“แหลมสมิหลา” หรือที่มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “แหลมหิน” สถานที่แห่งนี้ ถือว่าเป็นจุดแลนด์มาร์คของ จ.สงขลา เลยก็ว่าได้ เพราะที่นี่มีหาดทรายขาวสะอาด ทิวสนร่มรื่น ชายทะเลเมืองสงขลา ซึ่งเปรียบเสมือนห้องรับแขกธรรมชาติที่คอยต้อนรับผู้มาเยือนอยู่เรื่อยมา
ซึ่งที่นี่ถือได้ว่าเป็นชายหาดสวยงาม น่าเดินเล่น ทรายขาวละเอียด น้ำไม่ลึกมาก เล่นน้ำได้ ตลอดแนวจัดเป็นสถานที่พักผ่อนทางวิ่งออกกำลังกาย จุดชมวิวที่มีทิวทัศน์ของเกาะหนู เกาะแมว เป็นฉากหลัง
นอกจากนี้ยังมีประติมากรรมรูป “นางเงือก” นั่งอยู่บนโขดหิน อันเป็นสัญลักษณ์ของ จ.สงขลา บริเวณแหลมสมิหลา มีโขดหินขนาดย่อมยื่นลงทะเล หาดทรายขาวละเอียดมากที่เรียกว่า “ทรายแก้ว” มีป่าสนร่มรื่น
จากแหลมสมิหลาสามารถมองเห็นทิวทัศน์อันงดงามของเกาะหนู เกาะแมว จนมีคำกล่าวว่า “ใครมาเยือนสงขลา แล้วไม่ไปจับนมนางเงือก แสดงว่ายังมาไม่ถึงสงขลา” ซึ่งเป็นความเชื่อที่ว่าหากได้จับนมนางเงือกแล้ว ก็จะได้กลับมาเยือนแหลมสมิหลาแห่งนี้อีกครั้ง
รูปปั้น “นางเงือกทอง” สัญลักษณ์อันโดดเด่นของ จ.สงขลา ตั้งอยู่บริเวณปลายแหลมสมิหลา นักท่องเที่ยวจะนิยมไปถ่ายภาพคู่กับนางเงือก เพื่อเก็บภาพไว้เป็นที่ระลึก นางเงือกทองถูกสร้างขึ้นตามนิยายปรัมปราของไทยโบราณ
ตามตำนานได้กล่าวไว้ว่า ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธ์) ได้บอกเล่าไว้ว่า ในวันดีคืนดีนางเงือกจะมานั่งหวีผมบนชายหาดด้วยหวีทองคำ วันหนึ่งบังเอิญว่ามีชายชาวประมงเดินผ่านมา ทำให้นางเงือกตกใจรีบหนีลงทะเลไป โดยลืมหวีทองคำเอาไว้ ฝ่ายชาวประมงเห็นดังนั้นก็เก็บหวีทองคำไว้ และได้แต่เฝ้ารอคอยให้นางเงือกกลับมาอีกครั้ง แต่นางเงือกก็ไม่เคยปรากฏกายให้เห็นอีกเลย
จากแผ่นจารึกที่ประติมากรรมนางเงือกทอง กล่าวไว้ว่า “รูปปั้นนางเงือก” นี้ สร้างขึ้นในปี 2509 ตามดำริของ นายชาญ กาญจาคพันธุ์ ปลัดจังหวัดสงขลา ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองสงขลาด้วย โดยให้อาจารย์จิตร บัวบุศย์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนเพาะช่าง เป็นผู้ปั้นหล่อด้วยราคา 60,000 บาทในสมัยนั้น เป็นเงินงบประมาณของเทศบาลสงขลา ทำให้ “รูปปั้นนางเงือก” เป็นสัญลักษณ์ของแหลมสมิหลา มาจนถึงทุกวันนี้
สถานที่แห่งนี้ยังเหมาะแก่การมาพักผ่อนกันแบบครอบครัว หรือจะมากันแบบเพื่อนฝูงก็สามารถมาพักผ่อนกันได้ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมริมหาดอื่นๆ เช่น ขี่ม้าชมหาด เล่นว่าว ปิกนิก ตรงข้ามรูปปั้นนางเงือกยังมีร้านขายของที่ระลึก มีร้านอาหาร ห้องอาบน้ำจืด คอยบริการให้กับผู้ที่มาเยือนอีกด้วย
___________________________________________________________________________
เรื่อง/ภาพ : สุชาดา ศรีสวัสดิ์