xs
xsm
sm
md
lg

เลือกแก่น ทิ้งกาก ฝ่าวิบากการเมืองไทย / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
 
คอลัมน์  :  คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
 
 
ปี่กลองการเมืองเริ่มระรัวอย่างคึกคัก เมื่อรัฐบาล คสช.ดำเนินการให้มีการจดจะเบียนพรรคการเมืองใหม่ และจดแจ้ง สำรวจสมาชิกภาพของพรรคการเมืองเก่า มีแนวโน้มว่าจะมีพรรคการเมืองใหม่ๆ เกิดขึ้นในเร็ววันนี้ เพื่อตอบรับการเลือกตั้งที่จะมีมาไม่น้อยกว่า ๔๒ พรรคการเมือง
 
แต่แม้ว่าประเทศไทยจะมีพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติพรรคการเมืองมายาวนานเกือบศตวรรษ นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี ๒๔๗๕  เป็นต้นมา และพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดที่มีอายุยืนยาวมาจนถึงทุกวันนี้คือ
 
พรรคประชาธิปัตย์ “พระแม่ธรณีบีบมวยผม”
 
แต่ในทางวิชาการ เคยมีนักวิชาการทางรัฐศาสตร์กล่าวว่า “ประเทศไทยไม่เคยมีพรรคการเมืองตามนิยามความหมายทางสากล มีแต่กลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองที่เรียกว่า พรรคการเมือง”
 
สาเหตุเพราะประเทศไทยไม่เคยมีพรรคการเมืองในความหมายทางสากล ที่หมายถึงสถาบันทางการเมืองที่เป็นที่รวมของนักการเมือง หรือนักกิจกรรมทางการเมืองที่มีอุดมการณ์ใกล้เคียงกันหรือเหมือนกัน มารวมตัวกันจัดตั้งพรรคการเมือง แล้วร่วมกันรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งให้ได้รับเลือกตั้งให้มากที่สุด เพื่อเป็นเสียงข้างมากในสภาจัดตั้งรัฐบาล แล้วนำนโยบายที่เกิดจากการระดมความคิดเห็นตามอุดมการณ์ของสมาชิก มาเป็นนโยบายของพรรค และนโยบายของรัฐบาล บนพื้นฐานเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ
 
พรรคการเมืองไทยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่สนใจการเมือง อยากเป็นใหญ่เป็นโต เข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองแล้วไต่เต้าไปเรื่อยๆ จนถึงตำแหน่งสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และจะต้องมีนายทุนพรรค หรือคนถือถุงเงิน ยิ่งการเมืองยุค “ธนาธิปไตย” ยุคซื้อสิทธิ์ขายเสียง คนตั้งพรรคการเมืองจะต้องมีเงินมากเป็นร้อยล้าน พันล้าน มากพอจะดูแลนักการเมืองหรือนักเลือกตั้งในสังกัดของตัวเองได้
 
คนจัดตั้งพรรคการเมืองในประเทศไทยจึงหนีไม่พ้นจากนายทุน ขุนศึก นักธุรกิจใหญ่ คนกลุ่มอื่นแม้จะพอมีบ้าง แต่ก็ไม่จิรังยั่งยืน เป็นไฟไหม้ฟาง วูบดับไปตามยุคสมัย อยู่ได้ไม่นาน และไม่ประสบความสำเร็จในทางการเมือง แม้ว่าจะมีอุดมการณ์สูงส่ง เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ก็ตาม
 
นักการเมืองไทยในยุคหลังๆ จึงสังกัดพรรคการเมืองแบบค่ายมวย หรือสังกัดคอกม้าแข่งหรือวัวชน ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามเจตนารมณ์ของนายทุนพรรค ที่เป็นหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคเป็นสำคัญ โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชน
 
บางยุคบางสมัยนักการเมืองออกมาบอกว่า “อุดมการณ์เก็บใส่ลิ้นชักไว้ก่อน” บ้าง “เป็นฝ่ายค้านมันอดอยากปากแห้ง” บ้าง “ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวรทางการเมือง” บ้าง  “พายเรือให้โจรนั่ง” บ้าง เป็นต้น เหล่านี้ล้วนสะท้อนสัจธรรมและวิธีคิดของคนในสังกัดพรรคการเมืองไทยได้ดี
 
