“แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดสงขลา เป็นซากหอยที่มีอายุเก่าแก่ในความรู้สึกของชาวสงขลา ซึ่งเกิดขึ้นจากการทับถมกันของความไม่ชอบมาพากลที่มนุษย์ไม่กี่คนรังสรรค์ขึ้นมา ชาวสงขลาขนานนามว่า สุสานหอยสังข์พันล้านบาท สถานที่เต็มไปด้วยเรื่องราวชวนให้ประหลาดใจ”
อาคารสถาปัตยกรรมที่ถูกทิ้งร้างไว้เป็นเวลานับ 10 ปี คือโครงการก่อสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา หรือ “อควาเรียมหอยสังข์” ตั้งอยู่ในพื้นที่วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ ต.พะวง อ.เมือง จ.สงขลา ถูกออกแบบให้เป็นสถาปัตยกรรมที่สวยงาม โดดเด่น เป็นรูปหอยสังข์ขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ริมทะเลสาบสงขลา โดยมีวัตถุประสงค์ใช้เป็นสถานที่จัดแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ พันธุ์ไม้น้ำ และการเพาะขยายพันธุ์ที่มีความทันสมัย เป็นสถานที่ศึกษาวิจัย และจำลองระบบนิเวศทะเลสาบสงขลา
โครงการก่อสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา หรืออควาเรียมหอยสังข์นั้น เป็นโครงการของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2554 ในวงเงินประมาณ 800 ล้านบาท โดยระยะเวลาในการก่อสร้างตามสัญญาจะใช้เวลา 4 ปี ซึ่งควรจะแล้วเสร็จเต็มรูปแบบตามโครงการตั้งแต่ปี 2554 แต่จนถึงขณะนี้ การดำเนินการโครงการกลับยังไม่แล้วเสร็จ ทั้งยังมีการใช้งบประมาณไปแล้วไม่น้อยกว่า 1,400 ล้านบาท
ซึ่งในระยะแรกได้ใช้วงเงินไปแล้วประมาณ 835 ล้านบาท สร้างได้เฉพาะแค่ตัวอาคาร ในระยะที่ 2 ใช้งบประมาณ 269 ล้านบาท ทำระบบเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ระยะที่ 3 ใช้งบประมาณอีกกว่า 42 ล้านบาท และระยะที่ 4 ใช้งบประมาณไปกว่า 258 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณที่ได้ใช้ไปแล้วในขณะนี้รวมเป็นเงินกว่า 1,400 ล้านบาท ขณะที่โครงการนี้มีทั้งหมด 5 ระยะด้วยกัน
มีคำถามเกิดขึ้นมากมายกับโครงการนี้ว่า เพราะอะไรทำไม่ถึงสร้างไม่แล้วเสร็จสักที
หากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2551 โดยนายบรรหาร ศิลปะอาชา หัวหน้าพักชาติไทยในขณะนั้น ได้เดินทางมาตรวจดูความคืบหน้าของโครงการก่อสร้าง ที่วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ ในฐานะเป็นประธานที่ปรึกษาโครงการฯ เมื่อเริ่มก่อสร้างได้ไม่นานในช่วงปี 2551-2553 งานด้านวิศวกรรมศาสตร์ และงานด้านสถาปัตยกรรม กลับมีข้อโต้แย้งถกเถียงกัน จนเป็นสาเหตุให้การก่อสร้างหยุดชะงักไปประมาณ 1 ปี และเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2552 กระทรวงศึกษาธิการสั่งตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงปัญหาการก่อสร้าง ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยอ้างว่ามีปัญหาข้อโต้แย้งในสัญญา
ต่อมาเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2552 คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง สรุปสาเหตุที่ก่อสร้างล่าช้าคือ 1.อันเนื่องมาจากผู้รับเหมาไม่ก่อสร้างตามสัญญา มัดจำไปแล้ว 125 ล้านบาท 2.เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาในสมัยนั้น ทำหนังสือแจ้งให้หยุดการก่อสร้าง ทำให้การก่อสร้างต้องสะดุดลง
กระทรวงศึกษาธิการ สรุปความเสียหายที่เกิดขึ้นประเมินไม่ได้ว่าเป็นจำนวนเงินเท่าไร แต่ถือเป็นการบริหารงบประมาณที่ไร้ประสิทธิภาพ เพราะสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จ่ายเงินมัดจำไปแล้วถึง 125 ล้านบาท แต่กลับไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ทันตามสัญญาในปี 2554 จากโครงการที่วาดฝันกันว่าจะเป็นอควาเรียมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ แต่ที่เป็นได้คืออควาเรียมที่สร้างนานที่สุด ใช้งบประมาณมากที่สุด และยังมีปัญหามากที่สุดในเวลานี้
นายสาโรจน์ ภัทรธนษ์ ในฐานะชาวสงขลา กล่าวว่า อยู่ จ.สงขลา อยู่ ต.เกาะยอ เวลาไปในเมืองสงขลาก็ได้ขับรถผ่านเห็นโครงการอควาเรียมของวิทยาลัยประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รู้สึกว่าโครงการนี้จะล่าช้าเพราะว่าเริ่มก่อสร้างตั้งแต่เมื่อปี 2550 และโครงการก็มีระยะเวลาแค่ 4 ปี ชาวสงขลาและใกล้เคียงก็รอดูอยู่ว่าโครงการนี้สร้างอะไรบ้าง ด้านในเขาศึกษาอะไรกันบ้าง และสร้างมานานเกิน นี่ก็ปี 2561 แล้ว และได้ข่าวว่าเขาจะสร้างเสร็จในปี 2562
