ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) ออกจดหมายเปิดผนึกถึงประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) ให้เปิดใจยอมรับแนวทางแก้ปัญหาอย่างสันติกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ ป้องกันปัญหาบานปลายไปสู่ความขัดแย้งรุนแรง ด้าน “ประสิทธิ์ชัย” ถาม “ใครกันแน่ที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว”
วันนี้ (22 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) ได้มีจดหมายเปิดผนึกถึงประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) เรื่อง ขอให้เปิดใจยอมรับแนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติ ในกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ โดยมีเนื้อหาระบุว่า
“ตามที่ท่านได้ออกแถลงการณ์ที่แสดงถึงความเคลือบแคลงใจที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มีการทำข้อตกลงกับเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเลกระบี่-เทพา ยุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน ไปเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 ที่หน้าองค์การสหประชาชาตินั้น พวกข้าพเจ้าในฐานะคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ ขอทำความเข้าใจร่วมกันดังนี้ คือ
กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งที่กระบี่ และเทพา คือความขัดแย้งที่ได้เกิดขึ้นจริงต่อประชาชนทั้งสองพื้นที่ ซึ่งมีทั้งฝ่ายสนับสนุน และฝ่ายที่คัดค้านที่ต่างฝ่ายต่างอ้างเหตุผลของตนอย่างแข็งขัน จนแทบจะหาทางออกต่อเรื่องนี้ไม่ได้ และกำลังจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้น
ในกระบวนการจัดทำโครงการที่ผ่านมามีความผิดปกติอยู่จริงทั้ง 2 พื้นที่ อันไม่ได้เป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมาย หรือระเบียบที่บังคับไว้ ซึ่งกรณีของกระบี่นั้น นายกรัฐมนตรี ได้เคยสั่งให้ยกเลิกกระบวนการเดิมที่เคยทำไว้เมื่อปีที่แล้ว เพราะพิสูจน์ได้ว่ามีปัญหาจริง ส่วนกรณีของเทพาก็เป็นที่ประจักษ์ต่อสื่อมวลชน และสังคมแล้วว่าในการรับฟังความคิดเห็นได้มีการให้อามิสสินจ้างในรูปแบบที่ไม่เหมาะสมเพียงเพื่อให้ประชาชนสนับสนุนโครงการเท่านั้น
ข้อเท็จจริงเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานภาคใต้ ยังมีข้อถกเถียงที่ไม่ตรงกัน แม้แต่นักวิชาการด้านพลังงานด้วยกันก็ยังถือฐานข้อมูลคนละชุด จนยังไม่เคยมีการค้นหาข้อเท็จจริงต่อเรื่องนี้อย่างเป็นทางการเพื่อจะไขข้อข้องใจต่อสังคม
เราจึงเห็นว่า การทำข้อตกลง หรือ MOU ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเลกระบี่-เทพา ยุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดในขณะนี้ ซึ่งเห็นได้ถึงความเข้าใจปัญหาของรัฐมนตรีที่กล้าตัดสินใจเช่นนี้
เพราะไม่เช่นนั้นแล้วก็ยากที่จะหาบทสรุปต่อเรื่องนี้ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้มิได้หมายความว่า การตัดสินใจที่จะดำเนินการ หรือไม่ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และเทพาจะสิ้นสุดลงในทันทีที่มีการลงนามในสัญญา แต่ได้สร้างเงื่อนไขเพื่อให้แต่ละฝ่ายถอยคนละก้าวออกมาจากความขัดแย้งเสียก่อน แล้วจึงใช้งานศึกษาที่เป็นวิชาการอันเป็นที่ยอมรับร่วมกัน เพื่อเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจต่อไป
เราจึงเรียกร้องให้ สร.กฟผ. โปรดเข้าใจเจตนาดังกล่าวนี้ด้วย และขอให้เปิดใจให้กว้างในฐานะบุคลากรขององค์กรรัฐวิสาหกิจระดับประเทศ ที่กำลังมีความขัดแย้งกับประชาชนในพื้นที่โครงการอยู่ในขณะนี้ ด้วยการยอมรับแนวทางดังกล่าวเพื่อเปิดทางให้มีการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างสันติต่อไป
ด้าน นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเลกระบี่-เทพา ยุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน ได้สะท้อนถึงกรณีนี้ไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “ถามสหภาพรัฐวิสาหกิจ กฟผ.สั้นๆ ว่า 1.ที่โฆษณาโป้ปดเรื่องถ่านหินสะอาดมาตั้งนานนั้น ทำไมไม่ออกมาโวยวายบ้าง การที่ทำร้ายคนพื้นที่ ละเมิดสิทธิ ทำไมปิดปากเงียบกริบ
2.เรื่อง กฟผ.เอื้อกลุ่มทุนด้วยการตั้งบริษัทลูก ๕ บริษัท คนของ กฟผ.ไปเป็นบอร์ด บริษัทลูก และบริษัทลูก ๒ บริษัทที่ผลิตไฟฟ้าขายให้ กฟผ.นั้นเอกชนถือหุ้นใหญ่ ที่เอื้อประโยชน์ให้เอกชนมานานทำไมไม่พูดถึง พอเขาหยุดถ่านหินก็ยกอ้างเรื่องการเอื้อประโยชน์ให้เอกชน ไม่รู้จักละอายตัวเองบ้างเลย
“ใครกันแน่ที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ละทิ้งผลประโยชน์ของประชาชน พวกคุณไม่มีวันรอดหรอก ตราบเท่าที่ยังเป็นเช่นนี้ ดูตัวอย่างในอเมริกา และสหภาพยุโรปสิว่า การผลิตไฟฟ้าจากฟอสซิลมันหายนะ และล้มละลายอย่างไร พวกคุณกำลังจะพารัฐวิสาหกิจของชาติไปตาย ด้วยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน พ่อค้าถ่านหิน แถลงการณ์ออกมาเยอะๆ นะครับ คนจะได้เห็นนิสัยของพวกคุณ”