อุดมการณ์ในทางการเมืองของพรรคการเมืองไทยที่สำคัญคือ การได้เป็นเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาล หรือได้ร่วมจัดตั้งรัฐบาล มีโควตาตำแหน่งรัฐมนตรีตามสัดส่วนที่ควรมีควรได้ บางพรรคได้ชื่อว่าเป็น “จอมเสียบ” หรือ “พรรคปลาไหล” เพราะเก่งในเรื่องการต่อรองเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล ทั้งๆ ที่เป็นพรรคการเมืองขนาดกลางหรือขนาดเล็ก
 
บางยุคบางสมัยรัฐธรรมนูญต้องกำหนดให้แยกฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารออกจากกันโดยเด็ดขาด คือไม่ให้นักการเมืองเป็นทั้ง ส.ส.และรัฐมนตรีในเวลาเดียวกัน หาก ส.ส.คนไหนไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเมื่อถูกปรับ ครม.ให้ออกจากตำแหน่ง ก็ให้หลุดจาก ส.ส.ไปด้วย
 
ความไม่สมประกอบของพรรคการเมืองไทยประการหนึ่งที่สำคัญคือ การทำหน้าที่ในสภา เพราะ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลที่จะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาล กลับยกมือปกป้องรัฐบาลของพรรคตนเองทุกวิถีทาง ทำให้การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะกลายเป็นปาหี่ เพราะต่างรู้ดีว่าในที่สุดจะต้องมีเสียงสนับสนุนมากพอให้อยู่ในตำแหน่งต่อไป เพราะประเทศไทยใช้ระบบรัฐสภา รัฐบาลเป็นฝ่ายเสียงข้างมากในสภาอยู่แล้ว
 
อันนี้จัดเป็นสาเหตุสำคัญของความล้มเหลวในระบบรัฐสภาไทย อันนำมาซึ่งความขัดแย้งและยุบสภาในหลายครั้งที่ผ่านมา
 
เราเคยหวังให้นักการเมืองอิสระจากการครอบงำของพรรคการเมือง แต่ก็ถูกหาว่าถ้าปล่อยให้นักการเมืองมีอิสระจนสามารถจะสวนกระแสมติพรรคได้ ก็จะทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เราจึงปล่อยให้นักการเมืองเป็นหุ่นยนต์กลไกที่จะต้องทำตามมติของพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ และที่สำคัญมตินั้นตอบสนองความต้องการของประชาชนหรือไม่
 
พรรคการเมืองบางพรรคเคยมีสโลแกนว่า “พรรคเลือกคน ประชาชนเลือกพรรค” ซึ่งฟังแล้วดูดีมีอารยะ หมายถึง พรรคการเมือง ซึ่งเป็นสถาบันทำหน้าที่คัดเลือกคนดีมาให้ประชาชนพิจารณา ส่วนประชาชนก็ไม่ต้องกังวลเรื่องคุณภาพของคนที่จะไปเลือก เพียงแต่พิจารณาความน่าเชื่อถือของแต่ละพรรค
 
แต่เอาเข้าจริงก็หาเป็นไปอย่างที่คาดหวังไม่ เพราะพรรคนั้นๆ ไม่ได้เลือกคนดี มีความรู้ ความสามารถ คุณธรรม จริยธรรม ฯลฯ มาให้ประชาชนพิจารณา แต่พรรคเลือกคนมีเงิน มีความสามารถที่จะช่วยเหลือตัวเองและช่วยพรรคในด้านเงินค่าใช้จ่ายในการหาเสียง โดยไม่ต้องรบกวนพรรคเสียเป็นส่วนใหญ่
 
การเลือกตั้งสมัยหน้า สถานการณ์ไม่ได้ดีกว่าที่ผ่านมาเกือบศตวรรษ การเมืองในระบบพรรคยังเป็นเรื่องของนายทน ขุนศึก นักการเมืองประเภทนักเลือกตั้ง มากกว่าการเมืองแบบอุดมการณ์ เพื่อประโยชน์ของประชาชน
 
หน้าที่ของประชาชนคือ ศึกษาหาข้อมูล วิเคราะห์สังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ เพื่อใช้ประกอบในการตัดสินใจเลือกตามที่เห็นเหมาะสม และช่วยกันเป็นหูเป็นตาไม่ให้คนไม่ดีเข้าสู่อำนาจทางการเมือง
 
ความหวังถ้ายังมี ก็อยู่ที่ประชาชน “อย่านอนเตียงเดียวกัน แต่ฝันคนละเรื่อง” กันอยู่อีกเลยครับ.
 


กำลังโหลดความคิดเห็น