xs
xsm
sm
md
lg

ร.ร.แห่งแรก...สร้างธนาคารน้ำใต้ดิน แก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังเเละเเห้งเเล้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สุราษฎร์ธานี- โรงเรียนพุนพินพิทยาคม เดินหน้าน้อมนำศาสตร์พระราชา ธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด มาแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง และแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และยังจัดทำเป็นศูนย์เรียนรู้แห่งแรกของสุราษฎร์ธานี เพื่อให้เยาวชน ประชาชน และนักเรียนมาศึกษาเรียนรู้นำไปแก้ไขปัญหาในพื้นที่
วันนี้ (22 ก.พ.) ที่โรงเรียนพุนพินพิทยาคม อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้มีการสาธิตดำเนินการจัดทำธนาคารน้ำใต้ดินให้แก่คณะครูจากโรงเรียนต่างๆในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ถึงผลการระบายน้ำ จำนวน 5,000 ลิตร ลงสู่ใต้ผิวดินภายใน 1 ชั่วโมง สร้างความตื่นตาตื่นใจแก่ผู้ร่วมสังเกตการณ์

นายถาวร แสงเพชร ผู้อำนวยการโรงเรียนพุนพิน กล่าวว่า พื้นที่ในโรงเรียนบริเวณนี้เป็นที่ราบลุ่ม และเป็นที่รับน้ำจากด้านบน ทุกครั้งที่มีฝนตกจะมีปริมาณน้ำจำนวนมากท่วมขัง และเป็นเวลานานกว่า 1 สัปดาห์จึงจะแห้งขอด เมื่อน้อมนำศาสตร์พระราชาด้านพัฒนาแหล่งน้ำ หรือธนาคารน้ำใต้ดินมาใช้ ที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมทรัพยากรน้ำ และนายภิญญา ช่วยปลอด ผู้ทรงคุณวุฒิได้มาแนะนำให้ความรู้แก่คณะคณะครู และนักเรียน จึงให้เด็กนักเรียนได้ทดลองทำจนได้รับผลเป็นที่พอใจ โรงเรียนจึงได้ดำเนินการเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปได้มาศึกษานำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ที่น้ำท่วมขังซ้ำซาก และแก้ไขปัญหาภัยแล้ง

ด้าน นายภิญญา ช่วยปลอด กล่าวว่า การจัดทำธนาคารน้ำใต้ดินเพื่อเป็นการแก้ปัญหาน้ำท่วม เพื่อเพิ่มระดับน้ำใต้ดิน เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวดิน และแก้ไขปัญหาน้ำเสีย โดยขั้นตอนที่ 1 กำหนดจุดรวมน้ำของหมู่บ้าน/ชุมชน หรือพื้นที่เหมาะสมต่อการบริหารจัดการน้ำในครัวเรือน แล้วขุดบ่อขนาดกว้าง 1.50 เมตร ยาว 1.50 เมตร ลึก 1.50 เมตร ขั้นตอนที่ 2 นำวัสดุหยาบ เช่น เศษอิฐ หิน หรือเศษวัสดุที่ไม่ย่อยสลาย เช่น ยางรถยนต์ ขวด พลาสติก ขนาดตามความเหมาะสมใส่ลงในบ่อ แต่ต้องไม่ปนเปื้อนสารเคมี สูงประมาณ 1.20 เมตร

และมีท่อระบายอากาศขนาดตามความเหมาะสม พร้อมทั้งเจาะรูเพื่อช่วยระบายอากาศในบ่อ และช่วยให้มีที่ไหลลงบ่อกระจายตัวได้รวดเร็วยิ่งขึ้น (ตามหลักวิทยาศาสตร์ แรงเหวี่ยงและคลื่นสนามแม่เหล็ก) ขั้นตอนที่ 3 ขอบบ่อที่เหลือนำผ้าตาข่าย มุ้งเขียว หรือผ้าสแลนปูทับบน ขั้นตอนที่ 4 นำหินขนาด 3/5 หรือ 3/8 หรือทรายหยาบมาใส่ให้เสมอปากบ่อ เพื่อป้องกันมิให้สิ่งปนเปื้อนที่มากับน้ำ เช่น ขยะไขมัน หรือสิ่งปฏิกูลที่มากับน้ำลงไปในบ่อ และยังง่ายต่อการดูแลรักษา และขั้นตอนที่ 5 ทดสอบระบบบ่อธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด ขนาดกว้าง 1.50 เมตรยาว 1.50 เมตร ลึก 1.50 เมตร สามารถเติมน้ำลงชั้นใต้ดินได้ไม่น้อยกว่า 6 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง หรือประมาณ 5,000 ลิตรต่อชั่วโมง

การเดินทางของน้ำใต้ดินมีลักษณะการกระจายออกเป็นรัศมีวงกลมตามแรงเหวี่ยงของโลก หรือตามทางเดินใต้ดิน หรือเดินตามร่องระบายอากาศของรากไม้ โดยเฉพาะหญ้าแฝก จะสามารถสร้างทางน้ำใต้ดินได้เป็นอย่างดี น้ำใต้ดินเดินทางด้วยอากาศเป็นตัวนำพา ดังนั้น น้ำที่ท่วมขังอยู่เหนือผิวดินจะระบายลงสู่ใต้ดินได้รวดเร็วกว่าปกติทั่วไป นอกจากนั้น ในฤดูแล้งการเติมน้ำลงไปในบ่อธนาคารน้ำใต้ดิน จะเพิ่มความชุ่มชื่นแก่ผิวดินเป็นบริเวณกว้าง เหมาะสำหรับภาคการเกษตรเพื่อแก้ปัญหาภัยแลงอย่างถาวร


กำลังโหลดความคิดเห็น