งบประมาณจริงๆ แล้วเขาตั้งไว้ 800 ล้านบาท แต่ใช้ไปแล้วประมาณ 1,400 ล้านบาท ก็ยังไม่พอ และได้ข่าวว่าเขาจะขอเพิ่มอีก 300 กว่าล้านบาท เพราะว่าโครงการเขาไม่เสร็จ ไม่ทราบว่าปัญหาอยู่ตรงไหน อาจจะวิศวกรหรือผู้รับเหมา แต่คิดว่าควรจะให้หน่วยงานของรัฐ หรือ ป.ป.ช.มาตรวจสอบ เพราะงบประมาณจริงๆ แค่ 800 ล้านบาท ตรวจสอบแล้วชี้แจงให้ชาวบ้านทราบว่าโครงการไปถึงไหนแล้ว และคาดว่าจะเสร็จในปีไหนกันแน่
“งบประมาณที่ใช้ไปแล้ว 1,400 ล้าบาท รู้สึกว่ามันมากเกิน ที่จริงงบประมาณ 800 ล้านบาท ที่เขาคาดไว้ วิศวกรเขาคำนวณไว้แล้วว่าโครงการนี้สร้างงบประมาณเท่านี้ ไม่น่าจะเกินจาก 800 ล้านบาท ถ้าหากว่า 1,400 ล้านบาท ควรชี้แจงให้ชาวบ้านรับทราบ”
โครงการนี้เป็นหน้าเป็นตาของ จ.สงขลา เป็นหน้าตา และเป็นธุรกิจของรัฐที่จะนำชาวบ้านต่างจังหวัด หรือว่าชาวต่างชาติมาเยี่ยมชม จะได้เงินเข้ามาที่ จ.สงขลา อีกทางหนึ่ง นอกจากแหลมสมิหลา จึงอยากฝากกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการ คืออยากให้ผู้เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ต้องรับผิดชอบ ถ้าหากว่า ป.ป.ช.มาตรวจสอบ ป.ป.ช.ควรชี้แจงให้ชาวบ้านทราบว่าที่ล่าช้าเพราะอะไร เพราะว่ามันล่าช้ามาเป็นเวลาตั้งแต่ปี 2554 มาจนถึงปี 2561 ก็ยังไม่แล้วเสร็จ ชาวบ้านไม่ทราบเลย และวิทยาลัยประมงก็ไม่ได้ชี้แจงอะไร ด้านในทำอะไรกันบ้าง ไม่เคยติดป้ายไว้ข้างหน้าเลยว่ามีอะไรบ้าง ไม่โปร่งใสเลยโครงการนี้
โดยเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2561 เครือข่ายผู้ปกครองและองค์กรภาคีเครือข่ายจังหวัดสงขลา ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ที่ศาลากลางจังหวัดสงขลา นำโดยนายกาจบัณฑิต รามมาก ประธานเครือข่ายผู้ปกครองวิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ ได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เพื่อเร่งรัดการก่อสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา หรืออควาเรียมหอยสังข์ ที่วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ อ.เมือง จ.สงขลา ที่ก่อสร้างมานานกว่า 10 ปี แต่ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ โดยดำเนินการสร้างมาตั้งแต่ปี 2551 และระบุว่าใช้งบไปแล้วกว่า 1,400 ล้านบาท ซึ่งตอนนี้ทำให้ภาพลักษณ์ของวิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ และชาว จ.สงขลา ได้รับความเสียหาย
ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน ทั้งเครือข่ายผู้ปกครอง เครือข่ายศิษย์เก่าวิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ ได้ร่วมกันจัดทำแผนป้ายไวนิล จำนวน 3 แผ่นป้าย โดยมีข้อความว่า
“หยุดโกง คนโกงต้องไม่มีที่ยืนในสังคม ไล่คนโกงออกไป เอาอควาเรียมคืนมา ภาครัฐอย่ากดดัน คนสงขลาให้ออกมาเคลื่อนไหว เงินภาษีทุกบาท ต้องใช้จ่ายให้คุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด รัฐต้องจริงใจในการแก้ปัญหา เร่งหาคนผิดมาลงโทษ และนายกฯ ประยุทธ์รักคนสงขลา ต้องจัดงบเพิ่มเพื่อสร้างให้เสร็จ เพื่อศักดิ์ศรีคนสงขลา “อควาเรียมต้องสร้างให้เสร็จ” นายกประยุทธ์ จริงใจในการแก้ไขปัญหา ต้องส่งรัฐมนตรีลงมาชี้แจงโดยด่วน”
พร้อมได้ร่วมกันทำการติดตั้งเอาไว้ ที่ด้านหน้าทางเข้าวิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ เพื่อต้องการทวงถามความรับผิดชอบในความล่าช้า จากการก่อสร้างโครงการอควาเรียมหอยสังข์ รวมถึงประเจตนารมณ์ของชาวสงขลา ที่ต้องการให้โครงการนี้ก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในปี 2562 และชี้แจงปัญหาความล่าช้าว่ามาจากการทุจริตกันอย่างไรหรือไม่ โดยเร็วที่สุด และนี่ก็เป็นความต้องการของตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนใน จ.สงขลา ที่ออกมาเพื่อต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับคนสงขลา
การสร้างอควาเรียมมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านบาท กลับมีการหมกเม็ด ไม่เคยมีการชี้แจงให้ชาวสงขลารับทราบมาก่อน จึงทำให้ประชาชนต้องออกมาทวงถาม และเร่งรัดให้ก่อสร้างให้เสร็จ และในวันที่ 1 มีนาคม 2561 นี้ หากยังไม่มีการชี้แจงใดๆ ชาวสงขลาเองอาจต้องร่วมแสดงพลังเคลื่อนไหวกันอีกครั้ง