xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มหนุนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ยื่นหนังสือค้านมติยุติการก่อสร้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - กลุ่มเครือข่ายคนเทพาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เข้ายื่นหนังสือต่อรองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไม่เห็นด้วยกรณีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงนามในบันทึกข้อตกลงระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเลกระบี่-เทพา ยุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน พร้อมยกระดับการเคลื่อนไหวเช่นเดียวกับกลุ่มที่คัดค้าน

วันนี้ (22 ก.พ.) ที่โรงแรมสยามออเรียลทัล อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กลุ่มเครือข่ายคนเทพาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มเครือข่ายประชาชนชาวเทพา 66 องค์กร ประมาณ 50 คน นำโดย นายหลี สาเมาะ ประธานเครือข่ายคนเทพาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมตัวถือป้ายสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และเข้ายื่นหนังสือแถลงการณ์ผ่าน นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระหว่างเดินทางมาประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นแผนยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้น ผ่านไปยังนายกรัฐมนตรี ในกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงนามในบันทึกข้อตกลงระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเลกระบี่-เทพา ยุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน
 

 
โดยในแถลงการณ์สรุปว่า ทางเครือข่ายคนเทพาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มเครือข่ายประชาชนชาวเทพา 66 องค์กร ไม่เห็นด้วยต่อการลงนามในบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ เพราะเสียงส่วนใหญ่ของคนเทพาเห็นด้วยต่อการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของอำเภอเทพาให้ทัดเทียมกับอำเภออื่นๆ เพราะปัจจุบัน อำเภอเทพา มีรายได้ประชากรต่ำสุดใน จ.สงขลา การพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินอำภอเทพา จึงเป็นความหวังของชาวเทพา ที่สำคัญกลุ่มต่อต้านมีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับประชากรส่วนใหญ่ของอำเภอเทพา

และหลังจากนี้ ทางเครือข่ายคนเทพาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน จะเข้าแจ้งความดำเนินดคีต่อรัฐมนตรีพลังงาน ตามมาตรา 157 ในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นการตกลงที่เกินกว่าอำนาจของรัฐมนตรีพลังงาน จึงไม่มีอานาจของ ครม. และ กฟผ. เป็นนิติบุคคล รัฐมนตรีพลังงาน จึงไม่มีอานาจไปตกลงให้ยุติคดีระหว่าง กฟผ. กับ NGOs 

อีกทั้งจะไม่ยอมรับ และขอคัดค้านข้อตกลงทั้งหมด พร้อมขอเรียกร้องให้ยกเลิกและฉีกข้อตกลงดังกล่าวทิ้งไป เพราะเป็นข้อตกลงที่ขาดความชอบธรรมของฝ่ายสนับสนุนร่วมด้วย รวมทั้งจะไปยื่นต่อศาลปกครอง ให้ออกคาสั่งคุ้มครองชั่วคราว และไต่สวนฉุกเฉิน และตัวแทนชาวเทพา จะเดินทางไปฟังคำตอบที่หน้าทำเนียบรัฐบาล และปักหลักต่อสู้เช่นเดียวกับ NGOs จนกว่ารัฐบาลจะสั่งยกเลิกข้อตกลงดังกล่าว รวมทั้งจะยื่นถวายฎีกาเพื่อขอความเป็นธรรมต่อไป
 






กำลังโหลดความคิดเห็น