หากมาเยือนย่าน “เมืองเก่าสงขลา” หลายคนอาจจะนึกถึงศิลปะข้างถนนหรือสตรีทอาร์ต ภาพวาดความเป็นอยู่ในวิถีชีวิตแบบไทยๆ บนถนนนางงาม แต่มีอีกที่หนึ่งที่ไม่ว่าใครจะไปจะมา ก็จำเป็นต้องแวะถ่ายรูปว่าครั้งหนึ่งเคยมาในสถานที่แห่งนี้แล้ว นั่นคือ “โรงสีแดง” เป็นสถานที่ที่บรรดาเหล่านักท่องเที่ยวจะชอบมาถ่ายรูปหมู่ ถ่ายรูปเก็บเป็นที่ระลึก แล้วที่นี่มันมีเสน่ห์ตรงไหน
เริ่มกันที่ตัวอาคารอันเก่าแก่ โรงสีแดงแห่งนี้จะดึงสายตาของผู้ที่ผ่านไปมา เสน่ห์ของที่นี่ก็คือความเก่าของตัวอาคาร และสีสันที่สะดุดตานั่นเอง ยิ่งตั้งอยู่ภายในย่านเมืองเก่า ก็ยิ่งทำให้โรงสีแดง สะกดตาสะกดใจนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้นไป อีกทั้งทางฝ่ายปกครองยังเข้ามาโปรโมทการท่องเที่ยวให้กับสถานที่แห่งนี้ คงจะเพียงพอที่จะทำให้โรงสีแดงดังเป็นพลุแตกในเวลาอันรวดเร็ว จนกลายเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์คู่บ้านคู่เมืองชาวสงขลา
ในส่วนประวัติความเป็นมาของโรงสีแดง หรือ “หับ โห้ หิ้น” คือเป็นโรงสีข้าวเก่าแก่ในย่านเมืองเก่าของสงขลา ตัวอาคารทาด้วยสีแดงแรงฤทธิ์ มีความขลังแบบคลาสสิก ตั้งอยู่บนถนนนครนอก หากย้อนไปในอดีต “เมืองสงขลา” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยกลุ่มคนเชื้อสายจีนหลายตระกูล อาทิ ณ สงขลา, รัตรสาร, รัตนปราการ เมืองสงขลาได้ทำการค้าขายกับเมืองปีนัง รวมทั้งมีกิจการโรงสีเพื่อรองรับผลผลิตข้าวจากกลุ่มลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
จากต้นตระกูลเสาวพฤษ์ (ขุนราชกิจจารี) ได้ร่วมหุ้นกับตระกูลโคนันทน์ จัดตั้ง “หับ โห้ หิ้น” ขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ.2454 แต่ภายหลังหลานๆ ของขุนราชกิจจารีได้ซื้อกิจการทั้งหมด และมีการปรับปรุงพัฒนาโรงสีข้าว มีการเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์พลังงานไอน้ำ ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิง โดยซื้อเครื่องยนต์นี้มาจากประเทศอังกฤษ
จากไอเดียที่แหวกแนวนี้ทำให้ดำเนินกิจการไปด้วยดี และแนวคิดของท่านผู้นี้คือ นายสุชาติ รัตนปราการ หนุ่มนักเรียนปีนัง โดยต้นสกุล “รัตนปราการ” เป็นคนจีนฮกเกี้ยน แต่เดิมใช้สกุลว่า “แซ่ก๊วย” ซึ่งได้อพยพมาจากเมืองจีน มาตั้งรกรากอยู่ที่สงขลา เมื่อราวปี พ.ศ.2250 (สมัยพระเจ้าเสือ แห่งอาณาจักรอยุธยา)
หลายคนคงสงสัยว่า “หับ โห้ หิ้น” แปลว่าอะไร จริงๆ แล้ว “หับ โห้ หิ้น” เป็นภาษาจีนฮกเกี้ยน แปลว่า เอกภาพ ความกลมกลืน และความเจริญรุ่งเรือง
อาจารย์สุขสันต์ วิเวกเมธากร กล่าวว่า “หับ” ในภาษาจีนฮกเกี้ยน ตรงกับคำว่า “ฮะ” ในภาษาจีนแต้จิ๋ว ที่แปลว่า “สามัคคี” ส่วนคำว่า “โห้” น่าจะตรงกับคำว่า “ฮ่อ” หมายถึง ความดีและความเจริญรุ่งเรือง คำว่า “หิ้น” อาจหมายถึง สวน หรือสถานที่ที่ผู้คนมารวมตัวชุมนุมกัน แปลโดยรวม “หับ โห้ หิ้น” ก็แปลว่า “สวนสมานฉันท์อันเจริญรุ่งเรือง”
ซึ่งขณะนี้ “หับ โห้ หิ้น” หรือโรงสีแดงแห่งนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทำให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่างชาติเดินทางมาเที่ยวชมกันไม่ขาดสาย
นอกจาก “หับ โห้ หิ้น” ที่เป็นอาคารเก่าแก่แล้ว ในปัจจุบันถนนนครนอก ถนนนครใน และถนนนางงาม ยังคงมีห้องแถวไม้แบบจีน ตึกคลาสสิกสไตล์ชิโนโปรตุกีส และยังมีอาคารตึกแถวแบบจีนโบราณของชาวจีนฮกเกี้ยนอยู่ปะปนกันทั้งสองฟากถนน โดยอาคารหลายหลังมีการปรับปรุงทาสีใหม่ แต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของอาคาร ตึกรามเก่าๆ เหล่านี้ล้วนสะท้อนภาพการเป็นเมืองสำคัญทางด้านการปกครอง และทางเศรษฐกิจมาแต่ครั้งสมัยกรุงธนบุรี
อีกทั้งการเป็นเมืองท่าติดทะเล ทำให้ได้รับวัฒนธรรมจากหลากหลายเชื้อชาติ ผสมผสานกันเป็นวัฒนธรรมเฉพาะตัวแบบสงขลา ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต อาหารการกิน หรือแม้ในด้านสถาปัตยกรรมต่างๆ ที่ยังคงอนุรักษ์โครงสร้างแบบเดิมเอาไว้ เพื่อเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความรุ่งเรืองในอดีต
___________________________________________________________________________
เรื่อง/ภาพ : สุชาดา ศรีสวัสดิ์