คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
จากการสรรหา กกต.ครั้งล่าสุดที่มีผู้ถูกเสนอชื่อให้ สนช.พิจารณาลงมติจำนวน ๗ คน แต่ไม่มีใครผ่านความเห็นชอบจาก สนช.แม้แต่คนเดียว ก็เกิดคำถามตามมาจากคนในสังคมหลายคำถาม เช่น มาตรฐานของ สนช.สูงไปหรือเปล่า หรือคนที่ถูกเสนอชื่อให้พิจารณายังมีจุดด่างพร้อย หรือเพราะไม่มีคนดีเข้าสู่ระบบการสรรหาเพื่อเข้าสู่อำนาจทางการเมืองที่สำคัญ แล้วเราจะเอาคนดีที่ไหนมาทำหน้าที่ กกต.ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและความต้องการของประชาชน
ท่ามกลางกระแสที่คนไทยส่วนหนึ่งที่ไม่เอาด้วยกับ คสช. และสถาปนาตัวเองเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย” ออกมาเคลื่อนไหวบอกกับชาวโลกว่า “อยากเลือกตั้ง” ด้วยเชื่อมั่นว่า “การเลือกตั้ง” คือนิมิตหมายของความเป็นประชาธิปไตย และสามารถแก้ปัญหาหลายอย่างทางการเมืองได้ และเชื่อว่าการเลือกตั้งจะค่อยๆ พัฒนาไปเอง อาจจะเริ่มต้นจากการเลือกคนเลวน้อยที่สุด แต่ในความเป็นจริงการเลือกตั้งมันอาจจะมีความซับซ้อนมากกว่านั้น ไม่งั้น สนช.คงไม่มีมติออกมาว่าไม่เลือกเอาใครแม้แต่คนเดียวมาเป็น กกต.
นับตั้งแต่ประเทศไทยมีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทั้งระดับจังหวัดและระดับชาติ ตามรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พ.ศ.๒๕๔๐ กกต.ชุดแรกได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิภาพและสร้างประสิทธิผลตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่ชุดต่อๆ มาทั้งระดับชาติและระดับจังหวัดเริ่มมีข้อครหา บางชุดถึงขั้นถูกฟ้องร้องให้ติดคุกติดตาราง สร้างความอัปยศอดสูให้กับ กกต. องค์กรที่เป็นที่คาดหวังในการปฏิรูปการเมืองหลังการยุดอำนาจของ รสช.ในปี ๒๕๓๔ โดยเฉพาะในขั้นตอนการสรรหาหรือเลือกตั้งคนดีเข้าสู่อำนาจทางการเมือง และการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย โดยกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน
การสรรหา กกต.ในระดับจังหวัดที่ผ่านมามีบรรยากาศของระบบอุปถัมภ์-อำนาจนิยม ระหว่างกรรมการสรรหาที่มาจากผู้มีตำแหน่งในระบบราชการ และภาคเอกชนหรือประชาสังคม ที่เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันตามจารีตของสังคมไทย ผู้สมัครหรือผู้ได้รับการทาบทามจากกรรการสรรหาส่วนใหญ่เป็นอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในระดับจังหวัดนั้นๆ โดยเฉพาะฝ่ายปกครอง นักการศึกษา นักกฎหมายและอดีตนักการเมือง
ผู้สมัครหรือถูกทาบทามที่ไม่รู้จักมักคุ้นกับกรรมการสรรหาเป็นการส่วนตัว หรือสนิทสนมพอที่จะโทร. ฝากฝังตัวเองให้ได้รับการพิจารณา ก็ยากที่จะฝ่าด่านระดับจังหวัดไปให้กรรมการสรรหาในส่วนกลางพิจารณาได้
ผู้เขียนเองในฐานะผู้เคยขับเคลื่อนให้มีกระบวนการเลือกตั้งที่เที่ยงธรรมตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ เคยได้รับการทาบทามและสมัครให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณามาทุกสมัย แต่ไม่เคยผ่านการพิจารณาทั้งในระดับจังหวัดและระดับชาติ
ส่วนคนที่ผ่านการพิจารณาและได้เป็น กกต.ส่วนมากเป็นคนไม่ค่อยมีบทบาท หรือประสบการณ์ในการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการเมือง โดยเฉพาะกระบวนการผลักดันให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ อันที่เป็นที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ๒๕๔๐
มิหนำซ้ำบางคนที่ได้เป็น กกต.ยังเคยเป็นปฏิปักษ์กับการขับเคลื่อนเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้ง
ปรากฏการณ์ไม่มีคนดีพอที่จะเป็น กกต. ๗ คน หรือ ๗ อรหันต์ กกต.ในทัศนะของ สนช.ครั้งนี้ ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า คนไทย ๖๐ กว่าล้านคนจะหาคนดีที่พอยอมรับได้มาทำหน้าที่เป็น กกต.แค่ ๗ คนไม่ได้ คงมิได้หมายความว่า ประเทศนี้ไม่มีคนดี แต่อาจจะเพราะคนดีไม่เข้าสู่ระบบกระบวนการสรรหาให้คณะกรรมการสรรหาและ สนช.พิจารณา
ซึ่งปัญหาอาจจะมาจากหลายเหตุหลายปัจจัย แต่ที่สำคัญน่าจะเป็นเพราะ คนดีไม่ค่อยอยากเข้าสู่กระบวนการสรรหาของสังคมอำนาจนิยม-อุปถัมภ์ คนดีอาจจะเบื่อหน่าย กลัวเปลืองตัว ได้ไม่คุ้มเสียกับงานที่ต้องทุ่มเท เสียสละ เพราะคนดีส่วนใหญ่อาจจะเป็นคน “อยากทำ” มากกว่า “อยากเป็น” สนามการแข่งขันจึงกลายเป็นสนามของคนอยากเป็น มากกว่าคนอยากทำไปโดยปริยาย
คนอยากทำจึงไม่ค่อยได้เป็น ส่วนคนที่ได้เป็นก็ไม่ค่อยจะอยากทำสักเท่าไหร่ สังคมจึงต้องผิดหวังครั้งแล้วครั้งเล่าเช่นนี้.