ก็น่าจะไม่ทำแล้ว เพราะคิดว่าจะเลิก โฮมสย์ที่อ่าวทรายมีจำนวน 30 กว่าหลัง รวมแล้วหลายๆ อ่าวประมาณ 50 หลัง ในอ่าวทรายมีเยอะที่สุด

“โฮมสเตย์เกาะยอ” แม้จะเป็นธุรกิจการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของ จ.สงขลา แต่รูปแบบการจัดการที่เป็นปัญหาเรื้อรัง ทั้งเรื่องของเสียงดัง รวมถึงผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญคือปัญหาการรุกล้ำน่านน้ำทะเลสาบสงขลา คือประเด็นหลักที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็วที่สุด
 




กำลังโหลดความคิดเห็น